ผลกระทบ จากสิ่งแวดล้อม

ความหมายของระบบเฝ้าระวัง

ระบบเฝ้าระวังสุขภาพ หมายถึง การเฝ้าคุมเหตุการณ์ด้านสุขภาพในประชากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อผลในการป้องกันและควบคุมภาวะสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับโรค

ระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม คือ ระบบที่มีการรวบรวม จัดหมวดหมู่ และวิเคราะห์ข้อมูลโรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สิ่งคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม และการสัมผัสด้านสิ่งแวดล้อม และกระจายข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการอย่างทันท่วงที

วัตถุประสงค์ของระบบเฝ้าระวัง

  1. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริบทที่จะเฝ้าระวัง
  2. พัฒนาเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้สามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงตามบุคคล ตามเวลาและสถานที่ได้
  3. ป้องกันโรคหรือปัญหาก่อนที่โรคหรือปัญหานั้นจะเกิด
  4. ช่วยในการวางแผนด้านบริการและจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
  5. สามารถตรวจจับอาการหรือโรคในระยะเริ่มต้น และจำนวนผู้ที่เป็นโรคได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  6. ทำนายภาระของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
  7. เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ
  8. กำกับและประเมินผลโครงการที่ดำเนินการแก้ปัญหา
  9. ช่วยในการพัฒนาระบบเตือนภัย

ลักษณะอันพึงประสงค์ของการเฝ้าระวัง

  1. สามารถค้นหาโรคหรือการบาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที
  2. ทำให้ทราบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข
  3. สามารถบอกความเสี่ยงตามกลุ่มประชากรเวลาที่เกิดและสถานที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการหามาตรการป้องกัน
  4. ทำให้ทราบข้อมูลหรือวิวัฒนาการของโรครวมทั้งความรู้ใหม่ ๆ ในการควบคุมและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้

ขั้นตอนการเฝ้าระวัง

  1. การรวบรวมข้อมูล มีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วยหรืออาการที่เกี่ยวข้อง ตัวแปรด้านปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งการเก็บข้อมูลสิ่งคุกคามและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
  2. การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติที่อย่างน้อยควรบอกความชุกหรืออุบัติการณ์ของโรค แนวโน้มของโรค กลุ่มเสี่ยง และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงกับการเกิดโรคได้ รวมทั้งบอกความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมกับปัญหาสุขภาพได้
  3. การรายงานข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องรายงานข้อมูลให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและผู้ก่อมลพิษ
  4. การดำเนินการแก้ไขหรือป้องกันปัญหา เป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แก้ไขหรือป้องกันปัญหาเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีต่อประชาชน

หลักเกณฑ์การระบุประเด็นปัญหาที่สำคัญที่จะนำมาเฝ้าระวัง

  1. เป็นปัญหาที่มีขอบเขตในเชิงพื้นที่เป็นวงกว้าง
  2. เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในประชากรจำนวนมาก
  3. ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ร้ายแรง
    1. ยากต่อการรักษาหรือไม่สามารถกลับคืนได้
    1. ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงถึงชีวิต
    1. สามารถส่งผลไปถึงคนรุ่นต่อไปได้
  4. เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างรุนแรง
  5. เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญของระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม

  1. โรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมมักเป็นโรคเรื้อรังใช้เวลานานในการเกิดโรค
  2. โรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากเหตุปัจจัยหลายชนิดร่วมกัน
  3. การวินิจฉัยปัญหาสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคล มักทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย แต่สามารถวินิจฉัยในระดับกลุ่มคนได้
  4. การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จำเป็นจะต้องมีข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
  5. เป้าประสงค์ของระบบเฝ้าระวังเพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขให้เร็วที่สุดก่อนที่โรคจะลุกลาม
  6. หลักการในการป้องกัน คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงและป้องกันหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงนั้น

ทั้งนี้ การจะทราบว่า การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาจะได้ผลหรือไม่ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนแรกของการเฝ้าระวังไปตามลำดับ เพื่อควบคุมกำกับและประเมินผลว่า มาตรการควบคุมหรือป้องกันปัญหาได้ผลดีเพียงใด ดังนั้น การเฝ้าระวังจึงเป็นระบบที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะหมดปัญหา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *