วิธีการทำบุญ “บุญวาสนา”

แนวทางการสร้างปัจจัยพื้นฐานของชีวิต คือ “บุญ” ตามองค์ประกอบ ต่อไปนี้

1. ศรัทธา

“ศรัทธา” หมายถึง มีความเชื่อมั่นในบุญ หรือความดีต่อตัวเอง ผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นหลักที่ทุกคนควรมี ควรกระทำ เนื่องจาก นำมาซึ่งคุณภาพจิตที่ดี มีความสุข และยังเป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ดังข้อสรุปของปิ่น มุทุกันต์ (2535) ที่ว่า ความดีทุกอย่างที่คนเราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่า ความดีเหล่านั้น จะรวมกันปรุงแต่งจิตให้ดีขึ้น ซึ่งเรียกว่า “บุญวาสนา” ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการสร้างความเชื่อมั่นโดยมีปัญญาเป็นเครื่องกำกับ

2. ปัญญา

“ปัญญา” หมายถึง การใช้สติ ปัญญา พิจารณาเรื่องที่ตนกระทำอย่างรอบคอบเพื่อให้การทำบุญ หรือความดีของเราสัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่โดยจะต้องพิจารณาถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุญอย่างรอบคอบ ในส่วนนี้ ประยุกต์จากหลักสัปปุรสธรรม 7 ประการ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) คือ

  • ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ ความหมาย วัตถุประสงค์ และวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องของวิธีการทำบุญในแต่ละข้อว่า เป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ความดีงามอย่างไร เพื่อให้เราเห็นความสำคัญของบุญมากขึ้น
  • อัตตถัญญุตา รู้จักความมุ่งหมายหรือรู้จักผล คือ รู้จักความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์หรือผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำ สรุปก็คือ รู้ว่า ผลของบุญในแต่ละข้อนั้นส่งผลดีต่อใครในด้านไหนอย่างไร
  • อัตตัญญุตา รู้จักตนโดยฐานะ ภาวะเพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด สถานภาพ และคุณธรรม ตัวอย่างเช่น การจะสอนธรรม หรือให้คำแนะนำต่อผู้อื่นต้องรู้ว่า เรามีความรู้ที่จะแนะนำเขา หรือไม่มิใช่สอนหรือแนะนำแบบผิด ๆ เพราะนั่นคือ การกระทำบาป
  • มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ เช่น การบริจาคทานต้องพิจารณาว่า เราจะทำได้มากน้อยแค่ไหนต้องดูให้พอเหมาะ ถ้าทำมากไปเราและครอบครัวเดือดร้อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เป็นต้น
  • กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาที่เหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เช่น การถวายอาหารแก่พระสงฆ์ ต้องทำในช่วงตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น เลยไปถือว่า “ผิดวินัยสงฆ์”
  • ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน เมื่อเข้าไปหาจะต้องปฏิบัติอย่างไรก็ถึงจะเหมาะสม ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร ตัวอย่างเช่น การเข้าไปหาพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติอย่างไร วางตัวอย่างไร ใช้คำพูดอย่างไรถึงจะถูกต้องเหมาะสม
  • ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างของบุคคล เช่น อัธยาศัย ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม ตัวอย่างเช่น เรื่องการให้ทานต้องพิจารณาว่า บุคคลนั้นสมควรได้รับการสงเคราะห์หรือไม่ มิใช่ให้โดยไม่ไตร่ตรองอาจเป็นการสนับสนุนพวกมิจฉาชีพ เช่น แก๊งขอทาน หรือผู้ที่ปลอมตัวบวชเป็นพระสงฆ์เที่ยวเรี่ยไร เป็นต้น

3. เจตนา

เจตนา หมายถึง ความพร้อมของจิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการทำบุญในทุกเรื่อง เนื่องจาก หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องเจตนาเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

  • ก่อนทำต้องตั้งเจตนาดีไว้ในเบี้องต้นเป็นความตั้งใจทำ มิใช่ทำเพราะถูกผู้อื่น สังคม หรือสถานการณ์บังคับให้ทำ กล่าวสรุป ก็คือ การตั้งความปรารถนาดีทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคมแล้ว จึงลงมือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อ่อนน้อมถ่อมตนบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น
  • ขณะทำ ต้องมีใจชื่นชมกับความดีนั้น
  • หลังทำ มีจิตชื่นบาน เป็นสุข นึกถึงความดีที่ได้ทำแล้วครั้งใดเป็นปลาบปลื้มด้วย มองเห็นถึงผลดีในเรื่องที่ตนได้ทำไว้ มิใช่ทำแล้วเกิดความทุกข์หรือเสียดาย

4. ความต่อเนื่อง

ความต่อเนื่อง หมายถึง การทำบุญต้องทำแบบติดต่อ เนื่องจาก คำว่า “บุญ” ในที่นี้ยังเป็นความดีในระดับโลกิยะที่ยังมีความผันแปรได้ ตัวอย่างเช่น การเสียสละ บางครั้งเราอาจเกิดความเสียดายทรัพย์สิ่งของที่จะบริจาคจนเป็นเหตุให้เราไม่สามารถบริจาคสิ่งนั้น ๆ ได้ ดังนั้น การทำบุญที่จะทำให้เป็นพื้นฐานของชีวิตจริง ๆ ต้องทำแบบติดต่อจนกลายเป็นนิสัย และสร้างภาคีเชื่อมเครือข่ายให้กระจายไปยังบุคคลอื่น ๆ จึงจะได้ผลเต็มที่

นอกจากหลักการทั้ง 4 ข้อแล้ว ยังมีข้อที่ต้องพิจารณา เพื่อให้วิธีการทำบุญเป็นไปอย่างถูกต้องขอให้พิจารณาองค์ประกอบของการทำบุญต่อไปนี้

1. ความบริสุทธิ์

“ความบริสุทธิ์” หมายถึง ความบริสุทธิ์ทั้งทางด้านวัตถุ เช่น สิ่งที่จะให้ผู้อื่นต้องเป็นสิ่งที่เราได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึง เรามีความยินดีที่จะทำความดี มิใช่ทำเพราะถูกค่านิยมหรือใครบังคับ และผู้รับกรณีที่บุญมีความเกี่ยวข้องด้วย เช่น การบริจาคทางต้องเป็นผู้สมควรรับจริง ๆ เป็นต้น

2. ประโยชน์

“ประโยชน์” เรื่องที่เราจะทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ คนอื่นสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น การให้ความรู้ คำแนะนำต้องเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ เป็นต้น

3. การไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ผู้อื่น และสังคม

การไม่เบียดเบียน ผู้อื่น และสังคม เรื่องที่เป็นบุญจริง ๆ ต้องไม่เบียดเบียนตน ผู้อื่น สังคม รวมถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วย ตัวอย่างเช่น การให้อาหารสัตว์ต้องให้พอประมาณ มิใช่ให้จนเกินประมาณ เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์ได้

4. ไม่ขัดกับหลักศีลธรรม

ไม่ขัดกับหลักศีลธรรม โดยสรุปก็คือ ต้องให้เป็นตามหลักแห่งการทำบุญในแต่ละเรื่องจริง ๆ ข้อนี้ต้องศึกษารายละเอียดถึงวิธีการทำบุญในแต่ละวิธี ด้วยว่า ทำอย่างไรถือว่า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่างไร เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เช่น การให้สิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจัดเป็นทานก็จริง แต่ผิดหลักของศีลธรรม คือ ศีลข้อที่ 5 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องควรระมัดระวังในการทำบุญอีกหลายเรื่องขอให้ดูตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในทานวัตถุสูตร (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) คือ

  1. ความชอบ หมายถึง พึงพอใจในตัวบุคคลจึงทำ บางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาได้ กรณีเช่น ประชาชนพากันเลื่อมใสพระสงฆ์บางรูป นำสิ่งต่าง ๆ ไปถวายท่านจนเกินความจำเป็น การกระทำเช่นนี้ เป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์สะสมสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเงินทอง ซึ่งผิดพุทธประสงค์ตามหลักพระธรรมวินัย
  2. ทำไปเพราะโกรธ เช่น การทำบุญแบบประชดประชัน ทำเพราะขัดไม่ได้ แม้แต่ใจจะขุ่นเคืองก็ทำเพื่อให้พ้นไปที
  3. ทำเพราะไม่เข้าใจหรือความเขลา ใครให้ทำอย่างไรก็ทำ โดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจ และประเด็นนี้เองที่ทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากศรัทธาของประชาชน

4.ทำตามประเพณีที่บรรพบุรุษถ่ายทอดต่อกันมา ขอยกตัวอย่างเช่น การถวายหมาก พลู บุหรี่กับพระ ซึ่งเข้าใจกันว่า เป็น “บุญ” หรือ “ความดี” ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักวินัยของพระสงฆ์แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก หมาก พลู บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดประเภทหนึ่ง

นอกจากนี้ ในพระสูตรเดียวกันยังได้กล่าวถึง การทำความดี (บุญ) ในลักษณะที่พึงประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ

  1. หวังสุคติ โดยเห็นโทษของทุคติ หมายถึง การทำบุญในลักษณะนี้ ผู้ทำต้องเห็นค่าของความดีที่ส่งผลให้เราไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว อาจตีความได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ที่ชั่วในชีวิตนี้ เช่น อบายมุขและที่ชั่วในโลกหน้า คือ นรก สัตว์รัจฉาน เปรต และอสูรกาย
  2. ทำเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดความสุข หมายถึง ผู้ทำต้องเห็นผลดีของบุญในแง่ที่ทำให้จิตใจผ่องใส มีความสุข เนื่องจาก ได้ลดละอำนาจใฝ่ต่ำ
  3. ทำเพื่อให้คุณภาพจิตดีขึ้น หมายถึง ผู้ทำบุญต้องเล็งเห็นว่า การทำบุญจะส่งผลให้เกิดคุณธรรมที่พัฒนาจิตของตนให้ดีขึ้น เช่น มีเมตตา กรุณา หิริโอตตัปปะมากขึ้น เป็นต้น

จากองค์ประกอบของบุญที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า การทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลย ถ้าเราเข้าใจถึงความหมาย วิธีการปฏิบัติ และข้อที่ควรระมัดระวัง เมื่อทำไปแล้วก็จะทำให้ผู้ทำได้รับอานิสงส์หรือผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นอันดับแรก ผลบุญที่เกิดจากการให้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานานิสังส์สูตร (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) คือ

  1. เป็นที่รักของมหาชน
  2. คนดีต้องการคบหา
  3. ชื่อเสียง เกียรติ คุณความดีแผ่กระจายไป
  4. จิตไม่ห่างเหินจากคุณธรรม
  5. ตายไปแล้วไปสู่สุคติ

จะเห็นว่า อานิสงส์ทั้ง 5 ประการ ชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของบุญอยู่ที่ชีวิตในปัจจุบันที่เราสามารถเห็นผลในชาตินี้ โดยเฉพาะข้อที่ 4 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญ หมายถึง มุ่งไปที่จิตของบุคคลที่ทำ ต้องเป็นจิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม ไม่ใช่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสหรือทำเพื่อเพิ่มพูนกิเลส ดังนั้น หลักความดีในพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นให้ศาสนิกกระทำในชีวิตปัจจุบัน แม้ว่า ความดีนั้นจะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “บุคคลอย่าสำคัญว่า บุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกมาทีละหยาด ๆ ได้ฉันใด คนมีบุญเมื่อสะสมบุญ แม้ทีละเล็กละน้อยก็เต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

เมื่อวิเคราะห์จากพุทธภาษิตนี้จะเห็นหลักการที่เกี่ยวกับ “บุญ” ประการหนึ่ง คือ ความดีต้องทำแบบต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัยธรรมหรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยอัตโนมัติ แม้จะทำวันละเล็กน้อยก็ตาม นั่นหมายถึง “บุญ” จะทำให้จิตของบุคคลที่สะสมเต็มเปี่ยมด้วยบุญเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยการบำเพ็ยบุญบารมีมาเป็นระยะเวลายาวนาน

จะเห็นได้ว่า “บุญ” เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ นอกจากคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ มองคำว่า “บุญ” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่กระทำกันในวัดโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีให้เท่านั้น แต่ความหมายของ “บุญ” และวิธีการทำ “บุญ” ในพระพุทธศาสนาจะครอบคลุมถึงชีวิตของปุถุชนที่ยังอยู่ในระดับโลกิยะในทุกด้าน ซึ่งชีวิตจะขาดหลักการเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าขาดนั่นก็หมายถึง จะเกิดปัญหาที่ติดตามมา ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่รุนแรง แต่บางเรื่องนั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ดังนั้น การที่จะทำให้ชีวิตอยู่คู่กับบุญเหมือนที่ชอบพูดกันติดปากว่า เป็นบุญของเรา เป็นบุญของเขา จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่อง “บุญ” ให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ได้แนวทางปฏิบัติเพื่อลดภาวะที่ไม่พึงปรารถนาภายในจิตใจของตัวเอง และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตอื่นและสังคมด้วย ข้อสรุปในประเด็นนี้ ก็คือ ทุกคนต้องช่วยกันสร้างโลกให้เต็มเปี่ยมด้วยบุญ เพื่อเป้าหมายแห่งสันติสุขร่วมกันเหมือนอย่างแนวคิดของประเวศ วะสี (2540) ที่ว่า โลกทั้งโลกต้องเป็นเนื้อนาบุญ วิกฤติการณ์จึงจะสงบระงับลง ซึ่งชาวพุทธจะต้องศึกษาให้เข้าใจและช่วยกันทำให้พระพุทธศาสนา มีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดแก่มวลมนุษยชาติทั้งโลก แต่เป้าหมายของพระพุทธศาสนามิได้มุ่งให้ศาสนิกหยุดอยู่เพียงแค่ความดีในระดับโลกิยะ หรือความดีที่เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้ความดีอื่น ๆ เท่านั้น แต่มุ่งให้ศาสนิกพัฒนายกระดับจิตของตนให้เข้าถึงความดีสูงสุดดังข้อสรุปของ เค.เอ็น.ชยติลเลเก (2537) ที่ว่า “ความดีสูงสุดหรืออุดมคติทางจริยศาสตร์นั้น คือ เอกภาพแห่งความสุข ความสมบูรณ์ ความรู้แจ้งและเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้เองที่รวมกันเป็นหนึ่ง และถือว่า ความดีสูงสุดก็คือ สิ่งที่รวมไว้ซึ่งความสุขสุดยอด ความสมบูรณ์ทางศีลธรรม ความรู้แจ้งสิ้นสุด และความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์นั่นเอง อันนี้เองที่เป็นเป้าหมายของชีวิตที่จะพึงบรรลุถึงได้ในชีวิตของมนุษย์หรือมนุษย์โลกนี้” เป้าหมายสูงสุดในนี้ จึงถือว่า เป็นประโยชน์สูงสุดของมหาชนหรือมนุษยชาติตามอุดมการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกไปประกาศศาสนาเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกให้ได้รับประโยชน์สุขนั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *