วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับเพศชายและเพศหญิง

การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิของชายและไข่ของหญิง

วิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี 2 แบบ คือ

  1. วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ได้แก่
    1. ยาเม็ดคุมกำเนิด
    2. ยาฉีดคุมกำเนิด
    3. ยาฝังคุมกำเนิด
    4. ห่วงอนามัย
    5. ถุงยางอนามัย
    6. นับวันปลอดภัย
  2. วิธีคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่
    1. ทำหมันหญิง
    2. ทำหมันชาย

วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับเพศชาย

ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ใช้ได้ง่ายสะดวกและปลอดภัย ถุงยางอนามัยนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้อย่างดีอีกด้วย

วิธีใส่ถุงยางอนามัย

ให้ใส่ถุงยางอนามัยเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ ดึงถุงยางออกจากซอง ใช้มือบีบปลายถุงยางแล้วครอบไปบนอวัยวะเพศชาย ให้ขอบที่ม้วนอยู่ด้านนอก ถ้าถุงยางชนิดปลายมนต้องเหลือที่ตรงปลายไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อรับน้ำอสุจิและกันไม่ให้ถุงยางแตก รูดเข้าหาตัวจนสุดแล้วจึงสอดอวัยวะเพศเข้าไปในช่องคลอด เมื่อหลั่งน้ำอสุจิแล้ว ให้ถอนอวัยวะเพศออกทันทีก่อนที่จะอ่อนตัวโดยใช้มือจับที่ขอบถุงยางเพื่อกันหลุด แล้วจึงรูดถุงยางออก ระวังอย่าให้น้ำอสุจิไหลออกมาเปรอะเปื้อนที่ช่องคลอด

**เมื่อใช้แล้วควรห่อให้เรียบร้อยก่อนทิ้งลงถังขยะ**

หมันชาย

วิธีทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรจึงเหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้ว การทำหมันชาย เป็นการทำให้ท่อน้ำอสุจิมีผลให้ตัวอสุจิไม่สามารถไปผสมกับไข่ในเพศหญิงได้ การตั้งครรภ์จึงไม่เกิดขึ้นหมันชายทำแล้วไม่ได้เป็นหมันทันที ต้องรอเวลาอีกประมาณ 3 เดือนหรือหลังจากมีการหลั่งน้ำเชื้อไปแล้ว 12 ครั้ง ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์หลังทำหมันชายให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย จึงจะป้องกันการตั้งครรภ์อย่างได้ผล หรือจะให้แน่ใจยิ่งขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อทำการกรวดน้ำเชื้อว่า “ไม่มีตัวอสุจิ” แล้ว

วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับเพศหญิง

1.ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง ที่เหมาะกับผู้หญิงทั้งที่มีลูกแล้วและยังไม่มีลูก แต่มีข้อห้ามสำหรับบางคนที่มีโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะมาก อ้วนมาก โรคตับ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทานยาแผงแรกควรพบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายว่าเหมาะสมจะรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด แผงแรกให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 5 ของรอบเดือนในเดือนนั้น และวันต่อมาให้รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรวันละ 1 เม็ดจนหมดแผง เมื่อหมดแผงแรกให้หยุด 7 วัน แล้วจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ ไม่ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่มาก็ตาม
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด แผงแรก ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 5 ของรอบเดือนในเดือนนั้น และวันต่อมาให้รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรวันละ 1 เม็ดจนหมดแผง แล้วเริ่มแผลงต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องหยุดยา หรือคำนึงถึงประจำเดือน

ผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมาปกติทุกเดือน จำนวนไม่มากนักและมาอย่างสม่ำเสมอ ยาเม็ดคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ เพราะมีส่วนช่วยยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น จนตัวอสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ยากและทำให้เบื่อบุมดลูกไม่เจริญเต็มที่

2.ยาฉีดคุมกำเนิด

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีลูกแล้วหรืออยู่ในระยะหลังคลอดและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดได้ ยาฉีดคุมกำเนิดแต่ละเข็มจะมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 เดือน ผลข้างเคียงที่พบ คือ บางคนอาจจะมีประจำเดือนน้อยลงหรือออกกะปริบกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือนมาเลย

3.ยาฝังคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีลูกแล้ว สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 5 ปี (ชนิด 6 หลอด) 3 ปี (ชนิด 1 หลอด) ควรรับการฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน หรือภายหลังแท้งไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ หลังการฝังยาแล้ว จะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น คือ มีเลือกออกกะปริบกะปรอยหรือไม่มีประจำเดือนมาเลย

วิธีฝังยา

ก่อนการฝังยา แพทย์หรือพยาบาลที่ผ่านการอบรมจะทำการตรวจร่างกาย ถ้าไม่มีข้อห้ามใด ๆ จะฝังหลอดยาขนาดเล็กบริเวณต้นแขนด้านใน เหนือข้อศอกโดยจะฉีดยาชาก่อนฝังยา หลังจากการฝังยาสามารถทำงานได้ตามปกติ

4.ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เหมาะสำหรับผู้หญิงที่เคยมีลูกมาแล้ว สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 – 8 ปี ห่วงอนามัยในปัจจุบันนิยมใช้อยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดรูปร่างคล้ายตัว T (คุมกำเนิดได้นาน 8 ปี) และคล้ายสมอเรือ (คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี) ทั้ง 2 ชนิดมีลวดทองแดง พันที่แกนและแขนทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ตอนปลายของห่วงมีสายไนล่อนสำหรับให้ผู้ที่ใส่ห่วงสามารถตรวจห่วงด้วยตนเองทุกเดือนหลังหมดประจำเดือน เพื่อดูว่า ห่วงยังอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใส่ห่วงอนามัย

  • ขณะมีประจำเดือน หรือหลังประจำเดือนหมดใหม่ ๆ แต่ต้องเป็นช่วงเวลาภายใน 10 วันแรกของรอบเดือน
  • 6 – 8 สัปดาห์หลังคลอด
  • หลังแท้ง 4 สัปดาห์

อาการข้างเคียงภายหลังใส่ห่วงที่พบบ่อย คือ เลือดออกผิดปกติ หมายถึง ปริมาณประจำเดือนหรือระดูที่ออกในแต่ละเดือนมากขึ้น จำนวนวันของการมีระดูจะนานขึ้น มีเลือกออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบระดู นอกจากนี้ อาจจะพบอาการปวดท้องน้อย ตกขาวได้

หมันหญิง

การทำหมันหญิง เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวร เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีลูกเพียงพอแล้ว เป็นการทำให้ท่อนำไข่ตัน เพื่อไม่ให้ไข่พบกับตัวอสุจิของเพศชาย ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับทำหมันหญิงมี 2 ระยะ คือ

ระยะหลังคลอดใหม่ ๆ เรียกว่า “หมันเปียก” เป็นระยะเหมาะที่สุด โดยทั่วไปนิยมทำประมาณภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด

ระยะปกติ เรียกว่า “หมันแห้ง” ทำระยะไหนก็ได้ และไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล หลังจากทำหมันแล้วจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันทีและประจำเดือนจะมาตามปกติมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม

การนับระยะปลอดภัย

การนับช่วงเวลาปลอดภัย ในการมีเพศสัมพันธ์ คือ ช่วง 7 วันก่อน และ 7 วันหลัง มีประจำเดือน ผู้หญิงที่จะใช้วิธีนี้ได้จะต้องมีประจำเดือนสม่ำเสมอ วิธีนี้ได้ผลไม่แน่นอนนัก เพราะหากมีการเจ็บป่วย หรือมีความเครียดทางอารมณ์จะทำให้รอบเดือนคลาดเคลื่อนได้ ทั้งผลในการคุมกำเนิดยังไม่ค่อยแน่นอน จึงไม่เหมาะสำหรับหญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *