ความเครียด การจัดการกับปัญหาหรือความเครียด

ความเครียด (Stress) เป็นภาวะจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลจากการที่บุคคลต้องปรับตัวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่กดดันหรือทำให้เกิดความทุกข์และความไม่สบายใจ หรือความเครียดเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่อร่างกายถูกกระตุ้น และมีปฏิกิริยา ตอบโต้เป็น ปฏิกิริยา ทางสรีรวิทยา และจิตวิทยาโดยระบบต่อมไร้ท่อที่หลั่งฮอร์โมน และระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วร่างกาย เมื่อเกิดความเครียดภายในจิตใจ มักส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงทางกาย : ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น มือเย็น เท้าเย็น เหงื่อออก ตามมือตามเท้า หายใจตื้นและเร็วขึ้น ใจสั่น ถอนหายใจบ่อย ๆ กัดขากรรไกร ขมวดคิ้ว ตึงที่คอ ประสาทรับความรู้สึกหูไวตาไวขึ้น การใช้พลังงานของร่างกายเพิ่มขึ้น รู้สึกเพลีย ปวดศีรษะ ไมเกรน ท้องเสียหรือท้องผูก นอนไม่หลับ หรือง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร หรือกินมากกว่าปกติ ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผิวหนังเป็นผื่นคัน เป็นหวัดบ่อย ๆ แพ้อากาศง่าย
  • การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ : หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่าย โมโหง่าย ซึมเศร้า สมองทำงานมากขึ้น ความคิดอ่านระยะสั้นดีขึ้น การตัดสินใจเร็วขึ้น ความจำดีขึ้น สมาธิดีขึ้น วิตกกังวล คิดมาก คิดฟุ้งซ่าน หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด โกรธง่าย ใจน้อย เบื่อหน่าย ซึมเศร้า เหงา ว้าเหว่ สิ้นหวัง หมดความรู้สึกสนุกสนาน
  • การเปลี่ยนแปลงทางสังคม : บางครั้งทะเลาะวิวาทกับคนใกล้ชิด หรือไม่พูดจากับใคร จู้จี้ขี้บ่น ชวนทะเลาะ มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อย ๆ

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด

ความเครียดเกิดได้ทุกเวลาและเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งภายนอกและภายในตัวของบุคคลนั่นเอง จากสาเหตุภายนอก

  1. ทางด้านร่างกาย เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ทำให้เกิดความเครียดได้ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ
  2. ทางด้านจิตใจ ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องเข้ามากระตุ้นก็ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือเป็นผู้ที่เกิดความวิตกกังวลง่าย และขาดทักษะในการปรับตัว
  3. ทางด้านสังคม จะมีสิ่งที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความบกพร่องในเรื่องของการปรับตัว และขาดผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งถ้ามีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็จะทำให้ความเครียดนั้นลดน้อยลงไป ถ้ามีสิ่งมากระตุ้นมากเกินกว่าความสามารถของตนเอง และความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ
  4. คนที่เข้มงวดเอาจริงเอาจังกับทุกอย่าง
  5. คนที่ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
  6. คนที่ใจร้อนทำอะไรต้องให้ได้ผลทันที
  7. คนมีอารมณ์รุนแรง เก็บอารมณ์ไว้ในใจไม่แสดงอาการ
  8. คนที่ชอบท้าทาย ชอบเอาชนะ ชิงดีชิงเด่น

การจัดการกับปัญหาหรือความเครียด

  • พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่กลังประสบว่า จะจัดการอย่างไรเพื่อให้ดีที่สุด ควรจะชะลอไว้ก่อนแล้วค่อย หาทางแก้ไข และเมื่อมีโอกาสเหมาะ จะเป็นปัญหาที่จัดการได้ทันที
  • มุ่งจัดการกับปัญหา ไม่เลิกความพยายามที่จะแก้ไข ปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ
  • พิจารณาขั้นตอนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา ลงมือจัดการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา
  • นำวิธีใหม่เพิ่มเติมจากเดิมมาใช้แก้ปัญหา และลงมือทำไปทีละขั้น
  • ขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ หรือผู้ที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกันมาก่อน
  • ปรึกษาหารือ ขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำจากผู้อื่น เช่น เพื่อน ครูอาจารย์ พ่อแม่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยจัดการกับเรื่องนั้น ๆ ได้
  • พยายามทำกิจกรรมที่ต้องทำให้ทันตามกำหนด ให้สำเร็จอย่างดี
  • มุ่งที่จะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่ให้ความคิดและกิจกรรมอื่นมารบกวน
  • พิจารณาตนเองว่ากำลังทำอะไร เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่ทำอะไรที่เสียหาย
  • ค้นหาสิ่งที่ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำวิกฤติให้เป็นโอกาส
  • เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ประสบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเอง
  • เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น
  • มองโลกในแง่ดี มองชีวิตให้สดใสเบิกบาน ทุกปัญหามีทางออก
  • คิดถึงคนที่ประสบปัญหามากกว่าเรา ไม่ใช่มีเราคนเดียวเท่านั้นที่ประสบปัญหา
  • หาทางผ่อนคลายความเครียด โดยทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ ฝึกสมาธิ หรือทำงานอดิเรก
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ
  • แสวงหากำลังใจจากเพื่อน ๆ และบุคคลรอบข้าง
  • เล่าปัญหา ระบายความในใจให้เพื่อนหรือใครบางคนฟังไม่เก็บความรู้สึกต่าง ๆ ไว้คนเดียว
  • พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ พยายามผูกมิตรกับผู้อื่น
  • ไม่นำกิจกรรมอื่นมากทำเพื่อจะหลีกหนีปัญหา
  • ไม่เพียงแต่คิดว่า จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ปัญหาจะคลี่คลายไปได้เอง ต้องแสวงหาทางออกที่จะคลี่คลายปัญหา
  • ไม่ตำหนิตนเอง ความรู้สึกผิด จะทำให้บุคคลรู้สึกว่า ตนไร้ค่า ท้อแท้ สิ้นหวังได้
  • เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่มัวแต่เสียใจทุกข์ร้อนกับเรื่องที่ผ่านมา คนเราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและตั้งต้นใหม่ได้เสมอ
  • ไม่หงุดหงิดและระบายอารมณ์ใส่ใคร แต่จะปรึกษากับเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยเหลือได้
  • ไม่มัวแต่เป็นกังวลใจ ร้องไห้ เอะอะโวยวาย ใช้สุราหรือยา เพื่อดับความทุกข์ เพราะนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น
  • ใช้หลักธรรมะฝึกจิตใจให้สงบ มีสมาธิ เพื่อให้คิดได้อย่างกระจ่าง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง
  • คนทุกคนมีคุณค่าและความสามารถ มองหาส่วนดีที่ตนมี พัฒนาตนเองให้มีความสามารถ สร้างพลังและกำลังใจในการเผชิญปัญหา
  • มีอารมณ์ขัน ไม่เอาเป็น เอาตาย เอาจริงเอาจังกับชีวิตจนเกินไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *