โรคอ้วนและอ้วนลงพุง

ในประเทศไทยปัญหาโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ เนื่องจาก คนไทยมีรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบคนเมืองมากขึ้น และมีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่น้อยลง ปัจจุบันคนไทยจำนวน 17.6 ล้านคน (ร้อยละ 21.4) มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน และคนไทยจำนวน 16.2 ล้านคน (ร้อยละ 32.1) มีภาวะอ้วนลงพุง โดยพบผู้หญิงไทยมีอุบัติการณ์โรคอ้วนมากกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว และปัจจุบันสัดส่วนของเด็กไทยที่น้ำหนักเกินและอ้วนมีสูงกว่าเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 8.5 ต่อ 6.3)

นิยามของ “โรคอ้วนและอ้วนลงพุง”

“โรคอ้วน” หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันตามอวัยวะต่าง ๆ มากกว่าปกติ เนื่องมาจากการได้รับพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเป็นปัจจัยของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ชนิดของโรคอ้วนและอ้วนลงพุงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

  1. อ้วนทั้งตัว เป็นลักษณะของคนอ้วนที่มีไขมันกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าปกติ โดยมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะบางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย
  2. อ้วนลงพุง เป็นลักษณะของคนอ้วนที่มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและช่องเอวปริมาณมากเกินไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ จึงทำให้เกิดการสะสมของไขมันในอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหาร และอวัยวะอื่น ๆ มากกว่าปกติ รวมทั้งมีไขมันใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นจึงเห็นหน้าท้องยื่นออกมาชัดเจน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและอ้วนลงพุง

ร่างกายเกิดการขาดความสมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับจากการบริโภคและพลังงานที่ใช้ไปในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการเคลื่อนไหวร่างกาย เข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ “ร่างกายใช้พลังงานไปน้อยกว่าพลังงานที่ได้รับเข้าไป” ทำให้เกิดไขมันเพิ่มขึ้นสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรคอ้วน

โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางพฤติกรรมร่วมกับกรรมพันธุ์ ปัญหาสุขภาพความผิดปกติทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังพบ ปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ เช่น ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติส่งผลให้มีการเผาผลาญพลังงานในร่างกายน้อยลง เกิดความผิดปกติบริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อน้ำหนัก เช่น ยากันชัก ยาแก้อาหารซึมเศร้า ยาคุมกำเนิด การได้รับฮอร์โมนสเดียรอยด์เป็นเวลานาน เป็นต้น

เกณฑ์การวินิจฉัย โรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุง

การวินิจฉัย โรคอ้วน สามารถวินิจฉัยได้โดยการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย ปัจจุบันมีการใช้เทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย เช่น การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องตรวจที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ ในการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ (Magnetic resonance imaging (MRI)), เครื่องมือเอ็กซเรย์ระบบ 2 พลังงาน (Dual – energy x-ray absorptiometry (DEXA)), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography (CT)), การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound), เครื่องที่ใช้แสงที่มีความยาวคลื่นย่านใกล้อินฟราเรด (Near – infrared interactance (NIR)), การวัดองค์ประกอบของร่างกายจากความต้านทานไฟฟ้า (Bioelectrical impedance analysis (BIA)) เป็นต้น แต่การใช้เทคนิคและเครื่องมือดังกล่าวมีข้อจำกัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในทางปฏิบัติควรคำนึงถึงช่วงอายุเพื่อหยิบใช้วิธีการในการวัดวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง ได้ดังนี้

ในช่วง 0 – 18 ปี

กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ใช้ในการติดตามพัฒนาการและประเมินภาวการณ์เจริญเติบโตของเด็กตามเพศ อายุและเชื้อชาติ โดยแสดงออกมาในรูปกราฟ สำหรับประเทศไทยกราฟนี้พัฒนามาจากข้อมูลประชากรเด็กไทยของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อายุตั้งแต่ 1 วัน จนถึงอายุ 18 ปี

ช่วงอายุ 19 ปีขึ้นไป

ดัชนีมวลกาย (body mas index (BMI)) เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคอ้วน และการวัดเส้นรอบเอวประกอบกับการประเมินปัจจัยเสี่ยงในการวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง

ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร2)

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วน และความเสี่ยงต่อการเกิดร่วม

สภาวะร่างกายค่าดัชนีมวลกายกิโลกรัม/เมตร2ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อเส้นรอบเอวปกติความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อ *เส้นรอบเอวสูงกว่าปกติ*
น้ำหนักตัวต่ำ<18.5  
น้ำหนักตัวปกติ18.5 – 22.9  
น้ำหนักเกิน23.0 – 24.9ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นความเสี่ยงสูง
อ้วนระดับ 125.0 – 29.9ความเสี่ยงสูงความเสี่ยงรุนแรง
อ้วนระดับ 2≥30ความเสี่ยงรุนแรงความเสี่ยงรุนแรง
อ้วนระดับ 3ความเสี่ยงรุนแรงมากความเสี่ยงรุนแรงมาก

*โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

เส้นรอบเอว (waist circumference) เป็นค่าที่ได้จากการวัดรอบเอวด้วยสายวัดมาตรฐาน โดยวัดรอบเอวระดับตำแหน่งกึ่งกลางของข้างเอวระหว่างขอบล่างของซี่โครงล่างกับขอบบนของแนวสันกระดูกเชิงกราน (iliac crest) ให้สายรอบเอวแนบรอบเอว และอยู่ในแนวขนานกับพื้น การวัดเส้นรอบเอวที่ให้ผลเชื่อถือได้ควรวัดในช่วงเช้าขณะยังไม่ได้รับประทานอาหาร และตำแหน่งที่วัดไม่ควรมีเสื้อผ้าปิดหรือควรสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางแทน

**เส้นรอบเอว ≥90 เซนติเมตร ในชาย และ ≥80 เซนติเมตร ในหญิง

ในการวินิจฉัยว่าแป็น “โรคอ้วนลงพุง” ต้องพบว่า มีเส้นรอบเอวสูงกว่าปกติร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 2 ใน 4 อย่าง ดังนี้

  1. ความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับยารักษาความดันโลหิตสูง
  2. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้ยาลดไขมัน
  3. ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  4. ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดหรือ HDL-cholesterol น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/เดซิลิตรในหญิงหรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *