การดูแลผู้ป่วย การใช้ระยะเวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณค่า

การดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ระยะเวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยอาศัยทฤษฎีของวัตสัน 10 ประการ[i] สามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้

1. สร้างระบบค่านิยมการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น และมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์/ปลูกฝังการปฏิบัติด้วยรักความเมตตา และมีจิตใจที่สงบมั่นคงทั้งกับตนเองและผู้อื่น ให้เสมือนเป็นพื้นฐานของความรักที่มีสติ ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องหมั่นสำรวจความคิด ความเชื่อของตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว พึงพอใจในการเป็นผู้ให้ เน้นการให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่กันและกัน มีความเมตตา เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น โดยตระหนักว่า ผู้ป่วยแต่ละคนต่างก็มีมุมมองของชีวิตที่แตกต่างกัน มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อชีวิต และความเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน อันเกิดจากค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และปรัชญาชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยบางรายสามารถยอมรับความจริงได้ แต่บางรายไม่อาจยอมรับได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรยึดมั่นในค่านิยมเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น และมีความเมตตาผู้ป่วยไม่ว่า ผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพน่ารังเกียจสักเพียงใด มีความอดทน และเพียรรอคอยเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ค้นพบตนเอง และยอมรับต่อสภาพของตนตามที่เป็นจริง ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า มีใครสักคนอยู่กับเขาเสมอ ดูแลเอาใจใส่อย่างจริงใจ เสียลสะโดยไม่หวังผลตอบแทน ปฏิบัติสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทันที โดยคำนึงอยู่เสมอว่า ผู้ป่วย คือ เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและความรัก

2. สร้างความศรัทธาและความหวัง/มีชีวิตอยู่กับความจริง สร้างความหวังและศรัทธาที่เป็นไปได้และเชื่อในความเป็นไปแห่งอัตวิสัยของชีวิตบนโลก ทั้งของตนเองและผู้อื่น ผู้ดูแลผู้ป่วย คือ ผู้ที่เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ที่ต้องมีทั้งความสุขและความทุกข์ ชีวิตอยู่ได้ด้วยพลังของศรัทธาและความหวัง เปรียบเสมือนอำนาจที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และมีความเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับความทุกข์ ผู้ดูแลที่คงไว้ซึ่งความศรัทธาและความหวังในชีวิตจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีความศรัทธาและความหวังในการดำรงชีวิตตามสภาพที่เป็นจริงของตน แต่ก่อนเราเชื่อว่า ยาเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้หายโรค แต่ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เริ่มมีความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติว่า อิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วย และได้พิสูจน์กันจนเป็นที่ยอมรับ เช่น การทำสมาธิ การฝึกสติ การทำจิตบำบัด เทคนิคการให้คำปรึกษา พฤติกรรมบำบัด เป็นต้น และเนื่องจาก ความศรัทธาความหวังเป็นกระบวนการที่ไม่เคยสิ้นสุด แม้หมดหวังไปแล้วก็ยังสามารถสร้างความหวังใหม่ได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรปลูกฝังความหวังให้กับผู้ป่วยอยู่เสมอ พร้อมควรเป็นความหวังที่เห็นเป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้ ส่วนความศรัทธาในศาสนานั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยควรประเมินดูว่า ผู้ป่วยมีความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตอย่างไร สัมพันธ์กับความศรัทธาที่มีต่อศาสนาหรือไม่ ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรจะให้ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกวิธีการสร้างศรัทธาและความหวัง ความเชื่อของเขา

3. ปลูกฝังความไวต่อความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น/ปลูกฝังการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ และการหลอมรวมตนเองให้ก้าวพ้นอัตตาแห่งตน ผู้ดูแลผู้ป่วยควรเป็นผู้ที่รู้จักความรู้สึกของตนเองและไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ส่งเสริมให้มีการระบายความรู้สึกออกมาอย่างที่เปิดเผย อันเป็นพฤติกรรมที่สำคัญเพื่อก้าวพ้นอัตตาแห่งตน และช่วยให้การดูแลประสบความสำเร็จ หนทางที่ผู้ดูแลผู้ป่วยทุกคนจะพัฒนาให้ตนเองมีพฤติกรรมที่ไวต่อความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น คือ การรู้ตัวอยู่เสมอถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนในขณะนั้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การมองเข้าไปในตนเอง และรับรู้ตนเองตามสภาพที่เป็นจริง ผู้ดูแลที่มีการพัฒนาตนเองให้ไวต่อการรับรู้ตนเอง จะสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เข้าใจการมองโลก เข้าใจวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของผู้ป่วยที่อาจแตกต่างกัน ถ้าหากผู้ดูแลไม่มีพฤติกรรมการดูแลตามลักษณะดังกล่าว การดูแลนั้นก็ประสบกับความล้มเหลวได้มาก ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยควรตื่นตัวอยู่เสมอต่อความรู้สึกของตัวเองที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วย เพื่อจะได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้ป่วย และนำไปใช้ประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วย

4. สร้างสัมพันธภาพการช่วยเหลืออย่างไว้วางใจ/สร้างสัมพันธภาพ คงไว้ซึ่งสัมพันธภาพแห่งการช่วยเหลืออย่างไว้วางใจ เพื่อการดูแล ผู้ดูแลต้องสร้างให้เกิดความไว้วางใจระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย โดยการให้การเกื้อหนุนดูแล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความรู้สึกอบอุ่น โดยอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความเข้ากันได้ระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย ความเห็นอกเห็นใจและความอบอุ่นใจ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างสัมพันธภาพในการช่วยเหลือและไว้วางใจซึ่งกันและกัน

5. ส่งเสริมและยอมรับความรู้สึกทางบวกและทางลบ ส่งเสริมให้มีการแสดงความรู้สึกออกมาทั้งทางบวกและลบ แลกเปลี่ยนความรู้สึก และเตรียมตัวเองเพื่อรับความรู้สึกทั้งในทางบวก/ลบ อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นศูนย์กลางของบทบาทในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลควรได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบ สำหรับปัจจัยการดูแลประการนี้จึงมุ่งไปที่ความรู้สึกของผู้ดูแล เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ดูแลมักมีพฤติกรรมปกป้องความรู้สึกตน โดยเฉพาะความรู้สึกทางด้านลบ ซึ่งผู้ดูแลจะปกปิดไว้เพื่อก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีกับตนเอง แต่พฤติกรรมดังกล่าว นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งของสัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย เพราะพฤติกรรมที่ผู้ดูแลแสดงออกไม่ใช่ความจริง ขาดความจริงใจ แต่ถ้าผู้ดูแลสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ ผู้ดูแลจะค่อย ๆ พัฒนาในการรู้จักตนเอง และยอมรับตนเองตามที่เป็นจริง ผู้ดูแลที่สามารถยอมรับตนเองได้ทั้งทางบวกและลบจะมีใจเปิดกว้างในการยอมรับความรู้สึกของผู้ป่วยทั้งทางบวกและลบได้เช่นกัน

6. ใช้วิธีการแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เพื่อการตัดสินใจและทุกวิถีแห่งความรู้ ให้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแล เชื่อมต่อกับความสามารถทางศิลปะแห่งการดูแลด้วยความรัก การนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบัน พบว่า กระบวนการพยาบาลเป็นองค์ประกอบหลักของการศึกษาและการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบและอย่างต่อเนื่อง การนำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ผู้ดูแลควรอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเริ่มจากการประเมินปัญหา ทั้งทางด้านร่างกาย จิตสังคม และจิตวิญญาณ ผู้ดูแลจึงต้องรู้จักประเมินโดยการถาม พูดคุยและสังเกต ทั้งจากตัวผู้ป่วยและตัวผู้ดูแล เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมทั้งองค์รวมของผู้ป่วย และนำมาวางแผนในการดูแล โดยนำข้อมูลและปรากฏการณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนให้มากที่สุด โดยพาะข้อมูลด้านจิตสังคม ความเชื่อ และความผูกพันทางใจของผู้ป่วย ซึ่งเป็นแหล่งของความหวังและกำลังใจสำหรับผู้ป่วย เพราะการใช้ข้อมูลด้านร่างกายอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย หลังจากนั้น จึงนำแผนที่ได้วางไว้มาปฏิบัติและประเมินผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

7. ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เข้าถึงจิตใจผู้อื่น ส่งเสริมการสอน การเรียนรู้ประสบการณ์ ระหว่างกันของผู้ดูแลและผู้ป่วย ให้ความสนใจกับความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตและความหมายแบบอัตวิสัย ให้ความใส่ใจและอยู่กับกรอบอ้างอิงของผู้อื่น การให้ข้อมูลข่าวสารเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ดูแลในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ยังมีอะไรที่มากไปกว่านั้น ประสบการณ์ของผู้ป่วย คือ สิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผู้ดูแลจึงต้องอยู่ทั้งในบทบาทของผู้เรียนและผู้สอน เพื่อที่จะทราบปัญหาของผู้ป่วย ทั้งโดยการสังเกตและเรียนรู้จากผู้ป่วย โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึกร่วมในสถานการณ์ของผู้ป่วย ผู้ดูแลที่มีส่วนรับรู้ในความรู้สึกของผู้ป่วยจะทราบว่า ควรสอนและบอกผู้ป่วยอย่างไร และเวลาใดที่จะเหมาะสม เพื่อลดความวิตกกังวลจากความไม่แน่นอนของโรคและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสมดุล คือ รับรู้ต่อเหตุการณ์ สามารถประคับประคองสถานการณ์ มีกลไกในการเผชิญกับปัญหา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถเผชิญกับความเครียด อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยได้ นอกจากนั้น ผู้ดูแลไม่ควรปิดบังความจริงของผู้ป่วย แม้การปิดบังความจริงอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในผู้ป่วยบางรายและในบางเวลา แต่ถึงอย่างไร ผู้ป่วยจะสามารถรับรู้ความจริงได้เอง จากการสังเกตุพฤติกรรมของบุคคลรอบข้าง การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและวิธีการรักษา การไม่ปิดบังความจริงต่อกันทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสดำรงชีวิตตามแบบแผนที่ต้องการได้

8. ประคับประคอง สนับสนุน และแก้ไขสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ จิตสังคม และจิตวิญญาณ สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมแห่งการบำบัด สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งที่ช่วยการป้องกัน การประคับประคอง แก้ไขปัญหาด้านกายภาพ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม และวิญญาณ ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องประเมินและเอื้ออำนวยความสามารถปรับตัวของผู้ป่วยเพื่อให้ประคับประคองความสมดุลของสุขภาพ ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม เป็นปัจจัยที่ทำหน้าที่ในส่วนภายนอกของบุคคล ส่วนจิตใจและจิตวิญญาณเป็นปัจจัยที่ทำหน้าที่ภายในบุคคล สิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอก มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการการดำรงชีวิตและการฟื้นหายของผู้ป่วย เช่น ประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย สภาพแวดล้อมในบ้าน หอผู้ป่วย ระบบสังคม ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม การสนับสนุนของผู้ดูแล ครอบครัว ญาติมิตร รวมทั้งบุคลากรในทีมสุขภาพ เป็นต้น การจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย สะอาด ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว มีอิทธิพลต่อความสุขของผู้ป่วย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตนเองยังมีคุณค่า มีอัตมโนทัศน์ในทางที่ดีต่อตนเอง อันเนื่องมาจากการเอาใจใส่ประคับประคองดูแล สิ่งที่ผู้ดูแลควรปฏิบัติ ได้แก่ ลดสิ่งรบกวน หรือสิ่งกระตุ้นภายนอก สนใจท่านอน ลักษณะของเตียง และจัดสิ่งของให้ผู้ป่วยหยิบใช้สะดวก บรรเทาความไม่สุขสบายต่าง ๆ เช่น การประคบร้อนเย็น การทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ยาบรรเทาปวด พาไปสัมผัสธรรมชาติ สนทนากับผู้ป่วยอื่น ฟังดนตรี เป็นต้น จัดสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสัดส่วน ให้เวลาและความเป็นส่วนตัวในการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ป่วย ให้เวลาในการอยู่กับครอบครัว หรือในการผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ป่วย ป้องกันและกำจัดสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยทั้งในด้านเทคนิค เครื่องมือเครื่องใช้และสภาพจิตใจของผู้ป่วย เช่น อุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์การดูแลรักษา และการติดเชื้อในโรงพยาบาล

9. ความพึงพอใจที่จะช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลอื่น ช่วยเหลือโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของบุคคล ผู้ดูแลต้องตอบสนองความต้องการทุกด้าน โดยเริ่มจากความต้องการระดับพื้นฐานก่อน และค่อย ๆ เพิ่มความต้องการที่สูงขึ้น จากความต้องการทางชีวภาพ ทางกาย – จิต  ทางจิต – สังคม และทางด้านสัมพันธภาพภายในระหว่างบุคคล ไปจนถึงความต้องการด้านการยอมรับ เพราะความต้องการเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์เสมอมา ไม่มีที่สิ้นสุดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่พยายามให้บรรลุถึงความต้องการนั้น ความต้องการของผู้ป่วยก็เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ว่าผู้ป่วยต้องการการดูแลด้านจิตใจอย่างมาก และมีความด้านจิตวิญญาณสูง การให้ผู้ป่วยได้สมหวังในชีวิตโดยการตอบสนองความต้องการอย่างดีที่สุดในสิ่งที่เป็นไปได้ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความสุข และพัฒนาการเจริญเติบโตภายในให้มีความกลมกลืนกับผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และจากไปอย่างสงบ สิ่งที่ผู้ดูแลควรปฏิบัติ ได้แก่ ตอบสนองความต้องการทางด้านชีวภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตสรีระ เพื่อให้ผู้ป่วยคงไว้ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของร่างกาย ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า ตอบสนองความต้องการทั้งภายในบุคคลและความต้องการที่ต้องหลอมรวมกันของคนสองคน เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีพลังภายในตน โดยการตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณ การผูกพันทางใจกับโรคจักรวาลกับผู้อื่น และกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ

10. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น – พลังที่มีอยู่ เปิดรับพลังทางจิตวิญญาณ สิ่งลึกลับและยังไม่มีคำอธิบายอันเกี่ยวกับการมีชีวิต ความตาย ปัจจัยการดูแลและกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแลข้อนี้ ถือว่า เป็นสิ่งสำคัญและเข้าใจยากที่สุด ทั้งนี้ เพราะศาสตร์สมัยใหม่ไม่สามารถให้คำตอบได้ถึงความสำคัญของชีวิตและการเสียชีวิต เพราะการมีชีวิตไม่ใช่เพียงการอยู่และแก้ไขปัญหา หากแต่การมีชีวิตยังเป็นความลึกลับซับซ้อนที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ด้วยความมีสติแห่งความรัก ต้องยอมรับในปาฏิหาริย์ ผู้ป่วยมักมีความสับสน วิตกกังวลต่อสภาพที่ต้องมีชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ความเจ็บป่วยที่ประสบกับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้ป่วยไขว่คว้าที่จะค้นหาความหมายของชีวิต ถ้าไม่ได้รับการดูแลประคับประคองที่ดี ผู้ป่วยมักจะปฏิเสธความเจ็บป่วย พลังจิตวิญญาณเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้บุคคลสามารถเข้าใจความหมายของชีวิตตามสถานภาพของการเป็นมนุษย์ที่ต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องประสบกับความตาย ผู้ดูแลเป็นแหล่งที่มีคุณภาพและเป็นความแข็งแกร่งสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ผู้ดูแลจึงต้องค้นหาความหมายของชีวิตจากประสบการณ์ของตนในแต่ละวัน มีความเข้าใจในชีวิต และความเป็นไปของโลก มีพลังสติปัญญา พลังจิตและพลังกายที่ได้จากปรัชญา ความเชื่อ วัฒนธรรม การศึกษา และประสบการณ์ชีวิตของผู้ดูแล เพื่อถ่ายเทพลังนี้ให้กับผู้ป่วย และสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยในการเสริมสร้างพลังให้แก่ตนเอง เพื่อบำบัดเยียวยาตนเอง และพัฒนาแก่นที่อยู่ภายในตนให้แข็งแกร่ง สำหรับเผชิญกับภาวะของโรค ความทุกข์ทรมานและความตาย เพื่อรักษาความกลมกลืนทั้งภายในและภายนอกตนให้คงอยู่จวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และได้จากไปอย่างสงบ สิ่งที่ผู้ดูแลควรปฏิบัติ ได้แก่ ช่วยผู้ป่วยให้ค้นพบคุณค่าของประสบการณ์ในอดีต ความศรัทธาในศาสนา ปรัชญาและสิ่งที่ดีงาม โน้มนำให้ผู้ป่วยค้นหาแก่นของชีวิต เข้าใจชีวิต และกำหนดเป้าหมายชีวิตในระยะเวลาที่มีอยู่จำกัด แนะนำและให้โอกาสผู้ป่วยแสดงออกซึ่งความเชื่อทางศาสนา แสดงความรักและมีสัมพันธภาพกับครอบครัว หรือผู้ที่เป็นแหล่งของความหวังและกำลังใจ นำผู้ป่วยให้ค้นพบแหล่งพลังจิตวิญญาณของตน ค้นพบสัจธรรมของชีวิต และนำเข้าสู่การใช้ระยะเวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณค่า


[i] พระครูเกษมอรรถากร และสุเทพ เชื้อสมุทร. (2564). บทบาทประชาสังคมกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง. วิทยาลัยสงฆ์ระยอง มหาวทิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *