คงกระพัน คงกระพันชาตรี อยู่ยงคงกระพัน หมายถึง หนังเหนียว ยิง ฟัน แทงไม่เข้า ตีไม่แตก

ที่มาของสำนวนมาจากความเชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ของวัตถุหรือเวทมนต์คาถาที่ทำให้ร่างกายของผู้นั้นมีความคงทนหรือทนทานต่ออาวุธนานาชนิด อาวุธไม่สามารถทำอันตรายได้เลย หรือที่เรียกกันว่า หนังเหนียว ได้แก่ ยิงไม่เข้า ฟันหรือแทงไม่เข้าและตีไม่แตก ยิงไม่เข้า คือ ลูกปืนถูกผิวหนังแต่ไม่ทะลุเข้าไปในร่างกาย ยิงไม่ออก คือ ปืนไม่สามารถยิงได้ ถ้าเล็งปืนมาแล้วลั่นไก ลูกปืนจะไม่ออกมาจากลำกล้องปืนกลายเป็นลูกปืนด้านไปหมด ปันแทงไม่เข้า คือ ฟันหรือแทงด้วยของมีคม เช่น มีด ดาบ ไม่ระคายผิวหนัง ตีไม่แตก คือ ตามปกติศีรษะของคนนั้นถ้าโดนตีด้วยไม้หรือของแข็งศีรษะก็จะแตกเลือดไหลอาบ แต่ถ้าคนที่เรียกว่า “หนังเหนียว” ไม่ว่าจะตีดด้วยอาวุธชนิดใดก็จะไม่แตก จิตใส อยู่สุขี ได้อธิบายถึงคงกระพันกับชาตรี ในงานวิจัยเรื่องการศึกษาความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทยจากเอกสารสมัยอยุธยาไว้ว่า “คงกระพัน” เป็นวิชาป้องกันตัวในสมัยโบราณวิชาหนึ่ง เป็นวิชาที่ทำให้คงทนต่ออาวุธทั้งปวงหรืออาวุธทั้งปวงไม่สามารถทำอันตรายได้ วิธีที่จะให้คงกระพันมีต่าง ๆ กัน เช่น เสกของกิน เรียกว่า อาพัด ได้แก่ การอาพัดเหล้า อาพัดหมาก อาพัดขมิ้น อาพัดว่านต่าง ๆ การอาบว่านยา เสกน้ำมันทาตัว เรียกน้ำมันเข้าตัว และการใช้เครื่องรางของขลังต่าง ๆ เช่น ตะกรุด พิสมร ประเจียด เสื้อยันต์ (จิตใส อยู่สุขี, 2539) ส่วนชาตรี เป็นวิชาป้องกันตัวอีกแขนงหนึ่ง คล้ายกับวิชาคงกระพันต่างกันตรงที่วิชาคงกระพันถึงจะถูกอาวุธไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ก็ได้รับความเจ็บปวด วิชาชาตรีนี้ ถูกอาวุธ จะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ของหรืออาวุธต่าง ๆ ที่มากระทบตัวจะมีน้ำหนักเบาไปหมด ผู้มีวิชาชาตรีสามารถจะทำให้ตัวเบาและกระโดดได้สูง ๆ อาวุธที่จะมีอันตรายแก่ผู้มีวิชาชาตรีนั้นก็เป็นอาวุธเบา ๆ เช่น ไม้อ้อ ไม้ระกำ ไม้โสน (จิตใส อยู่สุขี, 2539) ส่วนอุดม เชยกีวงศ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับอยู่ยงคงกระพัน ในหนังสือประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นไทย ไว้ว่า อยู่ยงคงกระพัน หมายถึง การที่เนื้อ หนัง กระดูก คงทน ตี ฟัน แทง ยิงไม่เข้า ไม่แตก ไม่หัก บางคนไม่บวม ไม่ช้ำ และไม่เจ็บอีกด้วย ลักษณะคงกระพันนี้ ถ้ายิงไม่ออกเรียกว่า มหาอุด ถ้าเงือดเงื้อแล้วทำไม่ลงเหมือนมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบังคับ เรียกว่า จังงัง เช่น เวทมนตร์คาถา พระเครื่อง หรือเครื่องรางที่ทำขึ้น ได้แก่ ตะกรุด พิสมร ผ้าประเจียด หมากเสก ชานหมาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิฤทธิ์ทำให้ผู้ที่จะมาทำร้ายจังงังได้ (อุดม เชยกีวงศ์, 2545) ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้กล่าวถึง การอยู่ยงคงกระพันไว้เช่นกัน ในตอนที่พวกโจรฆ่าขุนศรีวิชัย ซึ่งพวกโจรที่มาปล้นบ้านของขุนศรีวิชัยนั้น ได้ต่อสู้กับขุนศรีวิชัยแต่อาวุธใด ๆ ก็ไม่สามารถทำร้ายขุนศรีวิชัยได้ เพราะขุนศรีวิชัยมีวิชาคงกระพันชาตรี จนในที่สุด ต้องฆ่าโดยการเอาหลาวแทงทางทวารจึงเสียชีวิต ดังคำประพันธ์

พวกอ้ายขโมยพร้อมล้อมจับตัว เอาดาบสับหัวหาเข้าไม่

ผูกคอแทงผึงตึงตึงไป ดังว่า แทงขอนไม้ไม่เข้ามัน

เอาดาบฟันผ่าลงบ่าฉับ เยินยับหักร้นไปจนกั่น

ขโมยว่า อ้ายนี่มันดีครัน หอกดาบหักสะบั้นยับเยินไป

จึงมัดตีนคุดคู้ดังหมูปิ้ง ทั้งแทงทั้งยิงหาเข้าไม่

อ้ายขโมยอิดหนาระอาใจ นี่จะทำอย่างไรพอได้คิด

จึงเอาหลาวตำรูทวารไป ขุนศรีวิชัยก็ดับจิต (ขุนช้างขุนแผน, 2514)

หรือตอนที่กล่าวถึงนายจันศร ซึ่งเห็นหัวหน้าโจรและได้นำโจรมาปล้นบ้านของขุนศรีวิชัย นายจันศร เป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพันเช่นกัน ดังคำประพันธ์

ทีนี้จะกล่าวถึงนายจันศร กล้าหาญมาแต่ก่อนดังราชสีห์

อาจองคงพระพันชาตรี เคหาอยู่ที่บ้านโป่งแดง

เพื่อนชำนิชำนาญในการปล้น รุกร้นโห่ฉาวเกรียวกราวแย่ง

เที่ยวตีเรือเหนือใต้ได้พอแรง คบพวกเมืองกำแพงไว้พร้อมกัน

ตั้งกระพอกจอกจานชานกินเหล้า อ้ายขโมยครั้นเมาก็จ้าละหวั่น

ฟันแทงกันเล่นไม่เว้นวัน ด้วยอยู่ยงคงกระพันไม่พรั่นพรึง (ขุนช้างขุนแผน, 2514)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *