“มายาคติทางเพศ” “มุมมองเพศสภาพ” ความท้าทายของงานสร้าง

“มายาคติทางเพศ” ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ขบวนการสตรีนิยมไทยไม่อาจละทิ้งจุดสนใจเรื่องสิทธิผู้หญิงจากฐานคิดเสรีนิยมแม้จะถูกวิพากษ์ว่าเน้นปัจเจกนิยม แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ให้เข้มข้นขึ้น คือ การทำให้สตรีนิยมมีความเป็นการเมืองมากขึ้น เพื่อให้ “มุมมองเพศสภาพ” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกรอบคิดและกรอบวิเคราะห์ในนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การพัฒนาที่ตระหนักถึง “ความซ้อนไขว้” ของการกดขี่ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลายและกลุ่มที่เป็นกระแสรองและชายขอบของการพัฒนาจะไม่ถูกละเลย หรือกีดกันออกจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองความจำเป็นของแต่ละเพศที่ไปพ้นข้อจำกัดของโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมที่ไม่มีทางสำหรับผู้หญิง เพื่อรองรับ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองนอกระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ” ให้ผู้หญิงมีความชอบธรรมและมีพื้นที่ทางการเมืองอย่างแท้จริงที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างมีศักดิ์สิทธิ์และได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติทั้งปวง

สังคมไทยมีการถกเถียงเรื่องสิทธิสตรีกันก่อนมีขบวนการสตรีนิยมแบบจัดตั้ง และเมื่อรับกระแสสตรีนิยมเข้ามาทั้งในฐานะที่เป็นแนวความคิด (ideologies) และในฐานะขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม (movements) ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายแนวทาง แต่กระนั้น คำว่า “สตรีนิยม” หรือ “เฟมินิสต์” ก็เป็นคำที่ไม่ได้นิยมใช้กันจากคนทั่วไป รวมทั้งคนที่ทำงานเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ นอกจากนี้ การรวมตัวเป็นกลุ่มสตรีนักกิจกรรมทางสังคมที่ใช้ฐานคิดสตรีนิยมเพื่อการขับเคลื่อนงานสร้างความเป็นธรรมทางสังคมก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะองค์กรสตรีที่มีวาระเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศเท่านั้นหากขยายตัวไปสู่ประเด็นทางสังคมและการเมืองมากขึ้น

ความท้าทายของงานสร้างความเป็นธรรมทางเพศในอนาคต คือ การขยายเส้นขอบฟ้าของการทำงานที่ต้องทำควบคู่กันไประหว่าง ด้านหนึ่ง คือ การสร้างความเข้าใจและยอมรับถึงสิทธิมนุษยชนของสตรี ด้วยการรื้อถอนมายาคติอันเกิดจากการประกอบสร้างเพศสภาพของสังคม กับอีกด้าน คือ การสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจ ด้วยการปลดแอกผู้หญิงออกจากความสัมพันธ์ทางอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เบียดขับผู้หญิงจากการเข้าถึงอำนาจตัดสินใจที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง

คำถามที่ยังต้องการพลังความคิดในการร่วมกันหาทางออกในอนาคต คือ ในขณะที่ขบวนการสตรีนิยมได้สั่งสมทั้งในด้านความสำเร็จและบทเรียน มาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบกับช่องทางกฎหมายที่มีความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของประชาชน จะนำพาความแข็งขันของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อปกป้อง วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มาใช้เพื่อหนุนเสริมเกิดเป็นพลังใหม่ ด้วยการนำแนวคิดสตรีนิยมมาอธิบายประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญ ทั้งในระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม ยกระดับขึ้นมาเป็นวาระทางการเมือง เพื่อสร้างจุดคานงัดของการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยทางการเมืองได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาไปสู่การวางยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยระบบและมาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นจากค่านิยมความเป็นชาย ให้มีแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่มีความสมดุลทางอำนาจมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ผู้หญิงกลุ่มต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *