30 ปีการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติหญิงไทยค้าบริการทางเพศมีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลง

การย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทยเกิดขึ้นมากกว่า 3 ทศวรรษแล้ว ข้อมูลจากการศึกษาชี้ให้เห็นพัฒนาการในเรื่องนี้ ซึ่งพอสรุปได้ว่า จำนวนหญิงไทยที่เดินทางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มมากขึ้นกว่าการเดินทางของผู้ชาย โดยเฉพาะที่เดินทางไปประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในยุโรปหลายประเทศอันอาจกล่าวได้ว่า การย้ายถิ่นแรงงานของไทยไปยังประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว กลายเป็น “การย้ายถิ่นแรงงานหญิง” (feminization of labour migration)

ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของหญิงไทยผู้ย้ายถิ่น

  1. ภูมิลำเนา ส่วนใหญ่ยังเป็นภาคเหนือ และอีสาน ในช่วงหลัง ๆ จะมีภาคกลาง และภาคใต้บ้าง โดยเฉพาะพื้นที่การท่องเที่ยว
  2. การศึกษา หญิงที่ย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ยังจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ประถมศึกษา ช่วงหลัง ๆ จะมีระดับมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. หรือแม้นแต่ปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้น
  3. ด้านอาชีพ หญิงที่ย้ายถิ่นแรงงาน เป็นหญิงที่ประกอบวิชาชีพมากขึ้น เช่น พนักงานบริษัท ครู เป็นต้น มิใช่หญิงที่มีอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับระดับการศึกษา
  4. จากประวัติชีวิต ก็ยังคงเป็นหญิง 3 กลุ่ม คือ แม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง หญิงบริการทางเพศกับชายต่างชาติ และหญิงสาวโสดที่ต้องการยกฐานะทางเศรษฐกิจ และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ แม่ที่เลี้ยงลูกเพียงลำพัง
  5. และที่สำคัญ คือ หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือ หญิงที่เคยย้ายถิ่นแรงงานภายในประเทศมาก่อน

สาเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้หญิงตัดสินใจ ก็คือ ความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ ผลพวงของการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติที่ล้มเหลว ตั้งแต่แผน 1 จนถึงแผน 9 และสิ่งที่สนับสนุน และมีส่วนช่วยทำให้การย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ดำรงอยู่ และดำเนินไป ก็คือ การเกิด “วัฒนธรรมการย้ายถิ่น” ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งเกิดจาการสะสมประสบการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกิดขึ้นนับสิบ ๆ ปี

กระบวนการย้ายถิ่น ยังคงเป็นโดยผ่านระบบนายหน้า แม่แทร็คสำนักงานจัดหาคู่ ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการจัดหาจัดพา โดย ญาติ เพื่อน พี่น้อง ที่มีประสบการณ์การย้ายถิ่น หรือที่ยังเนแรงงานย้ายถิ่นอยู่ ทั้งนี้เพราะการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ มีลักษณะเป็นการย้ายถิ่นแบบลูกโซ่ เมื่อมีการย้ายถิ่นเกิดขึ้นในชุมชน ก็จะเป็นที่คาดเดาได้ว่า จะมีการย้ายถิ่นต่อเนื่องไปยังปลายทางเดียวกันอีก

ปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงประสบในต่างประเทศ อันได้แก่ ปัญหาภาษาการถูกเอาเปรียบ การเข้าไม่ถึงระบบบริการต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แสดงให้เห็นถึงการขาดข้อมูล การขาดการเตรียมตัวในการเดินทาง

ซึ่งทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ในระดับบุคคล คือ ตัวหญิงไทยที่เดินทางไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากนัก หากจะมีก็เป็นส่วนในรายละเอียด เช่น ระดับการศึกษาที่ยังคงเป็นภาคบังคับ แต่ก็มีระดับสูงขึ้นเพิ่มมาด้วย เป็นต้น สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คือ ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นตัวจักรสำคัญ ซึ่งผลักดันให้ผู้หญิงเดินทาง นั่นคือ ผลพวงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เคยก่อให้เกิดช่องว่าง และความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ในแผนที่ 1 – 5 และจนถึงแผนที่ 9 ก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ และจากข้อเท็จจริงที่ว่า หญิงที่ย้ายถิ่นเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง รัฐก็ยังไม่มีมาตรการที่จะเกื้อกูล คนที่ด้อยโอกาสกลุ่มนี้ รวมทั้งสังคมก็ยังคาดหวังให้เธอต้องรับผิดชอบต่อลูกและครอบครัวต่อไป

ณ จุดนี้อาจจะพิจารณาได้ว่า เมื่อปัจจัยในระดับโครงสร้างยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สร้างโอกาสแก่ผู้หญิงมากขึ้น ทางเลือกในการที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือยกฐานะทางสังคมของผู้หญิงก็ยังเหมือนเดิม ผู้หญิงทั้งที่มีการศึกษาค่อนข้างดี และการศึกษาน้อย จึงมองไม่เห็นโอกาสที่ดีขึ้น และยังคงพิจารณาว่า การย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ยังคงเป็นทางเลือกที่อาจจะให้ผลที่ดีกว่า การอยู่ทำมาหากินในประเทศไทย

ในทำนองเดียวกัน ปัจจัยระดับโครงสร้างในประเทศปลายทางเอง ก็ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนรวม แม้นอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เช่น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะไม่ดีเท่าเมื่อสิบปีก่อน แต่อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว เป็นต้น และที่สำคัญที่เป็นตัวจักรใหญ่ที่กำหนดช่องทางในการเดินทางเข้าประเทศที่ก่อปัญหาแก่หญิงไทย ก็คือ นโยบายการไม่รับเข้าแรงงานหญิงไร้ฝีมือ อันทำให้หญิงไทยต้องใช้ช่องทางที่บ่อยครั้ง ก็ผิดกฎหมาย หรือการเดินทางเข้าไปในลักษณะอื่น เช่น การแต่งงาน หรือเป็นนักศึกษาเรียนภาษา เป็นต้น

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่มีไม่มากนักแล้ว ในช่วง 30 ปีของปรากฏการณ์นี้ ยังก่อให้เกิดผลพวงจากการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาสถานะจากการเป็นภรรยาชาวต่างชาติมาเป็นแรงงานต่างชาติ
  • การย้ายถิ่นข้ามชาติของเยาวชนไทยประเด็นที่ควรคิดเกี่ยวกับการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์
  • เด็กไทยไร้สัญชาติในประเทศปลายทางโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ประเด็นที่อาจกลายเป็นปัญหาสังคมในประเทศปลายทาง
  • การเดินทางย้ายถิ่นกลับประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติในวัยเกษียณมาตรการรองรับมีหรือไม่[1]

[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *