แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี – ผีน้อย (เกาหลีใต้)

ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ แรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในเกาหลีใต้มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากในประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแล้ว คนไทยมีสัดส่วนคนผิดกฎหมายเมื่อเทียบกับคนไทยทั้งหมดในเกาหลีใต้สูงที่สุด โดยแรงงานไทยผิดกฎหมายส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ในลักษณะนักท่องเที่ยวที่ยกเว้นวีซ่า 90 วัน ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558

แม้จะสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และประเทศได้จำนวนมาก แต่การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ส่งผลเสียต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่ตัวแรงงานเอง แต่ยังส่งผลต่อประเทศชาติอีกด้วย กล่าวคือ แรงงานผิดกฎหมายมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และมีค่าใช้จ่ายสูงที่จะต้องจ่ายให้กับนายหน้า

โดย Samarn Laodamrongchai (2015)[1] ระบุว่า แรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงาน ซึ่งส่วนมากเป็นงานนวดสปา เกษตรกรรม และกรรมกรในโรงงานขนาดย่อม ส่วนใหญ่จะถูกนายจ้างยึดเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือเดินทาง และมีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจทำงานเลยกำหนดเวลาปกติ แต่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลา หรือถูกบังคับให้ค้าประเวณี จากข้อมูลการร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ พบว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2560 มีผู้ร้องทุกข์ทั้งสิ้น 2,901 คน โดยกรณีเรื่องร้องทุกข์ ได้แก่ ค้าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทดแทนในกรณีบาดเจ็บ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย กล่าวคือ แรงงานผิดกฎหมายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สำนักตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจคัดกรองเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานไทยนิยมลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคเกษตร ซึ่งส่วนนี้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะผู้หญิงไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางผ่านเข้าประเทศ และคนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศมีจำนวนมากขึ้น โดยมีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไม่พอใจและแสดงออกเชิงลบในโซเชียลมีเดีย ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้มีภาระค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมาย โดยปี พ.ศ. 2560 ให้เงินกู้ยืมเพื่อช่วยเหลือกว่า 100 ล้านวอน (ประมาณ 3 ล้านบาท) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เนื่องจาก แรงงานผิดกฎหมายไม่มีประกันสุขภาพและส่วนใหญ่มีฐานะยากจน การลดค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในเกาหลีใต้ให้กับแรงงานไทยผิดกฎหมายก็อยู่ในภาวะจำยอมของเกาหลีใต้ ในกรณีแรงงานเสียชีวิต สถานเอกอัครราชทูตฯ จะทดรองค่าฌาปนกิจศพ ค่าจัดส่งอัฐิกลับประเทศไทย และในกรณีส่งกลับแรงงานไทยผิดกฎหมายก็เช่นเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องทดรองจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน โดยการทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้นั้น ผู้ตกทุกข์จะเซ็นสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาว่า จะคืนเงินให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งโดยปกติการเรียกเก็บเงินคืนเป็นไปได้ยาก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จึงตกเป็นภาระทางการคลังของประเทศไทย

สถานการณ์แรงงานต่างชาติและแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึง 1990 เกาหลีใต้เป็นประเทศส่งออกแรงงานไปทำงานในอาชีพและประเทศต่าง ๆ เช่น พยาบาล และเหมืองแร่ในเยอรมันตะวันตก ก่อสร้างในประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อลดปัญหาการว่างงานและเพิ่มรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศ ต่อมาเมื่อภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจากนโยบายการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้มีความต้องการแรงงานภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แรงงานหนุ่มสาวส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง บริการ และอุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอุปทานแรงงาน อันได้แก่ วัฒนธรรมของชาวเกาหลีใต้ที่ยึดถือสถานะทางสังคมเป็นอย่างมาก จึงนิยมทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง และให้เงินเดือนสูง แต่หากไม่ได้ทำงานในบริษัทเหล่านั้น ชาวเกาหลีใต้รุ่นหนุ่มสาวจะเลือกไม่ทำงาน และกลับไปอยู่อาศัยกับพ่อแม่ของตนเอง หรืออาจเปิดธุรกิจส่วนตัว เพราะไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร อีกทั้งคนรุ่นใหม่มีการศึกษาสูงขึ้น จึงไม่อยากทำงานประเภท 3 ส อีกต่อไป อัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 23 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี พ.ศ. 2523 เป็น 8.3 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในปี พ.ศ. 2560 อัตราการเติบโตของประชากรอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.09 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน เพียง 1.27 คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2573 , 2583 และ 2593 เกาหลีใต้จะมีประชากรลดลงเหลือ 48.6 , 46.3 และ 42.3 ล้านคน ตามลำดับ จาก 49.3 ล้านคน ในปัจจุบัน อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80.66 ปี หากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน และญี่ปุ่น จะพบว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของสาธารณรัฐเกาหลีได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่ในอัตราที่สูงที่สุด

แรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้

ปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานแรงงานดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกาหลีใต้นำเข้าแรงงานต่างชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา โดยจำนวนคนต่างชาติในเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จวบจนปัจจุบัน ตัวเลขคาดการณ์จำนวนแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายอยู่ในช่วง 1.2 – 2 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างก้าวกระโดดจาก 220,000 คน ในปี พ.ศ. 2543 หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 – 10 เท่าในระยะเวลาเพียง 17 ปี อย่างไรก็ดี ถือว่า ยังมีสัดส่วนต่ำเพียงร้อยละ 4 ของจำนวนประชากรเท่านั้น สาธารณรัฐเกาหลีจึงได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีเลือดเดียว เพราะมีความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติแบบไม่ผสมกลมกลืนกับเชื้อชาติอื่นสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยคนต่างชาติในเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

  1. แรงงานไร้ฝีมือภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างงาน (Employment Permit System: EPS) ซึ่งเป็นระบบนำเข้าแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือแบบ G-to-G ของเกาหลีใต้จากประเทศต่าง ๆ รวม 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อุซเบกิสถาน ปากีสถาน กัมพูชา จีน เมียนมาร์ บังกลาเทศ เนปาล คาซัคสถาน ติมอร์ตะวันออก และสปป.ลาว ถือวีซ่า E-9 ในปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้กำหนดโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติภายใต้ระบบ EPS ไว้จำนวน 56,000 คน เท่ากับปี พ.ศ. 2560 โดยพิจารณาจากจำนวนแรงงานต่างชาติที่สัญญาจ้างหมดอายุจำนวน 41,000 คน แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจำนวน 10,000 คน และขาดแคลนแรงงานภายในประเทศจำนวน 5,000 คน โดยในจำนวน 56,000 คนนี้จะเป็นแรงงานกลุ่มกลับเข้าไปใหม่ (Re-entry) 11,000 คน และแรงงานกลุ่มใหม่อีกจำนวน 45,000 คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 42,300 คน เกษตรกรรม 6,600 คน ประมง 2,600 คน ก่อสร้าง 2,400 คน และบริการอีก 100 คน โดยจะแบ่งการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้เป็นช่วง ๆ ตามไตรมาส โดยจะนำเข้าในไตรมาสที่ 1 และ 2 ร้อยละ 75 ของแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะกำหนดเพดานจำนวนแรงงานของแต่ละประเทศไว้ โดยที่ยอดรวมเพดานของทุกประเทศจะต้องไม่เกิน 2 – 3 เท่าของโควตาประจำปี
  2. แรงงานประมง มีจำนวนประมาณ 15,312 คน ถือวีซ่า E-10
  3. แรงงานมีฝีมือ ส่วนใหญ่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และแรงงานในภาคหัตถอุตสาหกรรม มีจำนวนประมาณ 20,880 – 48,000 คน ถือวีซ่า E-7 ในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกวีซ่าประเภทใหม่ คือ E7-4 สำหรับแรงงานต่างชาติที่ถือวีซ่า E-9 มาอย่างน้อย 4 ปี และเป็นแรงงานมีทักษะ เพื่อผ่อนคลายปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่แรงงานท้องถิ่นไม่ประสงค์จะทำ
  4. ผู้หญิงต่างชาติที่เข้ามาแต่งงานกับผู้ชายเกาหลีใต้ สืบเนื่องมาจากเกาหลีใต้ประสบปัญหาผู้หญิงไม่ยินดีแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมอาศัยอยู่ในชนบท ทำให้เกิดบริษัทนายหน้าจัดหาคู่ และผู้หญิงชาวต่างชาติได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาหลีใต้ด้วยวิธีการแต่งงานจำนวนมาก
  5. คนจีนเชื้อสายเกาหลีใต้ ถือวีซ่า H-2 ซึ่งโดยปกติผู้ชายจะทำงานในภาคก่อสร้าง และผู้หญิงจะทำงานในภาคบริการเพราะสามารถพูดภาษาเกาหลีได้อย่างคล่องแคล่ว
  6. แรงงานผิดกฎหมาย คาดว่า มีจำนวนประมาณ 251,000 คน

แรงงานไทยในเกาหลีใต้

แรงงานไทยเริ่มเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงการถอนทหารอเมริกันออกจากประเทศไทย ทำให้มีคนงานไทยที่เคยทำงานในฐานทัพอเมริกา และกิจการที่เกี่ยวข้องก็ต้องว่างงานลงมาก ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน และมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ และการไปทำงานในตะวันออก ทำให้แรงงานไทยมีรายได้ และสามารถส่งเงินกลับประเทศจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงส่งเสริม และให้ความสนับสนุนในด้านต่าง ๆ แก่แรงงานไทยที่จะได้ทำงานต่างประเทศอย่างชัดเจนเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) เป็นต้นมา

ต่อมา ตลาดแรงงานไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ซบเซาลงในปี พ.ศ. 2534 เนื่องจาก วิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย และเกิดโจรกรรมเครื่องเพชรในซาอุดิอาระเบีย แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการแรงงานภูมิภาคเอเชียเข้ามาแทน เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บูรไน ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงสาธารณรัฐเกาหลี โดยจำนวนแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้น จึงมีแนวโน้มลดลงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ มีความต้องการใช้แรงงานในประเทศสูงขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จนตลาดแรงงานไทยอยู่ในภาวะตึงตัว ในปี 2560 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยสาธารณรัฐเกาหลีถือเป็นประเทศปลายทางที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของแรงงานไทยในปัจจุบัน

ข้อมูลจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ในปี พ.ศ. 2560 มีแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลี แบ่งเป็นถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย แรงงานไทยในต่างประเทศทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายทำงานในเกาหลีใต้ โดยมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย และหากพิจารณาเฉพาะที่ถูกกฎหมาย พบว่า แรงงานไทยในต่างประเทศทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีจำนวนมากเป็นอันดับ 4 รองจากไต้หวัน มาเลเซีย และอิสราเอล ตามลำดับ ในขณะที่แรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในเกาหลีใต้ มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย

หากพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง จะพบว่า สัดส่วนแรงงานไทยคงเหลือในเกาหลีใต้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่แรงงานไทยไปทำงานก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีหลังจากที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2014 จึงเป็นโอกาสให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้จำนวนมาก นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเมื่อพิจารณาเทียบสัดส่วนแล้ว พบว่า คนไทยมีสัดส่วนคนผิดกฎหมายสูงที่สุด เมื่อเทียบกับจำนวนคนไทยทั้งหมดในเกาหลีใต้

การเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ เดินทางด้วยตัวเอง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจัดส่ง นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน ทั้งนี้ การเดินทางไปเกาหลีใต้นั้นไม่สามารถเดินทางผ่านบริษัทนายหน้าจัดส่งเหมือนกรณีไต้หวัน และการเดินทางผ่านช่องทางกรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงานภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างงาน (EPS) มีจำนวนมากที่สุด

สำหรับการเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย Samarn Laodamrongchai (2015)[2] มีระบุว่า มี 5 ช่องทางได้แก่ ไปกับบริษัทท่องเที่ยว บริษัทจัดหาคู่ โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนฝึกอาชีพ และผ่านสื่อออนไลน์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนทำธุรกิจอื่นบังหน้าการจัดหางานโดยผิดกฎหมาย โดยวิธีผ่านสื่อออนไลน์ และอินเทอร์เน็ตกำลังแพร่หลายมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ แรงงานไทยผิดกฎหมายส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ในลักษณะนักท่องเที่ยวยกเว้นวีซ่า 90 วัน

จำนวนแรงงานที่เดินทางไปเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลงจากระดับ 15,000คนต่อปี โดยการที่จำนวนแรงงานไทยได้รับอนุญาตไปทำงานที่เกาหลีใต้มีแนวโน้มลดลงเป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย เช่น สภาพเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จำนวนแรงงานไทยผิดกฎหมาย ความต้องการแรงงานไทยของนายจ้างเกาหลีใต้ (ซึ่งระยะหลังแรงงานเวียดนามได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น) อัตราการขอย้ายงาน และประสิทธิภาพของระบบ หรือความรวดเร็วในการจัดส่งคนงานของประเทศไทย ซึ่งเกาหลีใต้จะทำการประเมินทุก ๆ ครึ่งปี[3]


[1] Samarn Laodamrongchai. (2015) Administrative of Thai migrant workers go to work aboard in 21st century. Bangkok : The Thailand Research Fund (TRF).

[2] Samarn Laodamrongchai. (2015) Administrative of Thai migrant workers go to work aboard in 21st century. Bangkok : The Thailand Research Fund (TRF).

[3] ขอขอบคุณที่มาบทความ แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี :  สาเหตุและแนวทาวแก้ไข. โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *