สภาพปัญหาของประเทศปลายที่หญิงไทยค้าบริการทางเพศส่วนใหญ่เดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติ

หญิงไทยส่วนใหญ่เดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติ ด้วยความมุ่งหวังที่จะไปทำงานระยะหนึ่งแล้ว จะกลับเมื่อได้รายได้มากพอก็จะเดินทางกลับบ้านไม่ได้หวังจะตั้งรกราก จึงไม่ขวนขวายที่จะหาความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีพ แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงไม่ได้กลับมาในระยะเวลาสั้น หากพำนักอยู่ในประเทศนั้น ๆ เป็นเวลานาน จึงทำให้ประสบปัญหา ดังต่อไปนี้

  1. ปัญหาด้านภาษา หญิงไทยส่วนใหญ่มักไม่ยอมเรียนภาษา หรือไม่มีโอกาสเรียน ทำให้ไม่มีความรู้ อ่าน เขียนไม่ได้ และไม่เข้าใจภาษา ทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับสังคมรอบข้าง และยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
  2. ปัญหาการขาดความรู้ในด้านต่าง ๆ อันได้แก่
    1. ด้านกฎหมาย ไม่มีความรู้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่าอย่างไร และจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
    2. ความรู้เกี่ยวกับระบบราชการ ระบบสวัสดิการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในประเทศปลายทาง อันได้แก่ ระบบการศึกษา การทำงาน การประกันสังคม การติดต่อราชการไม่รู้ว่า ในเรื่องใดต้องไปติดต่อใครที่ไหน
    3. ความรู้ในด้านสิทธิของตนเองในฐานะคนต่างชาติ รวมทั้งในฐานะคนงาน ฐานะคู่สมรส เมื่อไม่รู้จึงไม่มีโอกาสใช้สิทธิได้
  3. ปัญหาการปรับตัว ด้วยความตั้งใจที่จะกลับบ้าน จึงไม่สนใจที่จะปรับตัว ที่จะเรียนรู้ในการใช้ชีวิต ที่จะหาความรู้ด้านต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมกับคนอื่น ๆ ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง
  4. ปัญหาสุขภาพอนามัย ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาทำให้ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ และมีปัญหาในการสื่อสารกับแพทย์ ไม่สบายก็ไม่สามารถไปหาแพทย์ตรวจ นอกจากนี้ ยังมีหญิงไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงไทยในญี่ปุ่นติดเชื้อ HIV และเป็นโรคเอดส์กันมาก ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักสังคมสงเคราะห์ชาวไทยที่ทำงานในศูนย์อนามัยที่โตเกียว กล่าวว่า ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่ติดเชื้อ HIV และเป็นโรคเอดส์ จะเป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนนี้จะเป็นคนไทย นั่นก็คือ มีคนไทยติดเชื้อนี้มาก และเนื่องจาก คนไทยไม่มีความรู้ ทำให้การติดเชื้อในหมู่คนไทยมีโอกาสที่เป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ฝึกงาน ซึ่งมักจะมีเพศสัมพันธ์กันเอง โดยไม่ได้ป้องกัน
  5. ปัญหาในการทำงาน หญิงไทยไม่มีความรู้ในระบบการทำงาน ไม่รู้ถึงบริการหางานการส่งเสริมการศึกษาต่อ (ในกรณีประเทศเยอรมนี) ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน และด้วยปัญหาด้านภาษา งานที่หาได้จึงเป็นเพียงงานที่ใช้แรงงานหนัก และมีรายได้น้อย เพราะเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ภาษา เช่น งานในครัว งานทำความสะอาด งานในโรงเรียน เป็นต้น และด้วยปัญหาภาษาเช่นกัน ที่ทำให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือโดนเพื่อน และนายจ้างเอาเปรียบ
  6. ปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับหญิงที่แต่งงาน ปัญหาครอบครัว ได้แก่
    1. ปัญหากับพ่อแม่พี่น้องของสามี ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับสะใภ้ไทยในกรณีประเทศญี่ปุ่น คือ การคาดหวัง ให้ทำหน้าที่สะใภ้ญี่ปุ่น ที่จะมารับช่วงหน้าที่จากแม่สามี หรือการถูกควบคุมโดยพ่อแม่สามีจนไม่มีอิสระ
    2. ปัญหากับสามี เริ่มตั้งแต่ ความไม่รับผิดชอบ ปัญหาความรุนแรงสามีทุบตีด่าทอ สามีบังคับให้ทำงานค้าบริการทางเพศ
    3. ปัญหาการแย่งลูกว่าลูกจะได้อยู่กับใคร ใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เพราะผู้ชายมักเอาปัญหาด้านภาษาของภรรยามาอ้าง เพื่อที่จะเอาลูกไว้กับตน ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ต้องการจ่ายค่าเลี้ยงดู เพราะเมื่อลูกอยู่กับตนเองแล้วก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกให้แก่ผู้หญิง
    4. ปัญหากับลูกที่เกิดจากสามีเยอรมันหรือญี่ปุ่น เนื่องจาก แม่ไทยมักไม่ค่อยพูดไทยกับลูกทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไม่รู้ภาษาเยอรมัน หรือญี่ปุ่น เด็กจึงมักพูดไทยและฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ เมื่อแม่เองก็ไม่มีความรู้ภาษาเยอรมันและญี่ปุ่น ทำให้การสื่อสารระหว่างแม่และลูกเป็นไปไม่ได้ เกิดช่องว่าง ลูกขาดความเคารพพ่อแม่ และมีไม่น้อยที่ลูกดูถูกแม่และวัฒนธรรมของแม่
  7. ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับลูกที่เกิดจากสามีไทย เนื่องจาก หญิงไทยจำนวนไม่น้อยนำลูกที่เกิดจากสามีไทยติดตามมาอยู่ด้วย ส่วนใหญ่โดยไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน จึงมักมีปัญหา อันได้แก่
    1. การนำลูกเข้ามา เนื่องจาก หญิงไทยไม่มีความรู้ในด้านนี้มักสอบถามจากเพื่อนหญิงไทยด้วยกันที่ก็ไม่ได้รู้จริง ทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ขอวีซ่าผิดชนิดต้องเดินทางกลับไปเดินเรื่องใหม่
    2. เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ได้ หญิงไทยมักให้สามีเยอรมันหรือญี่ปุ่นรับลูกเป็นลูกบุญธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน หลายคนไม่อาจจะอธิบายให้สามีเข้าใจได้
    3. ปัญหาเรื่องการศึกษาของลูก เนื่องจาก แม่ไม่มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือลูกในเรื่องการเรียนได้ รวมทั้งไม่สามารถแนะแนวทางการศึกษาแก่เด็กได้ ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยไม่ได้เรียนต่อในชั้นสูง พลาดโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้า
    4. เมื่อเด็กย่างเข้าวัยรุ่นปัญหาจะเริ่มมากขึ้น หากแม่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่เด็กได้ และเด็กไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ก็อาจกลายเป็นปัญหาสังคม ดังเช่นที่อาสาสมัครไทยในเยอรมนีและญี่ปุ่นสังเกตเห็น เด็กเหล่านี้รวมกันเป็นแก๊งเสพยาเสพติด บางครั้งก็เป็นผู้ขาย หรือเด็กผู้หญิงก็ไปทำงานในร้านสแน็ค
  8. ปัญหาการอยู่อย่างผิดกฎหมาย
    1. ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการประกันสุขภาพเจ็บป่วยก็ไปหาแพทย์ไม่ได้ เนื่องจาก ค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง
    2. ทำให้เงื่อนไขที่นายหน้า หรือนายจ้าง อาจเอารัดเอาเปรียบได้ หรือแม้แต่เป็นเงื่อนไขแย่งชิงลูกไป
    3. ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงว่า เมื่อไหร่จะถูกตำรวจจับส่งกลับประเทศทำให้ไม่สามารถตัดสินใจวางแผนชีวิตตนเองได้
  9. ปัญหาการถูกหลอกจากนายหน้าจัดหางาน การหลอกลวงให้คนงานเดินทางไปทำงานในรูปแบบผู้ฝึกงานยังมีอยู่ และมีหลายรูปแบบตั้งแต่การเซ็นสัญญาที่ไม่ถูกต้อง การหลอกให้เดินทางด้วยวีซ่าผิดประเภท ซึ่งในที่สุดอาจลงเอยด้วยการอยู่ทำงานอย่างไม่มีวีซ่า
  10. ปัญหาเด็กไร้สัญชาติที่เกิดจากหญิงไทยที่พำนักอยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่เกิดกับชายไทยที่อยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่เกิดกับชายญี่ปุ่นก็ตาม หญิงไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่า ตนเองสามารถขอสัญชาติไทยให้ลูกได้ หรือไม่รู้ว่า จะดำเนินการอย่างไร หรือบ่อยครั้งเป็นผู้ที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่แสดงตนเป็นคนไทย ทำให้ไม่สามารถขอสัญชาติไทยให้ลูกได้ และหากว่า พ่อชาวญี่ปุ่นไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร เด็กก็จะไม่ได้สัญชาติญี่ปุ่น เมื่อสัญชาติไทยแม่ก็ไม่รู้จะขออย่างไร เด็กก็กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งก็คือ ปัญหาสังคมของประเทศญี่ปุ่นในอนาคต

ปัญหาด้านการค้ามนุษย์ การเดินทางไปค้าบริการทางเพศของหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่นโดยขบวนการนายหน้า ซึ่งจะพาผู้หญิงไปให้เจ้าของร้านสแน็คเลือกตัวพร้อมทั้งมีการต่อรองราคาเมื่อจ่ายเงินแก่นายหน้าแล้ว ผู้หญิงก็ต้องทำงานตามที่เจ้าของร้านต้องการ รูปแบบการไปทำงานลักษณะนี้ เป็นการง่ายที่จะพิจารณาว่า เป็นการค้าหญิงหรือค้ามนุษย์ แม้นว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งจะรู้ว่า จะมาทำอะไรแต่วิธีการที่นายหน้านำมาส่ง และมีการเลือกสรร รวมทั้งต่อรองราคา และหลังจากนั้น ดูเหมือนว่า ผู้หญิงจะกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของร้านไปเลย แม้นแต่เป็นผู้ฝึกงาน โดยขบวนการนายหน้า ซึ่งนายหน้าก็จะพาคนงานเข้าประเทศญี่ปุ่นแล้วก็นำไปให้เจ้าของโรงงานเลือกว่า จะรับเอาคนงานคนไหน โดยที่แรงงานไม่มีสิทธิ์โต้แย้งทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่มีการทำสัญญากันมาแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็เข้าขายการหลอกลวง ลักษณะเช่นนี้จะถือว่า เป็น “การค้าหญิง” หรือ “การค้ามนุษย์” เพราะก็มีแรงงานชายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกันได้หรือไม่[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *