โรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยเด็กโรคสมาธิสั้น คำแนะนำการปฏิบัติของผู้

ลักษณะทางคลินิกที่สำคัญของโรคสมาธสั้น ได้แก่ อาการขาดสมาธิ และ/หรือ อาการอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมตามปกติของเด็กในระดับพัฒนาการเดียวกัน ดังนี้

1. อาการขาดสมาธิ (inattention)

อาการขาดสมาธิ ที่แสดงออกด้วยการเหม่อ ไม่ตั้งใจทำงานที่ต้องใช้ความพยายามทำงานไม่เสร็จหรือไม่เรียบร้อย ไม่รอบคอบ วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย หลงลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำหรือทำของหายบ่อย และมีปัญหาในการจัดระเบียบการทำงานและการบริหารเวลา อาการขาดสมาธิมักจะเป็นต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่

  1. ขาดความละเอียดรอบคอบ หรือทำงานผิดจากความสะเพร่า
  2. ขาดความตั้งใจที่ต่อเนื่องในการทำงานหรือการเล่น
  3. ดูเหมือนไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย
  4. ไม่ทำตามคำสั่งหรือทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะดื้อหรือไม่เข้าใจ)
  5. ขาดการจัดระเบียบในการทำงานหรือในกิจกรรมต่าง ๆ
  6. มักหลีกเลี่ยงหรือไม่อยากทำงานที่ต้องตั้งใจพยายาม เช่น การทำการบ้าน
  7. ทำของที่จำเป็นต้องใช้หายบ่อย ๆ เช่น อุปกรณ์การเรียน
  8. วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย
  9. ขี้ลืมเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน

2. อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)

อาการอยู่ไม่นิ่ง โดยมีพฤติกรรมซุกซนมากกว่าปกติ ชอบปีนป่าย เล่นแรงเล่นส่งเสียงดัง หยุกหยิก นั่งอยู่กับที่ไม่ได้นาน ชวนเพื่อนคุยหรือก่อกวนเพื่อนในห้องเรียน อาการอยู่ไม่นิ่งมักจะลดลงเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยรุ่น โดยอาจเหลือเพียงอาการหยุกหยิก ขยับตัวหรือแขนขาบ่อย ๆ หรือเป็นแค่ความรู้สึกกระวนกระวายอยู่ภายในใจ

3. อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity)

อาการหุนหันพลันแล่น ได้แก่ อาการใจร้อน วู่วาม ขาดการยั้งคิด อดทนรอคอย ไม่ค่อยได้ พูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนากันอยู่ หรือแทรกแซงการเล่นของผู้อื่น ในห้องเรียนผู้ป่วยอาจโพล่งตอบโดยไม่ทันฟังคำถามจนจบ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกเสียใจกับการกระทำที่ไม่สามารถหยุดตนเองได้ทัน อาการหุนหันพลักแล่นมักเป็นต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

อาการอยู่ไม่นิ่ง – หุนหันพลันแล่น

  1. มักยุกยิกหรือนั่งไม่นิ่ง
  2. มักนั่งไม่ติดที่ เช่น ลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในที่ที่ควรนั่งอยู่กับที่
  3. มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายมากเกินควร หรือมีแค่อาการกระวนกระวายสำหรับผู้ที่เป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
  4. เล่นหรือใช้เวลาว่างอย่างเงียบ ๆ ไม่ค่อยได้
  5. มักไม่อยู่เฉยหรือแสดงออกราวกับติดเครื่องยนต์ไว้ตลอดวเลา
  6. พูดมากเกินไป
  7. มักพูดโพล่งตอบโดยไม่ทันฟังคำถามจนจบ
  8. มักไม่ค่อยรอจนถึงคิวของตน
  9. ขัดจังหวะผู้อื่น เช่น พูดแทรก หรือสอดแทรกการเล่นของผู้อื่น

ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นอาจจะมีเฉพาะอาการขาดสมาธิ หรือมีเฉพาะอาการขาดสมาธิ หรือมีเฉพาะอาการอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ มีอาการทั้ง 3 ด้านร่วมกัน ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่นมักแสดงอาการทางพฤติกรรมให้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ในวัยอนุบาล ส่วนผู้ป่วยที่มีเฉพาะอาการขาดสมาธิมักไม่ได้ถูกสังเกต เห็นว่า เป็นปัญหาในวัยเด็กเล็ก เนื่องจาก ไม่มีพฤติกรรมก่อกวน แต่จะมีอาการจะเด่นชัดในด้านปัญหาการเรียนเมื่อเรียนในชั้นที่สูงขึ้น

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคเรื้อรังเป็นเวลาหลายปี แม้ว่า ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้ แม้ว่า ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้ แต่มีถึงร้อยละ 60 – 85 ของผู้ป่วยที่ยังมีอาการอยู่จนเข้าวัยรุ่น และร้อยละ 40 – 50 ของผู้ป่วยที่มีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

การวางแผนการรักษาและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น

หลังจากการวินิจฉัย ควรมีการให้การปรึกษาผู้ปกครองเพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นและวางแผนการรักษาตามแนวทางของโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการติดตามต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่ผู้ปกครอง แก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและให้ความรู้ที่คลอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้

  • อาการของโรคสมาธิสั้นเป็นจากความบกพร่องของสมองโดยไม่ได้เป็นจากความจงใจของผู้ป่วยที่จะเกียจคร้านหรือก่อกวนผู้อื่น
  • ผลกระทบของโรคสมาธิสั้นและความบกพร่องอื่นที่พบร่วมด้วยต่อผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะหากไม่ได้รักษา
  • การพยากรณ์โรคที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเรื้อรังและต้องการการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

สำหรับตัวผู้ป่วย ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของผู้ป่วย

การแนะนำการปฏิบัติของผู้ปกครองและการปรับสภาพแวดล้อม

เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ทำให้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและมักถูกผู้ปกครองดุว่าหรือลงโทษ ดังนั้น จึงควรมีการแนะนำการปฏิบัติแก่ผู้ปกครองและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคสมาธิสั้น

  1. จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านและกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน
  2. จัดหาบริเวณที่สงบและไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิสำหรับให้เด็กทำการบ้าน
  3. แบ่งงานที่มากให้เด็กทำทีละน้อย และคอยกำกับให้ทำจนเสร็จ
  4. ควรพูดหรือสั่งงานในขณะที่เด็กพร้อมจะฟัง เช่น อาจรอจังหวะที่เหมาะหรือบอกให้เด็กตั้งใจฟัง
  5. บอกเด็กล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องการให้ปฏิบัติและชื่นชมทันทีเมื่อเด็กทำได้ หากเด็กยังทำไม่ได้อาจวางเฉยโดยไม่ตำหนิหรือประคับประคองช่วยเด็กให้ทำได้สำเร็จถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ
  6. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก่อกวนที่เป็นจากอาการของโรคสมาธิสั้น ควรใช้วิธีที่นุ่มนวลหยุดพฤติกรรมนั้นหรือเบนความสนใจให้เด็กได้ทำกิจกรรมอื่นแทน
  7. หากเด็กทำผิด ควรใช้ท่าทีที่เอาจริงและสงบในการจัดการ เช่น อาจใช้การแยกเด็กให้อยู่มุมสงบ
  8. ให้เด็กมีโอกาสใช้พลังงานและการไม่ชอบอยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ให้ช่วยงานบ้านที่สามารถทำได้
  9. ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีและช่วยฝึกเด็กให้มีวินัย อดทนรอคอย บริหารเวลาและจัดระเบียบในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  10. ติดต่อและประสานงานกับครูอย่างสม่ำเสมอในการช่วยเหลือเด็กด้านการเรียนและการปรับตัวในโรงเรียน

คำแนะนำสำหรับครูช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคสมาธิสั้น

  1. ให้เด็กนั่งหน้าชั้นหรือใกล้คูร เพื่อจะได้คอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจในการทำงานที่ดีขึ้น ไม่ควรให้เด็กนั่งหลังห้องหรือใกล้ประตูหน้าต่าง ซึ่งจะมีโอกาสถูกกระตุ้นให้เสียสมาธิได้ง่าย
  2. วางกฎระเบียบ และตารางกิจกรรมต่าง ๆ ของห้องเรียนให้ชัดเจน
  3. ช่วยดูแลให้เด็กทำงานเสร็จ และคอยตรวจสมุดเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบถ้วน
  4. ฝึกการจัดระเบียบ วางแผน แบ่งเวลาในการทำงาน และตรวจทบทวนผลงาน
  5. ให้การชื่นชมทันทีที่เด็กตั้งใจทำงาน หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
  6. เมื่อเด็กเบื่อหน่ายหรือเริ่มหมดสมาธิ ควรหาวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า
  7. เมื่อเด็กเริ่มมีพฤติกรรมก่อกวน อาจจะใช้วิธีพูดเตือน เบนความสนใจให้เด็กทำกิจกรรมอื่น หรือแยกเด็กให้อยู่สงบตามลำพังประมาณ 5 นาที และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิ ดุว่า หรือลงโทษรุนแรง ซึ่งจะเป็นการเร้าให้เด็กนั้นเสียการควบคุมตัวเองมากขึ้น
  8. ช่วยเหลือเป็นพิเศษทางด้านการเรียน เช่น การสอนเสริมแบบตัวต่อตัวกลุ่มเล็ก ๆ ในรายที่มีความบกพร่องในทักษะด้านการเรียน
  9. มองหาจุดดีของเด็ก สนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถ และช่วยเหลือให้เพื่อนยอมรับ
  10. ติดต่อกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็ก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *