แนวปฏิบัติ 9 แนวทางในการเติมสมอง ท้องคุณภาพ เด็กพัฒนาการสมวัย

การส่งเสริมสุขภาพในแต่ละช่วงวัย ในการเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีนั้น ในมุมมองช่วงวัยของผู้หญิงและเด็กยังเป็นสิ่งที่ท้าทายด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศในทศวรรษนี้ ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีนั้น คงรวมทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านสติปัญญา การที่สามารถตัดสินใจในการกระทำในสิ่งที่ดีและท้าทาย

ในการพัฒนาศักยภาพทุกช่วงวัยในประเทศไทย ยังพบปัญหาและโอกาสในการพัฒนาอีกมากไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา คุณภาพการศึกษา และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือแม้แต่ต้นทุนทางสมองที่ต้องได้รับการพัฒนาและการแสวงหาที่หลากหลาย ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการอย่างมีประสิทธิภาพยังเป็นโอกาสที่ท้าทาย จากผลการพัฒนาตามช่วงวัย พบว่า กลุ่มเด็กไทยมีโอกาสป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 6 : 1,000 การเกิดมีชีพ เด็กกลุ่มอาการดาวน์ชินโดรม 1 : 800 – 1,000 การเกิดมีชีพร้อยละ 8.2 ของเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร้อยละ 29.6 (สำนักส่งเสริมสุขภาพ, 2553)

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการสมวัยของเด็กอายุ 0 – 5 ปี ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 72 เหลือเพียงร้อยละ 71 (สำนักส่งเสริมสุขภาพ) ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม โดยในปี 2549 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะโภชนาการเกินถึงร้อยละ 10.6 และคาดว่า อีก 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัยจะเป็นโรคอ้วน จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการองค์รวม และด้านสติปัญญาของเด็ก และด้านสติปัญญาของเด็กอายุ 1 – 18 ปี คือ การเลี้ยงดูแลการศึกษาของแม่ และรายได้ของครอบครัว โดยพบว่า อิทธิพลของการเลี้ยงดูมีผลสูงสุดในกลุ่มเด็กปฐมวัย แล้วลดลงมาในกลุ่มวัยเรียน และวัยรุ่นตามลำดับ (ลัดดา เหมาะสุวรรณและคณะ, 2554)

การเติมทุนสมองมีความสำคัญในการที่จะพัฒนาของสมองของเด็กให้สมวัย เพื่อที่จะก้าวไปเป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพดี และมีคุณธรรม ในการพัฒนาการของสมองของเด็กจะเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ในการส่งเสริมสุขภาพมารดาและคู่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และจากการดำเนินการด้านส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ได้มีโครงการและนโยบายเพื่อที่จะส่งเสริมสุขภาพสตรี เด็ก และครอบครัว เป็นแนวปฏิบัติ 9 แนวทางในการเติมสมอง ท้องคุณภาพ เด็กพัฒนาการสมวัย ดังนี้

  1. เลือกคู่ดี การเลือกคู่ในมุมมองการส่งเสริมสุขภาพ
    • จากการศึกษา พบว่า อิทธิพลของกรรมพันธุ์หรือยีน มีผลต่อการพัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา และทางร่างกาย การคัดเลือกยีนที่ดีทั้งจากพ่อและแม่ การคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดจากครอบครัวสู่ลูกล้วนเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการของเด็กและสติปัญญา
    • ในโครงการนี้ กรมอนามัยได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลการเลือกคู่และตามสถานบริการสุขภาพรับบริการในการตรวจคัดกรอง เช่น การตรวจคัดกรอง ธาลัสซีเมีย การให้คำปรึกษา เพื่อการตรวจหาเอชไอวี ซิฟิลิส
  2. ฝากท้องเร็วและมีคุณ
    • การฝากท้องมีความสำคัญทั้งในด้านสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ กรมอนามัยส่งเสริมให้มีการฝากครรภ์ให้เร็ว ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เพื่อที่จะคัดกรองโรคทางพันธุกรรม ทั้งดาวน์ชินโดรมและธาลัสซีเมีย เอชไอวี ซิฟิลิส ตับอักเสบบี และสามารถให้การส่งเสริมสุขภาพครรภ์มารดา และมีโรงเรียนพ่อแม่เพื่อเตรียมตัวเป็นคุณพ่อ คุณแม่ที่มีคุณภาพ และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับบุตรหลานในอนาคตได้ การฝากท้องคุณภาพตามแนวทางใหม่ของกรมอนามัยแนะนำการฝากครรภ์คุณภาพ 5 ครั้ง
    • ตามแนวทางของ WHO และเน้นการค้นหาครรภ์เพื่อหาแนวทางการรักษาและป้องกันได้เร็ว การฝากครรภ์เน้นการเชื่อมโยงทั้งในส่วนของท้องถิ่น ชุมชน รพ.สต. รพช. และรพท. รพศ. โดยในชุมชนเน้นการให้ชุมชนและ อสม. มีส่วนร่วมในการหาค้นหาหญิงตั้งครรภ์ และนำเข้าสู่ระบบการบริการให้เร็วขึ้น ประสานงานกับ อบต. ในการจัดกิจกรมให้ความสำคัญในการฝากครรภ์ กรมอนามัยได้เสนอแนะให้มีการฝากครรภ์เร็วที่สถานบริการสุขภาพได้ทุกแห่งในประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องฝากครรภ์ได้เฉพาะสถานบริการที่ขึ้นสิทธิ์ด้านสุขภาพเท่านั้น เพื่อให้เข้าถึงการบริการได้เท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน
  3. เลือกคลอดดี
    • กรมอนามัยส่งเสริมให้มีการคลอดในสถานบริการด้านสาธารณสุข เพื่อที่ลดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดเพื่อลดอัตราการตายมารดาและทารก
  4. ให้นมแม่เร็วและนาน
    • มีผลการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า นมแม่มีประโยชน์มาก และควรให้อย่างน้อย 6 เดือน ส่วนหลังจากนั้น ส่งเสริมด้านโภชนาการที่เหมาะสมตามอายุ และสามารถให้นมแม่ได้นาน การให้นมแม่นอกจากมีประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว ยังสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก และครอบครัวด้วย
  5. พาลูกมาตรวจสุขภาพตามนัด
    • การตรวจสุขภาพเด็ก นอกจากการรับบริการทางด้านวัคซีนแล้ว การจัดสถานบริการเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาการเด็กในสถานบริการเป็นสิ่งสำคัญ กรมอนามัยส่งเสริมให้จัดมีคลินิกเด็กดี โดยเน้นการตรวจคัดกรองการพัฒนาการเด็กตามช่วงอายุ โดยการใช้คู่มืออนามัย 55 ในการคัดกรองและเฝ้าระวัง ซึ่งพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถคัดกรองและเฝ้าระวังโดยใช้คู่มือนี้ได้ ซึ่งถ้าพบความผิดปกติสามารถส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจและคัดกรองซ้ำได้
    • จากคู่มือเดียวกันนี้ ซึ่งในปี 2555 พิมพ์รวมลงไปในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) เพื่อใช้ได้ง่ายและสะดวก และถ้าได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นเบื้องต้นและไม่ดีขึ้น สามารถส่งต่อให้ได้รับการรักษาและกระตุ้นโดยกุมารแพทย์ ด้านการพัฒนาการและจิตแพทย์เด็กต่อไป
  6. กินดี เล่น อ่าน เล่าเร้าปัญญา
    • ควรส่งเสริมให้มีโภชนาการในเด็กและมารดาที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมในครอบครัวทั้งพ่อแม่ และลูก รวมทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้องในครอบครัว นอกจากได้รับการผ่อนคลายแล้ว ยังเพิ่มการมีส่วนร่วมกันในการดูแลบุตรหลาน ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สร้างสายใยรักในครอบครัว และเป็นภูมิคุ้มกัน สำหรับเด็กในอนาคตเป็นอย่างดี การอ่านนิททาน การเล่าเรื่องที่ส่งเสริมปัญญากระตุ้นสมอง การเล่าถึงสิ่งที่ดี ๆ ในครอบครัว สังคม ความภาคภูมิใจ
  7. ฝึกลูกคิด ถามอ่าน และลงมือทำ
    • การส่งเสริมการคิด การอ่านเป็นการฝึกให้เด็กกล้าที่จะคิด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง การฝึกควรจะกระทำบ่อย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยพ่อแม่ส่วนใหญ่จะคิดว่า เด็กสามารถทำได้เองเมื่อถึงเวลา ทำให้ขาดโอกาสในการกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การทำและปฏิบัติเป็นแบบอย่างสามารถทำให้เด็กซึมซับไปกับการปฏิบัติอย่างลงตัว
  8. สอนทักษะชีวิต
    • ทักษะชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ ในวิถีชีวิตของปัจจุบันกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของชีวิต โดยมีพื้นฐานของการมีคุณค่า ความรัก การไว้วางใจเพื่อให้มีความสามารถทางเชิงสังคมในการแก้ไขปัญหา และตัดสินใจที่เหมาะสม หาทางออกของชีวิตได้ ซึ่งการปลูกฝังควรเน้นตั้งแต่เด็ก ๆ เน้นการให้มีการเรียนรู้ทั้ง 10 ประการ Core Life Skills (WHO, 1994: 1) ได้แก่ การตัดสินใจ (Decision Making) การแก้ปัญหา (Problem solving) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship skills) ตระหนักในตนเอง (Self – awreness) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) การจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion) และการจัดการกับความเครียด (Coping with stress) ความสามารถในทักษะชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างและพัฒนาขึ้นมาได้จากประสบการณ์การดำเนินชีวิตประจำวันพร้อมทั้งการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางรากฐานที่ดีตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้นเอง
  9. ให้อิสระในการเรียนรู้
    • ครอบครัวควรส่งเสริมให้เด็กสามารถเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน กรมอนามัยสนับสนุนการพัฒนาคนอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ ช่วงปฐมวัยและต่อเนื่องตลอดชีวิต ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนโครงสร้างและประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์ได้ การเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องและตอบสนอง ความต้องการอย่างสมดุลย์เป็นการวางรากฐานบุคลิกภาพของเด็กเพื่อการป้องกันปัญหาสังคมในระยะยาว โดยเน้นให้ครอบครัวเป็นแกนหลักและชุมชนเป็นฐานที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการพัฒนาการ

ขอขอบคุณที่มาบทความ เติมสมอง ท้องคุณภาพ เด็กของชาติพัฒนาการสมวัย โดยนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *