สำนวนที่สะท้อนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา ไสยศาสตร์

เวทมนตร์

เวทมนต์ หมายถึง ถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นเป็นมนต์หรือคาถาอาคม เมื่อนำมาเสกเป่าหรือบริการรมตามลัทธิวิธีที่มีกำหนดไว้ สามารถให้ร้ายหรือดีหรือป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตามคติไสยศาสตร์ได้ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542) สำนวนที่สะท้อนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา ได้แก่

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ เอาด้วยคาถา หมายถึง ทำอย่างหนึ่งไม่สำเร็จ ก็ต้องหาทางทำอย่างอื่นต่อไปอีก

ที่มาของสำนวน เล่ห์ หมายถึง เล่ห์เหลี่ยม วิธีการที่ได้มาโดยไม่ซื่อตรง กล หมายถึง กลอุบาย วิธีการอันแยบยล เป็นกลโกง ไม่ได้ด้วยเล่ห์ เอาด้วยกล คือ ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการมาด้วยเล่ห์เหลี่ยมวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วก็จะเปลี่ยนวิธีมาใช้กลอุบายต่าง ๆ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ส่วนคำว่า “มนต์และคาถา” คือ บทบริกรรมหรือบทท่องสวดของวิชาทางไสยศาสตร์เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามที่ต้องการ ไม่ได้ด้วยมนต์ เอาด้วยคาถา หมายถึง เมื่อสิ่งนั้นใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายแล้วก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จจึงต้องใช้วิธีทางไสยศาสตร์เข้ามาช่วยด้วยการใช้มนต์หรือคาถาเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนานั้นสัมฤทธิ์ผลหรือประสบผลสำเร็จ ในเรื่อง “คาวี” เมื่อท้าวสันนุราชเกี้ยวนางจันท์สุดาไม่เป็นผลสำเร็จ จึงใช้วิธีการทำเสน่ห์เล่ห์กลแทน ดังคำประพันธ์

คิดถึงนงเยาวเศร้าเสียดาย มุ่งหมายจะชมไม่สมคะเน

จำจะคิดแยบคายสายสน หาหมอรู้เวทมนตร์ทำเสน่ห์

แก้ไขใช้ทางอุปเท่ห์ มิได้ด้วยเล่ห์เอาด้วยกล

ทีนี้โฉมยงคงรักใคร่ เห็นจะไม่โกรธาบ้าบ่น

ด้วยเดชะฤทธิ์เดชเวทมนตร์ อันจะพ้นมือพี่อย่าสงกา (คาวี, 2545)

ไสยศาสตร์

ไสยศาสตร์ หมายถึง ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนต์คาถา ซึ่งเชื่อว่า ได้มาจากพราหมณ์ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน, 2542) ดังนั้น ไสยศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์ที่มีอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ มีการใช้เวทมนตร์หรือพิธีกรรมเพื่อให้ดีหรือร้าย ให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้ เช่น การปลุกผี การทำเสน่ห์ สำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านไสยศาสตร์ ได้แก่

โดนของ หมายถึง ถูกทำร้ายโดยผู้ทำร้ายใช้เวทมนตร์ต่าง ๆ

สำนวนนี้มีที่มาจากความเชื่อด้านไสยศาสตร์ว่า ผู้ที่มีวิชาทางด้านไสยเวทย์สามารถทำร้ายผู้อื่นได้โดยการใช้เวทมนตร์ต่าง ๆ เช่น เสกตะปูเข้าท้อง เสกหนังควายเข้าท้อง โดนเสน่ห์ยาแฝดหรือน้ำมันพราย เป็นต้น ในสมัยก่อนการปล่อยของอาคมให้ไปถูกผู้อื่น เรียกว่า “การปล่อยคุณไสย” ผู้ที่ถูกทำคุณไสยหรือโดนของ หน้าตาจะหมองคล้ำไม่สดใส ถ้าหาหมอผู้มีอาคมแก่กล้ามารักษาไม่ทันก็มักจะตายอย่างทรมาน การถูกคุณไสยหรือโดนของมี 2 ลักษณะซึ่งสะอาด รอดคง ได้อธิบายไว้ว่า ลักษณะแรกถูกโดยความตั้งใจจากคนที่เป็นศัตรูปล่อยมา กับลักษณะที่สองถูกแบบไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่า “ลมแพลมพัด” ไม่เฉพาะเจาะจงแต่เป็นคราวเคราะห์ร้ายหรือโชคร้ายของผู้นั้น เนื่องจาก เชื่อกันว่า ผู้ที่เรียนวิชาทางด้านไสยศาสตร์นั้น มักจะร้อนวิชาอยู่เสมอ หากไม่มีใครมาว่าจ้างให้ทำ ก็จะต้องทำเองเพื่อเป็นการฝึกฝนทบทวนวิชา จึงต้องปล่อยคุณไสยออกไปทุก 7 วันหรือ 15 วัน สำหรับวัตถุที่นำมาปล่อยให้เข้าไปเข้าไปอยู่ร่างกายของผู้อื่นนั้น จะมีทั้งหนังควายแห้ง ตะปู ก้อนเนื้อวัว หรือปอยผมผู้หญิง โดยผู้ที่มีอาคมนั้นจะนำวัตถุชนิดนั้นมาบริกรรมคาถาปลุกเสกในเวลากลางคืนให้วัตถุนั้นมีขนาดเล็กลง แล้วจะหยิบวัตถุนั้นขึ้นมา กลั้นใจแล้วดีดด้วยมือออกไปตรงหน้า ด้วยอำนาจเวทมนตร์ของที่ถูกปล่อยออกไปจะเข้าไปในร่างกายของผู้ที่เราต้องการให้ถูกคุณไสย ผู้ที่ถูกคุณไสยหรือโดนของก็จะเจ็บปวดทรมานเพราะของเหล่านี้เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะค่อย ๆ คืนกลับเป็นสภาพเดิม มีขนาดเท่าสภาพเดิม การปล่อยคุณไสยหรือปล่อยของนั้น หากฝ่ายตรงข้ามมีอาคมสูงกว่า ของที่ปล่อยไปนั้นอาจกลับมาเข้าสู่ตัวผู้ปล่อยเองได้ (สะอาด รอดคง, 2535) ในเรื่องสังข์ทอง เมื่อนางจันทาทำเสน่ห์แก่ท้าวสามนต์ ทำให้ท้าวสามนต์นั้นมีลักษณะอาการผิดไปจากเดิม หน้าตาก็หม่นหมองไม่ผ่องใส ดังคำประพันธ์

เมื่อนั้น ภูวดลหม่นหมองไม่ผ่องใส

คุณยาอาคมระดมใจ ร้อนรนพระทัยดังไฟลาม

อยู่ในไสยาสน์อาสน์อ่อน ดังนอนที่ฟากขวากหนาม (สังข์ทอง, 2545)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *