อาหาร 4 จาน เตรียมสมอง เตรียมปัญญา

คุณพ่อคุณแม่ที่รัก

ลูก คือ แก้วตาดวงใจของพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากเห็นทุกคนอยากเห็นลูกเติบโต แข็งแรง และสามารถอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีความสุขและเกื้อกูลต่อกัน นับเป็นสิ่งท้าทายสำหรับครอบครัวในปัจจุบัน ด้วยมีสิ่งภายนอกที่เย้ายวนให้ลูกหันเหไปได้ง่าย หากลูกไม่มีสมรรถนะในการรับ รู้ คิด จำ และทำในสิ่งที่เหมาะควร ดังนั้น เป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องช่วยกัน เตรียมสมองเตรียมปัญญาให้กับลูกและต้องทำตั้งแต่ช่วงปฐมวัย (แรกเกิดถึง 6 ปี) และไม่วางเงื่อนไขในการให้ความรักแก่ลูก

การสร้างเด็กให้แข็งแรงดี มีปัญญา จิตอาสา รู้หน้าที่ มีมนุษยสัมพันธ์เก่ง ดี ทำได้ง่ายโดยให้อาหารจานเด็ก 4 จาน แก่เด็กทุก ๆ วัน คือ

  • อาหารกาย
  • อาหารสมอง
  • อาหารใจ
  • อาหารธรรม

อาหารกายเตรียมสมอง เตรียมปัญญา…ให้อย่างไร

  • นมแม่แน่ที่สุด ให้นมแม่อย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้น ให้นมแม่ต่อไปจนลูกอายุ 2 ปีร่วมกับอาหารตามวัย
  • อาหารตามวัยครบ 5 หมู่ทุกวัน ข้าว นม ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ (ดูคำแนะนำในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก)
  • ชั่งน้ำหนักลูกและวัดความยาวหรือความสูงทุก 3 เดือน เพื่อดูว่า โตสมวัยหรือไม่ โดยจุดน้ำหนักและความยาวหรือความสูงที่วัดได้ลงในกราฟในสมุดบันทึกสุขภาพและเด็ก
  • ได้รับวัคซีนครบ
  • ระวังเรื่องอุบัติเหตุ เก็บของมีคม สารพิษ ให้ไกลมือเด็ก (ดูคำแนะนำในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก)
  • พาลูกไปตรวจสุขภาพตามนัด การพาลูกมาตรวจสุขภาพตามนัด นอกจากจะได้รับวัคซีนแล้ว ลูกจะได้รับการประเมินภาวะโภชนาการ การเฝ้าระวังติดตามพัฒนาการสมวัย การตรวจร่างกาย และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการลูกในช่วงต่อไป

อาหารสมอง…ให้อย่างไร

เล่น คือ เรียน

เรียน คือ เล่น = สร้างสมอง

  • ของเล่นที่มีคุณค่าของเด็ก คือ คุณพ่อ คุณแม่นั่นเอง โดย พูดคุย บอกเล่า อธิบาย ขยายความ ตอบคำถาม เล่นกับลูก สอน ทุก ๆ วัน
  • ข้าวของในบ้านทุกอย่าง เป็นของเล่นกับลูกได้ เลือกของเล่นที่สะอาดและปลอดภัยต่อเด็ก เช่น ไม่แหลมคม ไม่มีสารพิษ ขนาดไม่เล็กจนเด็กเอาเข้าปากได้
  • ของเล่นที่พ่อแม่ทำให้เป็นของเล่นที่วิเศษที่สุด
  • สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่วิเศษ พาลูกเดินเล่น ชี้ชวนและสอนให้รู้จักสิ่งรอบตัว
  • สอนให้รู้จักสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สอนสีสอนขนาด สอนรูปทรง โดยใช้สิ่งของในบ้าน และรอบบ้านเป็นสื่อ
  • ชี้ชวนให้ดูภาพจากหนังสือ อ่านนิทานให้ลูกฟัง เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น
  • เด็กโต หัดเขียน เพื่อฝึกมือ สายตาและการแก้ปัญหา
  • อ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กมีข้อมูลมากมายที่เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการลูก ขอให้คุณพ่อคุณแม่อ่าน บันทึกเรื่องราวของลูก และนำความรู้คำแนะนำดังกล่าวมาใช้ เป็นการสร้างปัญญาให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย

การอ่านสร้างสรรค์อย่างไร

  • พัฒนาภาษา
  • พ่อ แม่ ใกล้ชิดลูก สร้างสายสัมพันธ์ที่วิเศษสุด
  • ฝึกความคิดของลูก ตั้งคำถาม คิดคำตอบ
  • ฝึกสมาธิ

อาหารใจ บำรุงรัก ทำอย่างไร

  • ชมเชย เมื่อลูกทำดี วิธีชมเชยมีหลายอย่าง ได้แก่ โอบกอด หอมแก้ม ยิ้ม พูดชม ตบมือ ไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของทุกครั้ง อย่าลืมรักลูกให้กอด
  • อย่าเปรียบเทียบ ลูกกับใคร ๆ หรือแม้แต่พี่น้อง ให้ลูกพัฒนาด้วยความสามารถของเขาเอง การเปรียบเทียบทำให้ลูกน้อยใจ เสียใจหมดกำลังใจ
  • อย่าซ้ำเติม เมื่อลูกผิดพลาด เปลี่ยนเป็นกำลังใจ ทุกคนไม่อยากผิดพลาด แต่บางครั้งเป็นเหตุสุดวิสัย เปลี่ยนเป็นให้กำลังใจ สอนลูกให้พยายามใหม่ให้สำเร็จ
  • อย่าลงโทษด้วยอารมณ์ พ่อ แม่ ที่อารมณ์เสียแล้วมาลงที่ลูกนั้น มีผลเสียมหาศาล การลงโทษทางกายอย่างรุนแรง หรือพูดจาหยาบคาย ด่าทอ มีผลเสียมาก ทำให้ลูกน้อยใจ เสียใจ หมดกำลังใจ
  • อย่าเลือกข้าง หากลูกทะเลาะกันหรือทะเลาะกับเด็กคนอื่น อย่าตัดสินโดยเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ให้แยกเด็กออกจากกันแล้วค่อย ๆ อธิบายถึงผลเสียของการทะเลาะว่า ไม่มีประโยชน์ และจะไม่มีใครเล่นด้วยอีก เด็กวัยนี้ยังไม่มีความคิดที่ซับซ้อน และไม่นานเด็ก ๆ ก็มาเล่นด้วยกันได้อีก ถ้าเด็กใช้ความรุนแรง เช่น กัด ทุบตี เตะ ให้หยุดพฤติกรรมนั้นทันที ด้วยท่าทีที่หนักแน่นและสงบไม่ลงโทษเด็กทั้งทางร่างกายและการดุด่าเป็นอันขาด แต่สอนให้เด็กเคารพกติกา และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

อาหารธรรมสำคัญไฉน

ทุกคนต้องมีสังคม การมีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข พ่อแม่ต้องสอน และปฏิบัติตัวเองให้เป็นตัวอย่าง คุณธรรม จริยธรรมต้องปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อเป็นฐานรากของคุณธรรมจริยธรรมในวัยผู้ใหญ่ต่อไป คุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัย ได้แก่

  • มีวินัยในตนเอง และมีความรับผิดชอบ เช่น เก็บของเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง แปรงฟันอย่างน้อยก่อนนอนและหลังตื่นนอน ล้างมือก่อนและหลังอาหาร ไม่ทำลายต้นไม้ หรือทำรุนแรงต่อสัตว์
  • มีสัมมาคารวะ เช่น ทำความเคารพพ่อแม่ผู้ใหญ่ รู้จักขอบคุณ ขอโทษ
  • มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ รู้จักให้ เช่น แบ่งปันของเล่นให้เพื่อนเล่นด้วย ไม่แย่งของคนอื่น ให้มีส่วนร่วมช่วยงานง่าย ๆ
  • ควบคุมตนเอง เช่น สอนให้รู้จักรอคอย เข้าแถวเรียงลำดับ ไม่มีพฤติกรรมอาละวาด ไม่ทำร้ายคนอื่น

วิธีสอนเด็กให้ฉลาดสมวัย ทำได้ง่าย ๆ โดยการเล่นและพูดคุย ดังนี้

เมื่อเด็กอายุวิธีเล่นกับเด็กวิธีพูดคุยกับเด็ก
แรกเกิด ถึงหนึ่งสัปดาห์ให้โอกาสเด็กมอง ฟังและขยับแขนขาตามใจชอบ กอดเด็กและอุ้มเด็กบ่อย ๆ อย่าห่อเด็กแน่นเกินไปจนเด็กขยับตัวไม่ได้สบตา ยิ้ม พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเด็กดูดนมแม่ หรือช่วงเปลี่ยนเสื้อผ้าเด็ก
หนึ่งสัปดาห์ถึง 6 เดือนเด็กยังชอบมอง ฟัง และขยับแขนขาตามใจชอบ กอดเด็กและอุ้มเด็กบ่อย ๆ ให้เด็กดูของสีสดใส หรือกรุ๋งกริ๋ง เด็กจะได้ฝึกมองตาม ฟังเสียง และคว้าของ เด็กชอบอมของ เพราะเด็กอยากรู้ว่า มันนิ่มหรือแข็งอุ่นหรือเย็น เด็กชอบเล่นข้าวของในบ้านที่สีสันสดใส แต่สะอาดปลอดภัย ไม่ต้องซื้อของเล่นแพง ๆ ให้เด็กหรอกสบตา ยิ้ม หัวเราะ พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ แล้วเด็กจะคุยด้วย เลียนเสียงเด็ก และเล่นกับเด็ก ทำให้เด็กสนุกและมีความสุข อ่านและเล่าเรื่องจากหนังสือที่มีภาพสวย ๆ และสดใส ให้เด็กฟังบ่อย ๆ เด็กชอบมาก ถึงแม้ว่า เด็กจะยังพูดไม่ได้ แต่เด็กรับรู้ว่า คุณแม่ คุณพ่อ เข้าใจในเสียงอู – อา ของเด็กว่า เด็กต้องการอะไร
6 เดือน ถึง 9 เดือนเด็กชอบเล่นข้าวของในบ้านที่สีสันสดใส แต่สะอาด ปลอดภัย เด็กจะเอามาเขย่า ตี เคาะ ทำเสียงต่าง ๆ หรือปล่อยลงพื้นคุณแม่ – คุณพ่อ อย่าดุเด็กนะ เพราะเด็กกำลังเรียนรู้พูดคุยกับเด็ก เมื่อเด็กทำเสียงต่าง ๆ หรือเรียกชื่อเด็ก เด็กจะได้จำชื่อตัวเองได้ เด็กอยากให้คุณแม่ คุณพ่อ อ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังทุกวัน
9 เดือน ถึง 12 เดือนเล่นซ่อนของกับเด็ก เด็กอยากรู้ว่า มันหายไปไหน เด็กชอบเล่นจ๊ะเอ๋มาก ทำให้เด็กหัวเราะ และมีความสุขเด็กกำลังจดจำคำต่าง ๆ สอนเด็กเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็กด้วย สอนเด็กให้สวัสดี และบ๊ายบาย เด็กชอบเสียงอ่าน และเล่านิทานของคุณแม่คุณพ่อมาก อ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังทุกวัน อย่าทิ้งเด็กอยู่คนเดียว เด็กกลัว เด็กจะรู้สึกปลอดภัย หากได้เห็นหรือได้ยินเสียง คุณแม่ คุณพ่อ
12 เดือน ถึง 2 ปีเด็กชอบเล่นซ้อนของขนาดต่าง ๆ กัน ซ้อนกัน เอาออก เด็กเรียนรู้เรื่องขนาด รูปร่าง และสีต่าง ๆ ไปด้วยกัน คุณแม่คุณพ่อใช้ของเล่นในบ้านที่สะอาด และปลอดภัยให้เด็กเล่นได้ ไม่ต้องซื้อของเล่นที่แพง ๆ ให้เด็ก เด็กกำลังหัดเดิน วิ่ง ฝึกสิ่งใหม่ ๆ ช่วยสอนเด็กด้วย และให้กำลังใจเด็กเด็กพูดได้แล้ว คุณแม่ คุณพ่อคุยกับเด็กบ่อย ๆ สอนคำต่าง ๆ ให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัวเด็ก ขณะเล่นกับเด็ก พูดคุยและสอนคำต่าง ๆ ให้เด็กด้วย อ่านหนังสือภาพให้เด็กทุกวัน เพราะเด็กชอบมาก
2 ปีขึ้นไปสอนเด็กนับหนึ่ง สองสาม สอนเด็กเรียนรู้เรื่องขนาด รูปร่าง สี ของสิ่งต่าง ๆ และเปรียบเทียบกัน เด็กชอบของเล่นที่คุณแม่คุณพ่อทำให้มากที่สุดเด็กพูดได้เยอะแยะแล้ว และเด็กชอบซักถามอย่ารำคาญเด็ก เพราะเด็กกำลังอยากรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก พูดคุย เล่านิทาน ร้องเพลง และเล่นกับเด็กบ่อย ๆ หากเด็กทำผิดพลาดอย่าซ้ำเติมเด็ก ควรให้กำลังใจเด็ก และสอนเด็กว่า อะไรถูกอะไรไม่เหมาะสม เด็กชอบเลียนแบบ ดังนั้น ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *