ความเชื่อการทำดีและผลของความดี

สังคมปัจจุบันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมจากการทำความดีเพื่อความดีมาเป็นการทำความดีเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรมมากเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ที่ประชุม ยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศว่า ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่าง มีท่าที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกัน ได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของคนแต่ละคนมืดมัวลงไปเป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่น อันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมดจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฝืนคลื่น เป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ละท่านแต่ละฝ่ายต้องยึดหลักการให้มั่นคงที่จะไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่ชั่วที่เสื่อม กล้าและบากบั่นที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นความดีเป็นความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผลความดีประพฤติดี ปฏิบัติชอบบังเกิดเพิ่มพูนขึ้นและค้ำจุน ส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมทรุดลง หากให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ นอกจากนี้ ชาวพุทธควรเอาใจใส่ศึกษาธรรมะให้เข้าใจทั้งปฏิบัติให้ได้ผล จนสามารถจำแนก และเลือกเฟ้นมาใช้เป็นแนวทางนำชีวิตให้ประสบความร่มเย็นให้สำเร็จเมื่อได้เรียนธรรมะ รู้ธรรมะ และปฏิบัติอยู่ในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยถูกต้องมั่นคงแล้วความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมก็ไม่ใช่เหตุที่น่าวิตกอีกต่อไป (พระราชทานแก่สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ, 2518)

พุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ยืนยันในเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันแต่มีคนจำนวนมากที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมคลาดเคลื่อน ข้องใจสงสัยคำสอนที่กล่าวว่า “การทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ จึงมีคำกล่าวในมุมตรงกันข้ามว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” (ณัฎกร อาชะวะมูล, 2541) หลักความเชื่อทางศาสนาพุทธ เป็นความเชื่อที่เกิดจากการพิจารณาด้วยปัญญา พุทธศาสนาไม่เคยสอนให้เชื่องมงายไร้เหตุผล ดังหลักฐานที่แสดงไว้ในกาลามสูตร อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยิน ได้ฟัง อย่ายึดถือตามถ้อยคำสั้น ๆ อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตรองตามอาการ อย่าได้ยืดถือโดยชอบใจว่า ต้องกับทิฐิของตัว อย่าได้ยืดถือ สมณะนี้เป็นครูเรา การเชื่อในกรรม คือ เชื่อว่า กรรมมีจริง ทำสิ่งใดย่อมเป็นกรรม คือ ความดี ความชั่ว ทุกชีวิตกว่าจะได้มาเป็นคน หรือเป็นสัตว์ในปัจจุบัน ต่างเป็นอะไรมามากมาย แยกออกไม่ได้ว่า มีกรรมดีกรรมชั่วอะไรบ้างย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ (สมเด็จพระญาณสังวร, 2548) การทำความดีของชาวพุทธมีหลักธรรม 3 ประการ ที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ ทานการให้ ศีลการรักษากาย วาจาใจให้เรียบร้อย ภาวนา ฝึกสมาธิให้จิตสงบ (พระมหามังกร ปัญญาวโร, 2548)

การเชื่อในผลของความดีเป็นสิ่งสำคัญมาก บุคคลใดมีความเชื่อ ศรัทธาในการทำความดี ผู้นั้นจะประพฤติตนอยู่ในคุณงามความดี นำความสุขความเจริญมาสู่ตนเองและสังคม แต่ถ้าบุคคลใดขาดความเชื่อในผลของความดี บุคคลนั้นจะประพฤติตนตามแต่อารมณ์พาไป ขาดความยับยั้งชั่งใจ จะนำพาให้ตนเอง ครอบครัวและสังคมวุ่นวายไม่สงบสุข การทำความดีตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงเริ่มต้นจากความศรัทธา หรือความเชื่อมาก่อน การจะเชื่อในสิ่งใดย่อมมาจากเหตุ    

ความเชื่อการทำดีและผลของความดีนั้น ต้องเกิดจากการอบรมบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายายมีบทบาทต่อการปลูกฝังให้บุตรหลานเชื่อในการทำความดีอย่างมาก โดยวิธีการที่ง่าย ๆ คือ การทำเป็นแบบอย่างให้ดู พาไปทำบุญที่วัดตามแนวปฏิบัติของชาวพุทธ ทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ จะซึมซับเข้าไปในจิตใจ และเมื่อเติบโตในวัยที่มากขึ้นก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องการทำความดี ดังคำกล่าวของหญิงอาชีพทำนา ทำไร่ อายุ 41 ปี “พ่อแม่จะย้ำสอนตลอดเวลา ถ้าได้ไปวัดทำบุญ จะบ่ออี๊ด บ่ออยาก พอตีนพอมือ” ไม่ต่างจากคำบอกเล่าของกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นว่า “เด็ก ๆ ตามพ่อแม่ไปวัด พอมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาอาจารย์ที่โรงเรียนได้พาเข้าวัดปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ชวนเพื่อน ๆ มาวัดเป็นประจำเหมือนเดิมมาด้วยความศรัทธา”

นอกจากนี้ ยังพบว่า ความเชื่อผลของความดียังมาจากสาเหตุเพื่อน ๆ ชักจูงชวนให้เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล นั่งสมาธิบางคนก็มีความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เมื่อมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญบ่อย ๆ มากขึ้น ได้ช่วยงานต่าง ๆ ภายในวัด ได้สวดมนต์ฟังธรรมส่งผลให้เกิดความเชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และโอกาสที่มีบ้านอยู่ใกล้วัดพ่อแม่พาไปวัดตั้งแต่เด็กพร้อมทั้งอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีมีผลให้เกิดความเชื่อได้ การเกิดมาเป็นชาวพุทธต้องยึดถือปฏิบัติตามประเพณี เช่น ผู้ชายต้องบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามีผลให้เกิดความเชื่อได้เช่นกัน ความเชื่อในผลของความดียังเกิดจากแบบอย่างที่ดีของพระสงฆ์สร้างให้ชาวพุทธศรัทธาเลื่อมใสมาวัดทำบุญกลายเป็นบุคคลที่เชื่อเรื่อง การทำความดีและผลของความดี

บางครั้งความเชื่อในผลของความดีก็เริ่มจากความสนใจในคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองฝึกการนั่งสมาธิ จิตใจสงบ สนใจศึกษามาเรื่อย ๆ กลายเป็นความศรัทธาเชื่อในผลของความดี ผลของความดีที่เกิดขึ้น หลายคนประจักษ์พบเห็นด้วยตนเอง ครอบครัวมีความสุข ลูกเป็นเด็กดีขยันเรียน บางคนเล่าว่า ไปค้าขายต่างแดนขายไม่ดี ตนเองจะนึกถึงบุญหรือความดีที่ทำก็สามารถขายของได้หมดทุกครั้ง หรือคุณยายท่านหนึ่งมีความทุกข์มากลูกหลานไม่กลับมาเยี่ยม นอนไม่หลับ สุขภาพเริ่มไม่ดี ได้มีโอกาสเข้าวัดฟังพระเทศน์ นำคำสอนของพระมาสอนตนเองเกิดความเข้าใจ มีเวลาไปวัดบ่อยขึ้น รู้จักให้อภัยผู้อื่น มีความสุขมากขึ้นไม่คิดมากเหมือนเมื่อก่อน ผลของความดีเกิดกับผู้ที่ปฏิบัติส่งผลให้มีความเชื่อศรัทธาในการสร้างความดี และผลของความดีที่ได้รับเพิ่มพูนมากขึ้น

พฤติกรรมของบุคคลที่มีความเชื่อในผลของความดี

พฤติกรรมของบุคคลที่เชื่อในผลของความดี จะมีพฤติกรรมชอบไปวัดสม่ำเสมอ รักษาศีล 5 ศีล 8 ฟังเทศน์ สวดมนต์นั่งสมาธิ ชอบช่วยงานวัดในกิจกรรมต่าง ๆ ศึกษาเรียนรู้ธรรมะ ก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ บางครั้งตอนเช้าก่อนออกไปทำงานได้สวดมนต์นั่งสมาธิ ใส่บาตรตอนเช้า ซื่อสัตย์ และรักษาสัจจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับเด็ก ๆ มีเวลาว่างจะเข้ามาช่วยงานที่วัดเป็นประจำ พาลูกหลานมาวัด สอนให้ทำสิ่งที่ดี ทำบุญใส่บาตรทุกวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือบางคนใส่บาตรทุกวัน บางครั้งถือศีลกินเจ ปฏิบัติหน้าที่การงานอย่างเต็มที่ ไม่เบียดเบียนใคร และไม่ทำให้ใครเดือดร้อนมีกำลังใจ และจิตใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต

การเชื่อในผลของความดีกลุ่มพระสงฆ์

ความเชื่อในผลของความดีมาจากสาเหตุใด

  1. มาจากการออกบวชที่เป็นความรับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และค้นพบได้ว่า เป็นชีวิตที่สงบสุข
  2. เกิดในหมู่บ้านที่ดี ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีแหล่งอบายมุขในหมู่บ้าน มีแต่คนดีจึงมีผลหล่อหลอมความเป็นคนดีมีความเชื่อในความดีและผลของความดี
  3. ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
  4. เห็นแบบอย่างที่ดีของพระสงฆ์เกิดความเลื่อมใสศรัทธา
  5. พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พาไปวัดตั้งแต่ในวัยเด็กทำให้เกิดความศรัทธาเชื่อในผลของความดี

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้บุคคลเชื่อในผลของความดี คือ การได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้ได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา ซึ่งการมีบ้านอยู่ใกล้วัด หรือในชุมชนที่ปลอดจากอบายมุขต่าง ๆ และครูบาอาจารย์ในโรงเรียนที่มีกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรม สิ่งเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบที่สร้างให้บุคคลค่อย ๆ ซึมซับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเกิดเป็นความศรัทธา ความเชื่อในผลของความดี และเมื่อได้รับผลของความดีที่ตนเองกระทำยิ่งเพิ่มพูนควาเมชื่อนั้นให้หนักแน่นมั่นคงเพิ่มขึ้น การสร้างคนให้เป็นคนดีจึงต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว โดยใช้วัดและกิจกรรมภายในวัด เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม นั่งสมาธิ หรือการเป็นแบบอย่างที่ดีของพระสงฆ์ ช่วยสร้างความเชื่อศรัทธา และโรงเรียนช่วยบ่มเพาะกล่อมเกลาอีกแรงหนึ่ง ทั้งบ้าน โรงเรียน และวัด จึงเป็นสถาบันหลักสำคัญในการสร้างคนให้เป็นคนดีเชื่อศรัทธาในผลของความดี

เมื่อใดกำลังมีความสุข ไม่ว่าผู้กำลังมีความสุขนั้นจะเป็นเราหรือเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริงว่า เหตุดีได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุดีกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ว่า ทำเหตุดี หรือกรรมดีใดไว้ แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจว่า เหตุแห่งความสุขที่กำลังได้เสวยอยู่เป็นเหตุดีแน่ เห็นกรรมดีแน่ ผลดีเกิดแต่เหตุดีเท่านั้น ผลดีไม่มีเกิดแต่เหตุไม่ดีได้เลย (พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมมหาสังฆปริณายก, ม.ป.ป. หน้า 7)

นอกจากนี้ ความเชื่อศรัทธาในผลของความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ทุกอาชีพตั้งแต่คนเก็บขยะขายจนถึงอาชีพรับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีความรู้ สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงระดับปริญญา มีหตุผลความเชื่อที่ไม่ต่างกัน ประเด็นนี้เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ความเชื่อในความดี และผลของความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาหรือฐานะทางเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่การบ่มเพาะปลูกฝังในวัยเด็กจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายการซึมซับสิ่งดีงามนั้นละเอียดอ่อนมาก ควรปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็กใช้วิธีที่นุ่มนวลและต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงปลูกฝังความเชื่อได้ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก” และเมื่อบุคคลมีความเชื่อในผลของความดีแล้ว จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้เห็นผลเชิงประจักษ์กับชีวิตตนเองยิ่งเพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อมากยิ่งขึ้น

การประพฤติปฏิบัติตนตามความเชื่อในผลของความดีก็จะมีลักษณะตามแนวทางคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ ช่วยงานต่าง ๆ ภายในวัด มีจิตใจที่ดีงาม เมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่นตามโอกาสและความสะดวก เป็นธรรมดาของปุถุชนเมื่อศรัทธา หรือเชื่อในสิ่งใดแล้วย่อมประพฤติปฏิบัติตามหลักการของสิ่งนั้น ๆ ผลที่ได้รับความเชื่อนี้ก็จะเพิ่มพูนความเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการพาไปวัดอย่างสม่ำเสมอ รักษาศีล 5 เป็นประจำและนั่งสมาธิเป็นประจำทำให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เมื่อใดที่เด็กมีความสุขจากการทำแล้ว เขาจะมีความสุขจากการหาความรู้ด้วย เป็นเรื่องตามมาเอง เพราะเป็นธรรมดาว่า คนที่จะทำอะไรให้ได้ผลนั้น การทำให้สำเร็จย่อมเรียกร้องการหาความรู้เพิ่มอยากให้สิ่งนั้นมันดีก็ต้องคิดหาทางทำอย่างไรให้มันดี พุทธศาสนามีคุณอเนกอนันต์เหลือที่จะพรรณนานับแก่ตัวของเรา พร้อมทั้งโลกทั้งหมดด้วยกัน แก่นพระพุทธศาสนาแท้มิใช่อยู่ที่วัตถุแต่อยู่ที่ตัวผู้ประพฤติต่างหาก อันนี้เป็นหลักจิตของเรา

ที่มาบทความ การศึกษาความเชื่อในผลของความดี โดยสุณี บุญพิทักษ์ จาก https://research.kpru.ac.th/sac/fileconference/10712018-05-10.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *