สถานการณ์แนวโน้มโรคอ้วนในประเทศไทย

อุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย สาเหตุและพิษภัยของโรคอ้วน เป็นสิ่งที่ควรจะตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโรคเรื้อรังส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ อัตราวามชุกของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มประชากร ปรากฏการณ์ที่พบประเทศไทยจากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการ พ.ศ. 2529 และพ.ศ. 2538 คือ ปัญหาและสัญญาณอันตรายในสุขภาพอนามัยและความมั่นคงภายในประเทศ พบว่า ประชากรไทยประสบปัญหาภาวะโภชนาการเกิน และอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.3 เป็นร้อยละ 29.9 คือ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 109.1 โดยกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 40 – 49 ปี ในเพศชายจากร้อยละ 19.1 เป็นร้อยละ 24.4 และเพศหญิงจากร้อยละ 26.6 เป็นร้อยละ 46.9

จากการศึกษาภาวะโภชนาการเกินในเด็กและวัยรุ่นระดับประถมศึกษาของกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 3 ปี (2535 – 2537) ในปี พ.ศ. 2535 พบว่า นักเรียนในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยมีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ 25.9 นักเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน ร้อยละ 25.7 นักเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ 27.4 และนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 11.2 และเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี พ.ศ. 2537 พบว่า ภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.5 , 28.1, 32.3 และ 14.6 ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2543 มีการศึกษากลุ่มเด็กอนุบาล และประถมศึกษาจำนวน 10 โรงเรียน พบภาวะโภชนาการเกินทุกโรงเรียน มากเป็นอันดับที่ 1 คือ เขตนนทบุรี (ร้อยละ 19.7) น้อยที่สุด คือ ขอนแก่น (ร้อยละ 9.9) ส่วนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 – 6 จำนวน 10 โรงเรียน พบภาวะโภชนาการเกินทุกระดับชั้น ซึ่งพบมากที่สุด คือ นักเรียนหญิงมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 24.9) และน้อยที่สุดเป็นนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 (ร้อยละ 10.1)

ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจของโรคอ้วน (Economic costs of overweight and obesity)

การศึกษาค่าใช้จ่ายจากโรค (cost of illness studies)

การศึกษาค่าใช้จ่ายจากโรค เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้คาดการณ์ผลกระทบทางการเงิน (financial impact) ของโรคในชุมชน ซึ่งค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ (economic costs) ของโรคอ้วนจะรวมถึง

  1. ค่าใช้จ่ายโดยตรง (direct costs) เป็นค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลโรคที่เกิดจากโรคอ้วนโดยตรง ซึ่งรวมถึงค่าบริการสุขภาพทั้งผู้ป่วยและครอบครัว และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้บริการด้วย
  2. ค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม (intangible costs) เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเองของแต่ละคนในเรื่องคุณภาพชีวิตที่กระทบกับโรคอ้วน
  3. ค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect costs) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสูญเสียผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตลดลงจากคนขาดงาน หรือเสียชีวิต

การศึกษาค่าใช้จ่ายจากโรค ส่วนใหญ่เน้นการวัดจากค่าใช้จ่ายโดยตรง (direct) และค่าใช้จ่ายโดยอ้อม

การศึกษาค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วนในประเทศที่พัฒนา (Report of WHO Consultation on Obesity, 2000)

ประเทศออสเตรเลียมีค่าใช้จ่ายโดยตรงของโรคอ้วนเท่ากับ 464 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียซึ่งร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายเป็นการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ประเทศฝรั่งเศส ค่าใช้จ่ายร้อยละ 53 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรคอ้วน เป็นค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ที่เหลือเป็นค่ารักษาโรคเบาหวาน อัมพาต ไขมันในเลือดสูง เข่าเสื่อม หลอดเลือดดำอุดตัน โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดีและมะเร็งประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่มีผลกระทบจากโรคอ้วนเช่นกัน โดยค่าใช้จ่ายของโรคอ้วนคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของงบประมาณของสุขภาพของประเทศ สำหรับในประเทศยังไม่มีการศึกษาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ชัดเจน ถ้าหากมีการสำรวจคิดว่า ค่าใช้จ่ายคงจะไม่แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตที่กระทบกับโรคอ้วน

แนวทางการรักษาโรคอ้วน

การลดน้ำหนักสามารถลดภาวะเสี่ยงอันตรายของโรคต่าง ๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสามารถลดความดันโลหิตสูง จากการศึกษา (Nurse Health Study) พบว่า ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ 5 – 10 กิโลกรัม จะลดความเสี่ยงลงได้อีกร้อยละ 25 หรืออาจลดความเสี่ยงลงได้อีกร้อยละ 45 ถ้าน้ำหนักตัวลดลงแล้วคงที่อยู่ได้อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป การลดน้ำหนักตัวลงทุก ๆ 1 กิโลกรัม พบว่า ความดันโลหิตจะลดลงประมาณ 1.6 กิโลกรัม และ 1.3 มิลลิเมตร ปรอทของความดันตัวบน (ซีสโตลิก) และความดันตัวล่าง (ไดแดสโตลิก) ตามลำดับ

ความสำเร็จของการรักษาโรคอ้วน คือ การป้องกันในระยะยาวไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น การลดน้ำหนักและการควบคุมน้ำหนักให้คงที่ตลอดไป วิธีการรักษาโรคอ้วน ได้แก่ การควบคุมอาหาร (low calories diet therapy) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) การใช้ยาต้านโรคอ้วน การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ซึ่งวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ การควบคุมอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหาร แต่ควบคุมปริมาณของแคลอรีหรือพลังงานที่รับเข้าไปให้น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน โดยลดปริมาณแคลอรีที่รับประทานแต่ละวันจากเดิมวันละ 500 – 1000 แคลอรี (เฉลี่ย 600 แคลอรี) ในเวลา 1 สัปดาห์ จะสามารถลดน้ำหนักได้ 0.6 กิโลกรัม เพราะไขมัน 1 กิโลกรัม เท่ากับ 7000 แคลอรี ในเด็กอาจแบ่งอาหาร 5 หมู่เป็นสี ๆ ตามสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light Diet) คือ สีแดง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ไม่ควรรับประทาน สีเหลือง ควรรับประทานด้วยความระมัดระวังสีเขียว ได้แก่ ผัก ผลไม้ ให้พลังงานน้อย รับประทานได้ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังที่เด็กชอบ จะนำไปสู่การลดน้ำหนักระยะยาวและการยืนน้ำหนัก (maintenance) ได้ในเด็ก ในผู้ใหญ่ พบว่า การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นร่วมกับการควบคุมอาหารจะช่วยให้สมรรถภาพการทำงานของระบบหลอดเลือด หัวใจ และทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ถ้าควบคุมอาหารอย่างเดียวจะลดได้แค่น้ำหนักตัวเท่านั้น ไม่ลดไขมันในช่องท้อง (abdominal fat) การศึกษาผลของการออกกำลังกายต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวในคนอ้วน (กัลยา กิจบุญชู, 2545, หน้า 6 – 8) พบว่า การออกกำลังกายในช่วงสั้น (น้อยกว่า 26 สัปดาห์) น้ำหนักตัวและปริมาณไขมันจะลดลงมากในช่วงแรก และเริ่มช้าลง ผู้ชายลดน้ำหนักได้มากกว่าหญิง และการศึกษาในปี 1993 การออกกำลังกาย 30 นาที วันละครั้งหรือ10 นาที วันละ 3 ครั้งก็ให้ผลในการเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด การแนะนำการเคลื่อนไหวร่างกาย สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย จึงเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายสะสม 10 นาที 3 ครั้ง/วัน เกือบทุกวันดีกว่า ไม่ได้ออกกำลังกายเลยและการประชุม Stock conference ที่กรุงเทพ ปี ค.ศ. 2002 มีข้อสรุปว่า คนที่เคยอ้วน การเคลื่อนไหว ร่างกายระดับกลาง 30 นาที/วัน ไม่เป็นการเพียงพอต้องเพิ่มเป็น 60 – 90 นาที/วัน ถ้าเป็นระดับหนักจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น แนะนำให้มีการเคลื่อนไหว 45 – 60 นาทีระดับปานกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากท้วมเป็นอ้วนและควรกระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของแบรดฟิวด์ และคณะ (สุรัตน์ โคมินทร์, 2544 หน้า 23 – 24) ว่า การเดิน 45 นาที ก่อนและหลังอาหารจะทำให้อัตราการเผาผลาญสูงอยู่ได้อย่างน้อย 5 ชม. ถ้าออกกำลังกายอย่างหนัก อาจเพิ่มการเผาผลาญได้นานถึง 24 ชม. การเดินสลับวิ่งประมาณ 4 – 5 กิโลเมตร ทุกวันนาน 4 เดือน ทำให้อัตราส่วนระหว่าง HDL-C ต่อ LDL-C สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และลดไตรกลีเซอไรด์ได้ ผลดีต่อการป้องกันเส้นเลือดแข็ง และช่วยให้อินซูลินทำงานดีขึ้น

โดยสรุป โรคอ้วนก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพและผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การร่วมมือกันของบุคลากรในทีมสุขภาพ (แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักจิตวิทยา และเวชศาสตร์ฟื้นฟู) ในการรักษาและป้องกันโรคอ้วนอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญยิ่ง และต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์ป้องกันโรคอ้วนในเชิงรุก ซึ่งเน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพื่อให้ประชาชนทุกวัย ทุกเพศมีสุขภาพแข็งแรงและตระหนักว่า “ทุกคนช่วยชาติได้ด้วยการไม่อ้วน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *