การบริโภคอาหารสำหรับหญิงวัยทอง

“วัยทอง” หรือ “วัยหมดระดู” หรือที่คนอีสาน เรียกว่า “วัยสุดเลือด สุดลูก” นั้นหมายถึง วัยหมดประจำเดือน ที่มีการสิ้นสุดของการมีระดูอย่างถาวร เนื่องจาก รังไข่หยุดการทำงานซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติที่เกิดกับผู้หญิง เนื่องจาก การลดลงของฮอร์โมนเพศที่จำเป็นของผู้หญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้มีผลกระทบต่ออวัยวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ

ในปัจจุบันประชากรของไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จึงมีผู้หญิงวัยทองเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในวัยทองและผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในการแบ่งกลุ่มของผู้หญิงมีดังนี้คือ

  1. กลุ่มก่อนหมดระดู คือ อายุระหว่าง 40 – 45 ปี
  2. กลุ่มที่กำลังจะหมดระดู คือ อายุระหว่าง 45 – 55 ปี
  3. กลุ่มหลังหมดระดู คือ อายุ 55 ปีขึ้นไป

ในช่วงจะหมดระดูนั้นร้อยละ 50 – 70 ของผู้หญิงจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า ศีรษะหน้าอก เหงื่อออกมากเวลากลางคืน ทำให้นอนไม่หลับและอาการที่ตามมาคือ อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอกจากสภาพร่างกายแล้ว ในช่วงนี้ผู้หญิงวัยหมดระดูจะมีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล เศร้าซึม ขาดความมั่นใจ ลืมง่ายและยังมีอาการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เช่น ผิวหนังแห้งบางเล็บเปราะบาง เส้นผมแห้งขาดง่าย อาการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายของระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นอาการเกิดขึ้นในระยะแรกและเป็นครั้งคราวเท่านั้น ส่วนอาการที่เกิดในระยะหลัง เนื่องจาก การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นระยะเวลานาน ๆ ได้แก่ โรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ระบบประสาทอัตโนมัติ โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน ซึ่งในระยะแรกของวัยหมดระดู จะทำให้สูญเสียเนื้อกระดูกได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ต่อปี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สตรีควรสนใจดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อช่วยลดอาการต่าง ๆ และโภชนาการเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมของหญิงวัยทอง ซึ่งมีข้อแนะนำในการบริโภคอาหารมีดังนี้

  1. การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยหมุนเวียนอาหารอย่าให้ซ้ำซาก เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาหาร หรือสารพิษบางอย่างมากเกินไป
  2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยทั่วไปค่าดัชนีมวลกายสำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 18.5 – 24.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ หรือเกินไม่มากนัก ควรพยายามรักษาน้ำหนักให้คงที่ และไม่ควรลดน้ำหนักในช่วงที่กำลังจะหมดระดู เพราะจะทำให้อาการเพิ่มขึ้นได้ ในทางตรงกับข้ามผู้หญิงที่ผอม หากมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกก็จะเกิดผลดีต่อสุขภาพ
  3. อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนั้น ควรได้จากการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ฯลฯ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จะให้พลังงาน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร สำหรับน้ำตาล ขนมหวาน ควรจำกัดในการรับประทาน เพราะจะส่งเสริมให้มีการสร้างไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกาย
  4. ควบคุมอาหารไขมัน โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลซึ่งมีมากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ เป็นต้น น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารควรเลือกน้ำมันชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์มโอลิอิน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก เป็นต้น หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันสัตว์และกะทิ ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันอิ่มตัว นอกจากนี้ ควรงดหรือลดความถี่ในการบริโภคอาหารทอดอื่น ๆ เช่น หนังหมูทอด หนังไก่ทอด เป็นต้น
  5. ควรลดการบริโภคเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ แต่ควรบริโภคปลาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะย่อยง่ายและไขมันต่ำ โดยเฉพาะ ปลาทะเล ทั้งนี้ไขมันจากปลาทะเลจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อี พี เอ (EPA – กรดไอโคซาเพนตาโนอิค) และดี เอช เอ (DHA – กรดโดโคเฮกซาโนอิค) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างไขมันในเลือดชนิดดี คือ เอช ดี เอล (HDL – ไลโปโปรตีน ชนิดความหนาแน่นสูง)
  6. ควรบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ผักชนิดต่าง ๆ รวมทั้งผักใบเขียวและผักสีเหลือง ผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งใยอาหารนี้มีประโยชน์ต่อการดูดซับอาหารไขมันและน้ำดี ทำให้ร่างกายรับอาหารไขมันลดลง มีการทำลายคอเลสเตอรอลมากขึ้น แต่ควรลดการบริโภคกากใยจมูกข้าวสาลี ทั้งนี้เพราะจากการวิจัย พบว่า การบริโภคกากใยข้าวสาลีอาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียเอสโตรเจนด้วย
  7. ควรบริโภคอาหารจำพวกพืชบางชนิดที่ให้ไฟโตเอสโตรเจนที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน อาหารที่พบว่า มีไฟโตเอสโตรเจนมาก ได้แก่ ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น แอปเปิ้ล แครอท หอมหัวใหญ่ กระเทียม เมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น ซึ่งไฟโตเอสโตรเจนนี้จะช่วยลดอาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหญิงวัยทองได้เป็นอย่างดี
  8. เพิ่มการบริโภคแคลเซียมให้มากขึ้น โดยดื่มนมชนิดไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง ปลาตัวเล็ก ๆ กุ้งฝอย ผักใบเขียวที่มีแคลเซียมสูง ๆ เช่น ใบชะพลู ผักแพว ยอดแค ผักคะน้า ผักกระเฉด ยอดสะเดา ใบยอ เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ไม่เกิน 2 ต่อ 1 ถ้าบริโภคมากกว่านี้จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะและอาจเกิดเป็นนิ่วในไตได้
  9. กระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมน เนื่องจาก โกรท ฮอร์โมนนี้ ทำหน้าที่ในการกระตุ้นการแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อให้การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย
    1. ออกกำลังกายปานกลางอย่างสม่ำเสมอ ประมาณวันละ 30 – 60 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม ถ้านานเกิน 60 นาที จะมีผลในการกดการหลั่งโกรทฮอร์โมน
    2. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา จะมีประโยชน์ในการกระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมนได้ดีกว่าการบริโภคอาหารจุบจิบทั้งวัน
    3. การนอนหลับสนิทและเต็มอิ่ม จะกระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงพยายามหลีกเลี่ยงการอดนอน และการนอนผิดเวลา
    4. อาหารโปรตีนที่มีกรดอะมิโนอาร์จีนิน จะช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมน ซึ่งจะพบได้ในปลาทะเล ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ไข่ นม เป็นต้น
  10. ในส่วนของวิตามินและเกลือแร่อื่น ๆ ควรได้รับปริมาณที่เพียงพอจากผัก ผลไม้สดและอาหารอื่น ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 6 ไนอะซิน และโบรอน ซึ่งวิตามินบี 6 มีมากในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ ถั่วเหลือง เป็นต้น ไนอะซิน ที่มีมากในนม เนื้อสัตว์ ไข่ ข้าว ซึ่งจะช่วยลดอาการทางอารมณ์ความจำ และการนอนไม่หลับได้ โบรอนจะช่วยเพิ่มระดับเอสโตรเจนและลดการสูญเสียแคลเซียมได้ อาหารที่มีโบรอนสูง ได้แก่ พลัม สตรอเบอรี่ กะหล่ำปลี แอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ผักสลัด บรอคโคลี่ เป็นต้น
  11. น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ โดยทั่ว ๆ ไป ประมาณ 6 – 8 แก้วต่อวัน ในหญิงวัยทองนี้ จะมีปัญหาในเรื่องปริมาณน้ำทั่วร่างกายลดลง เป็นผลมาจากความสามารถในการระบายความร้อนลดลง หญิงวัยนี้จำต้องพยายามรักษาปริมาณน้ำไว้ในร่างกายให้มากที่สุด ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม ซึ่งจะไปลดระดับเอสโตรเจนในเลือดได้

จะเห็นได้ว่า หญิงวัยก่อนและหมดระดู หากได้ดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและถูกสุขลักษณะ เหมาะสมตามสภาวะของร่างกายสอดคล้องกับการออกกำลังกาย การพักผ่อนอย่างเพียงพอรวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะช่วยลดอาการต่าง ๆ และอุบัติการณ์ของโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *