แนวคิด “ความเชื่อ” เหตุผลในการปลอบขวัญและให้กำลังใจในความกลัวของมนุษย์

สาเหตุที่เกิดความเชื่อว่า ความเชื่อของมนุษย์เกิดจากการยอมรับนับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อต้องการแสวงหาคำตอบในสิ่งที่ตนไม่รู้ และเมื่อไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ ก็จะคาดเดาหรือเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเคยรู้มาก่อน หรืออาจจะคาดเดาตามที่เคยมีผู้เล่าไว้ก่อนแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า สาเหตุของการเกิดความเชื่อมาจากการค้นหาคำตอบในเรื่องที่ยังไม่รู้ และเมื่อมีสิ่งนั้นมาสอดคล้องกับความรู้สึกดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ก็จะตกลงใจเชื่อในทันที

ความเชื่อของมนุษย์นั้น เกิดจากความไม่รู้ในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถหาคำตอบได้ จึงเกิดความกลัวขึ้นมา และต้องการแสวงหาคำตอบ เมื่อเกิดความกลัวและความไม่รู้ จึงทำให้เกิดความเชื่อขึ้นมา เพื่อเป็นสิ่งที่สามารถตอบคำถามในสิ่งที่ต้องการแสวงหาคำตอบได้ และสามารถเป็นเหตุผลในการปลอบขวัญและให้กำลังใจในความกลัวของมนุษย์

กิ่งแก้ว อัตถากร (2519) ได้ประมวลความเชื่อต่าง ๆ และจัดประเภทไว้ดังนี้

  1. ความเชื่อบุคคล เช่น การตั้งชื่อ วิญญาณ การตายแล้วเกิดใหม่ในรูปต่าง ๆ ตามผลกรรม การเข้าทรง การเผาตัว
  2. ความเชื่อสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ เช่น ขวานฟ้า ลายแทง ลางสังหรณ์ ปรอททำให้เหาะได้ เป็นต้น
  3. ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น แห่นางแมวขอฝน เทพเจ้า เสน่ห์ยาแฝดยาสั่ง เวทมนต์คาถา พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น
  4. ความเชื่อเรื่องเพศ เช่น หญิงสาวที่มีทรวงอกใหญ่ แสดงว่า มีความรู้สึกทางเพศ หรือกามารมณ์มาก ถ้าพ่อเป็นคนเจ้าชู้ ลูกชายก็มักจะเป็นคนเจ้าชู้เหมือนพ่อ
  5. ความเชื่อเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพ เช่น เป็นฝี ห้ามกินข้าวเหนียว คนที่ถูกงูแสงอาทิตย์กัดถ้าเห็นแสงอาทิตย์เมื่อไรจะตาย คนที่มีหูยาน(ยาว) จะเป็นคนที่มีอายุยืน
  6. ความเชื่อเรื่องฤกษ์ โชค ลาง เช่น คนที่เกิดวันเสาร์เป็นคนใจแข็ง จิ้งจกทัก เป็นต้น
  7. ความเชื่อเรื่องความฝัน เช่น ฝันเห็นงู หรืองูกัด ฝันเห็นนกยูง ทำนายความฝันตามวัน
  8. ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ไสยศาสตร์ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด กุมารทอง นางกวัก เขี้ยวหมูตัน เป็นต้น
  9. ความเชื่อเรื่องภูติปีศาจ วิญญาณ เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีฟ้า ผีกระสือกระหัง เป็นต้น
  10. ความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์
  11. ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ หมอดู เช่น วันห้ามประกอบการมงคล วันมงคล ฤกษ์ ชะตาชีวิตเกี่ยวกับเทวดาทางโหร เป็นต้น

บุปผา ทวีสุข (2526) รูปแบบความเชื่อเป็นความเชื่อที่มีเหตุผลและความเชื่อที่ไร้เหตุผล สามารถแบ่งได้เป็น 15 ประเภท คือ

  1. ความเชื่อที่เกี่ยวกับการเกิดตาย เช่น
    • ถ้าแมวดำกระโดดข้ามศพ ถือว่า ศพนั้นจะฟื้นขึ้นมาหลอก
    • เวลาไปเผาศพ ให้ล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน
    • หญิงท้องแก่ไม่ให้ไปงานศพ ฯลฯ
  2. ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง เช่น
    • เวลาออกจากบ้าน ถ้าจิ้งจกร้อง ไม่ให้ออกไปเพราะเป็นลางร้าย
    • ถ้าเขม่นตาขวาจะเกิดลางร้าย ถ้าเขม่นตาซ้ายจะได้ลาภ
    • ถ้านกแร้งเกาะบ้านใคร จะเกิดความวิบัติ ฯลฯ
  3. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝันและการทำนายฝัน เช่น
    • ฝันว่า ฟันหัก แสดงว่า ญาติพี่น้องพ่อแม่จะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
    • ฝันว่า ได้แหวนหรือได้สร้อย จะได้ลูก
    • ฝันว่า เหาะหรือหายตัวได้ เชื่อว่า จะมีโชคลาภ ฯลฯ
  4. ความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์ ยาม
    • ฤกษ์ คือ เวลาที่เหมาะเป็นชัยมงคล
    • ยาม คือ ส่วนแห่งวันที่ดี และร้าย เช่น
      • วันขึ้น 1 ค่ำ ทำการมงคลดีมีลาภ
      • การปลูกเรือน ควรเป็นวันจันทร์ วันพุธหรือวันพฤหัสบดีนักแล ฯลฯ
  5. เวทมนต์คาถา เครื่องราง ของขลัง เสน่ห์และไสยศาสตร์อื่น ๆ เช่น
    • การเสกแป้งผัดหน้า หรือขี้ผึ้งทาปาก ทำให้เกิดเสน่ห์มหานิยม
    • การสักลงคาถาตามตัว ช่วยให้เหนียว
    • การทำเสน่ห์ โดยใช้น้ำเหลืองที่รนจากคางผีตายทั้งกลม
  6. การดูลักษณะดี ชั่ว ของคนสัตว์ต่าง ๆ เช่น
    • หญิงใดหน้าผากงอก มีสติปัญญามาก
    • หญิงใดมีนิ้วตีนยาว และหัวนมยาว จะเข็ญใจได้ทุกข์แล
    • หญิงใดมีขอบตาแดง และหนังตาย่น จะชนะศัตรู
    • หญิงใดมีไฝใต้นม เป็นมหาเสน่ห์ดีนัก มักมีคนใกล้ไกลนำเอาลาภมาให้ ฯลฯ
  7. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทวดา เทพารักษ์ เจ้าพ่อ เจ้าที่ เจ้าแม่ มนุษย์ต่าง ๆ ผี ยักษ์ เปรต คนธรรพ์ ผีเสื้อสมุทร เงือก ฯลฯ เช่น
    • ผีปอบ เป็นผีที่เข้าสิงในร่างกายคน จะแย่งอาหารและกินตับไตไส้พุง ผู้ถูกผีปอบเข้าสิงจะผอมลง ๆ ไม่สู้ตาคน ถ้ารดน้ำมนต์ก็จะตายทันที เชื่อกันว่า เหลือเป็นซากกระดูก เท่านั้น หรือถ้าไม่รดน้ำนมต์ในที่สุดก็ตาย
    • ผีตานี เป็นผีผู้หญิงสิงอยู่ที่กล้วยตานี ผู้ใดโชคร้าน หรือดวงชะตาอ่อนก็จะพบเห็น ดังนั้น จึงไม่นิยมปลูกกล้วยตานีไว้ในบ้าน
    • เงือก เป็นผู้หญิงครึ่งคนครึ่งมัจฉา ท่อนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเป็นหญิงไว้ผมยาวสยาย คนโบราณเชื่อว่า อยู่ในน้ำ และมีผู้เห็นเงือกขึ้นมานั่งสยายผม ฯลฯ
  8. เคล็ดและการแก้เคล็ดต่าง ๆ
    • เรื่องของเคล็ดเป็นการแก้เหตุการณ์ร้ายที่จะเกิดในอนาคต หรือเป็นการสร้างเหตุการณ์ขึ้นเพื่อให้เกิดกำลังใจ เป็นการสร้างโดยนัยและต้องแก้ไข เช่น การเอาเคล็ด โดยทำบุญด้วยเงินที่ขึ้นต้นและลงท้ายด้วย 9 เพื่อเอาเคล็ดเรื่องเสียงว่า เก้า – ก้าวหน้า เป็นต้น
  9. มงคลและอัปมงคล
    • มงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
    • อัปมงคล คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับมงคล เช่น สิ่งที่ตรงกันข้ามกับมงคล เช่น
      • วันแต่งงาน ห้ามเจ้าสาวเหยียบธรณีประตู จะเป็นอัปมงคล
      • ถ้าจะเดินทางไปข้างไหน ท้องฟ้าแจ่มใส ดอกไม้บานหอมรวยริน เชื่อว่า เป็นมงคล (มงคลนิมิต)
  10. ความเชื่อเกี่ยวกับจำนวนนับ จำนวนเลขต่าง ๆ เช่น
    • ทำงานมงคลให้นิมนต์พระเลขคี่
    • ถ้าสวดศพ นิมนต์พระจำนวน 4 องค์
    • โจรห้าร้อย บ้าห้าร้อย
    • พระเจ้า 5 พระองค์ ฯลฯ
  11. ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น
    • ถ้ามดแดงคาบไข่จากรัง แสดงว่า ฝนจะตกหนัก
    • ถ้าท้องฟ้าสีแดงจะมีพายุ
    • ฟ้าร้อง คือ เมฆเขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน ฯลฯ
  12. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องยากลางบ้าน เช่น
    • คนป่วยห้ามกินกล้วยน้ำว้าหรือฝรั่งเพราะจะแสลง
    • ถ้าสุนัขบ้าเอาน้ำมะพร้าวให้กินจะตาย
    • คนมีประจำเดือนห้ามกินน้ำมะพร้าว ฯลฯ
  13. ความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ ชาติใหม่ ภพใหม่ เช่น
    • ให้ตักบาตรร่วมขันจะพบกันชาติหน้า
    • คนเราทำความดีไว้มากจะได้ขึ้นสวรรค์
    • ถ้าอยากกินดิน ท่านว่า พระพรหมลงมาเกิด ฯลฯ
  14. ความเชื่อเกี่ยวกับอาชีพ เช่น
    • ก่อนทำนาต้องเลี้ยงผีตาแฮกเสียก่อน จะทำให้ได้ข้าวมาก
    • คนใจร้อนปลูกพริก พริกจะเผ้ดกว่าคนใจเย็นปลูก
    • ถ้าต้องการให้มะละกอเป็นตัวเมียให้เอาผ้าถุงไปพันรอบโคนต้น ฯลฯ
  15. เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่นอกไปจากดังกล่าวทั้ง 14 ข้อ เช่น
    • ห้ามเล่นข้าวสาร มือจะด่าง
    • ขี่หมาแล้วฟ้าจะผ่า
    • ร้องเพลงในครัว มีผัวแก่ เป็นต้น

จิราภรณ์ ภัทราภานุภัทร (2528) แบ่งคติความเชื่อของคนไทยออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

  1. ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้แก่ ความเชื่อถือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่สามารถอธิบายได้ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดโลกและจักรวาลและสรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
  2. ความเชื่อเรื่องการเกิด การตาย และช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต
  3. ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการนับถือผี
  4. ความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับศาสนา
  5. ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนที่จะมีการนับถือพุทธศาสนา
  6. ความเชื่อเกี่ยวกับครัวเรือน และที่อยู่อาศัย ได้แก่ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน เช่น เตาไฟ เชื่อว่า มีผีประจำอยู่ ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารการกิน หรือความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ตั้งบ้านเรือง และการก่อสร้างบ้านเรือน เป็นต้น
  7. ความเชื่อที่เกี่ยวกับอาชีพ เช่น อาชีพนักมวยต้องมีการไหว้ครูทุกครั้งที่ขึ้นชก เป็นต้น
  8. ความเชื่อซึ่งเป็นลักษณะผสมผสานของความเชื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ ขนิษฐา จิตชินะกุล (2545) ได้แบ่งประเภทของความเชื่อ ดังนี้

  1. ความเชื่อเรื่องบุคคล
  2. ความเรื่องผีสางเทวดา
  3. ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลัง
  4. ความเชื่อเรื่องโชคลาง
  5. ความเชื่อเรื่องความฝันและการทำนายฝัน
  6. ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์
  7. ความเชื่อเรื่องยากลางบ้าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *