“บุญ” คือ ปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ปัจจัยพื้นฐานทางจิต

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัยพื้นฐานของชีวิต หลายคนอาจมองไปที่ปัจจัย 4 แต่นั่นเป็นปัจจัยพื้นฐานภายนอกที่ตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยพื้นฐานทางจิตอีกประการหนึ่งที่สำคัญมากนั่นคือ “บุญ” แท้ที่จริง “บุญ” นั้นเป็นพื้นฐานของชีวิต และสังคมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ นอกจาก คนไม่รู้ไม่เข้าใจ ขอแยกบุญออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. บุญเก่า

“บุญเก่า” หมายถึง สภาพปรุงแต่งจิตมาดีที่เรียกว่า “กุศล” ตัวอย่างหลักการนี้ คือ “กุศลมูล 3” ได้แก่ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง หลักการของบุญ จะเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เนื่องจาก พระพุทธศาสนา ยอมรับว่า คนตายแล้วเกิดและการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น สืบเนื่องมาจากกุศลกรรม หมายถึง “กรรมดี” หรือที่เรียกกันว่า “บุญที่สัมพันธ์กับหลักคำสอนเรื่องสุคติ” (เทวดาในสวรรค์กับมนุษย์ในโลก) สรุปก็คือ บุญในแง่นี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกุศลกรรมของใครจะมากหรือน้อย กล่าวคือ ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับกุศลกรรมมากก็จะมีอะไรที่ดีกว่าผู้อื่น ขอให้ดูตัวอย่างผลบุญเก่าที่พระพุทธเจ้าตรัสในนิธิกัณฑ์ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) ไว้ 6 ประการ คือ มีผิวงาม มีเสียงไพเราะ มีทรวดทรงสมส่วน มีรูปร่างดี ความเป็นใหญ่ และมีบริวารมาก ทั้งหมดนี้เกิดจากขุมทรัพย์ คือ “บุญ” (หมายถึง เป็นผลที่เกิดจากบุญ) ประเด็นเรื่องผลบุญเก่าที่เป็นพื้นฐานของชีวิตศึกษาได้จากคำสอนเรื่องกรรม 12 ในข้อที่ว่า “ชนกกรรม” หมายถึง กรรมที่แต่งให้เกิด สรุปก็คือ คนที่เกิดมามีอะไรที่ดี เพราะพื้นฐานของกุศลกรรมมีมาก คนที่เกิดมามีอะไรที่ไม่ดี เพราะกุศลกรรมมีน้อย แต่ไม่ว่าคนจะมีอะไรที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่สอดคล้องกับประเด็นนี้ คือ มนุษย์เกิดมาเพราะกุศลกรรม หรือบุญเก่าเหมือนกัน ข้อยืนยันเรื่องนี้ คือ พุทธภาษิตที่ว่า “บุญเป็นที่ตั้งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

2. บุญใหม่

“บุญใหม่” หมายถึง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้เจริญนั่น คือ ความดีที่เราสะสมหรือกระทำในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลโดยตรง คือ ทำให้จิตของเราพัฒนาขึ้น เนื่องจาก บุญเกิดจากจิตที่เป็นกุศล เมื่อทำแล้วก็ทำให้จิตเจริญขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราบริจาคด้วยจิตที่เป็นกุศล เมื่อทำแล้วก็ทำให้จิตเจริญขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราบริจาคทานด้วยจิตที่เป็นกุศลจะส่งผลให้ความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมักมากของเราลดลง

จากประเภทของบุญทั้งสองประการจะเห็นว่า “บุญ” เป็นพื้นฐานของชีวิตทั้งในชีวิตที่แล้วมา และชีวิตในปัจจุบันที่จะสืบต่อไปยังอนาคต ข้อยืนยันเรื่องนี้ศึกษาได้จากพุทธดำรัสที่ว่า “ผู้ทำบุญไว้ย่อมบันเทิงใจในโลกนี้ ตายไปแล้วก็ยังบันเทิงใจในโลกหน้า ชื่อว่า บันเทิงใจในโลกทั้งสอง เขาย่อมบันเทิงรื่นเริงใจ เพราะเห็นกรรมที่บริสุทธิ์ของตน” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539) ดังนั้น ชีวิตที่ดำเนินไปโดยปราศจากบุญจะประสบกับปัญหานานัปประการ ซึ่งในที่จะขอยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่มีมูลเหตุมาจากการขาดบุญในแต่ละข้อตามหลักของบุญกิริยาวัตถุ 10 ดังต่อไปนี้

  1. ปัญหาที่เกิดจากการไม่ให้ (ขาดหลักทานมัย) คือ
    1. ปัญหาความอดอยาก ความยากจนที่ไม่มีผู้ใดหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้ประสบกับเคราะห์กรรมเหล่านั้น ในปีหนึ่ง ๆ เราจะพบว่า มีคนทั่วโลกที่อดอาหารตายเป็นจำนวนมาก ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง เนื่องจาก พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดไม่ยอมเลี้ยงดู ปัญหาเด็กขาดทุนการศึกษา เนื่องจาก ความยากจนของครอบครัว และไม่ได้รับการเหลียวแลจากสังคม ปัญหาคนชราถูกทอดทิ้ง เนื่องจาก บุตรธิดาไม่เลี้ยง (ขาดหลักอามิสทาน)
    2. ปัญหาความประพฤติตนเหลวแหลกของคนในสังคม เพราะไม่มีใครแนะนำพร่ำสอน การไม่ตักเตือนกันในทางที่ถูกต้อง หรือการแนะนำชักจูงกันไปในทางที่เสียหาย (ขาดธรรมทาน)
    3. การประทุษร้ายร่างกาย การฆ่ากันอย่างเหี้ยมโหดมีให้เราเห็นกันทุกวัน เพราะคนไม่รู้จักให้อภัยกัน การแล้งน้ำใจกัน การเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัวที่จะกลายเป็นนิสัยของคนยุคไอที (ขาดหลักอภัยทาน)
  2. ปัญหาที่เกิดจากการขาดศีล (ขาดศีลมัย) ขอยกตัวอย่างตามหลักของศีล 5 เนื่องจาก เป็นหลักการเกี่ยวกับสังคมที่ชัดเจนที่สุด คือ
    1. ปัญหาการเบียดเบียน การประทุษร้ายร่างกายกัน การทารุณกรรมเด็กและสตรี การฆ่าฟันที่มีให้เห็นเป็นประจำวัน (ปาณาติบาต) ที่สำคัญ คือ สงครามและการก่อการร้ายที่สร้างความหายนะให้แก่มนุษยชาติ จัดเป็นมหาปาณาติบาต
    2. ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น การจี้ ปล้น ฉก ชิง วิ่งราว (อทินนาทาน) โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชั่นที่จัดเป็นมหาอทินนาทาน คือ การฉ้อฉลเงินของประเทศที่เป็นสมบัติของประชาชนทุกคน
    3. ปัญหาการละเมิดคู่ครองของผู้อื่น หรือปัญหาชู้สาว รวมไปถึงปัญหาทางเพศอื่น ๆ เช่น การข่มขืน การทำอนาจาร ที่สำคัญ คือ ปัญหาที่พ่อผู้ให้กำเนิดข่มขืนลูกสาวของตน หรือญาติผู้ใหญ่ คือ ปู่ ตา ลุง ข่มขืนหลานสาวของตัวเอง (กาเมสุ มิจฉาจาร) ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก คือ ปัญหาการขายบริการทางเพศ ปัญหาการอยู่กินกันก่อนแต่งงาน ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จัดเป็นมหากาเมสุมิจฉาจาร
    4. ปัญหาการโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋นกัน คนขาดความจริงใจต่อกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกันไม่ได้สวมหน้ากากเข้าหากัน (มุสาวาท) บางคนโกหกคนทั้งประเทศ กลายเป็นมหามุสาวาท
    5. ปัญหาการทำลายตัวเองด้วยการเสพสิ่งมึนเมา และนำไปสู่การทำลายผู้อื่น ภาพข่าวคนที่เสพยาบ้าคลุ้มคลั่งจับผู้อื่นเป็นตัวประกัน บางครั้งก็ฆ่าตัวประกันตาย สถิติของอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีใหม่ในแต่ละปีที่มีผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ ทุพพลภาพเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความหายนะที่เกิดจากการขาดศีลข้อนี้ได้เป็นอย่างดี (สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐาน)
  3. ปัญหาที่เกิดจากการขาดการฝึกฝนอบรมจิต เนื่องจาก สภาพสังคมในปัจจุบันเป็นตัวบีบคั้นทำให้คนเหินห่างจากความดีข้อนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาติดตามมามากมาย อาจกล่าวได้ว่า จิตวิญญาณของคนในยุค ปัจจุบัน บางส่วนหรืออาจจะกล่าวว่า ส่วนใหญ่เปราะบาง ไม่มั่นคง ไม่หนักแน่นซึ่งเราจะเห็นอยู่เสมอว่า มีคนฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ หรือบางคนอาจเสียสติ เนื่องจาก ไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาชีวิตได้ อาจกล่าวสรุปได้ว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมมีมูลเหตุมาจากสภาวะจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าฟันกัน หรือความเห็นแก่ตัวก็ตาม (ขาดหลักภาวนามัย)
  4. ปัญหาที่เกิดจากการขาดความอ่อนน้อม การไม่มีสัมมาคารวะ ซึ่งเราจะพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย นำไปสู่ความแข็งกระด้าง รวมไปถึงความไม่เคารพเชื่อฟังกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ คนไม่ว่ากล่าวตักเตือนกัน เป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน ไม่ยุ่งเกี่ยวต่อกัน เพราะไม่อยากมีเรื่อง (ขาดหลักอปจายนมัย)
  5. ปัญหาที่เกิดจากการขาดหลักเวยยาวัจมัย เช่น ความเห็นแก่ตัว ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในสังคมก็อยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีใครเสียสละไปสะสางหรือขจัดปัญหาเหล่านั้น เมื่อคนไม่คิดจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น สังคม ผลที่ตามมาก็คือ ประเทศไม่ได้รับการพัฒนา ปัญหาสังคมต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ตัวอย่างเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลายคนเป็นผู้ก่อขึ้น แต่มีน้อยคนที่จะลงมือจัดการแก้ไขปัญหานี้ สรุปก็คือ ปัจจุบันคนทำลายมีมาก แต่คนสร้างสรรค์ลดน้อยลง สังเกตได้จากเมื่อมีการรณรงค์ให้คนออกมาช่วยกันขจัดปัญหา สิ่งแวดล้อมก็ได้รับการตอบสนองจากคนที่มีเวยยาวัจมัยจำนวนน้อย ส่งผลให้ปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาด อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เพื่อนบ้านถ้ายึดหลักเวยยาวัจมัยก็จะช่วยเหลือป้องกันซึ่งกันและกัน เช่น เป็นหูเป็นตาให้แก่เพื่อนบ้านในการระแวดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น สังคมไทยในอดีตเป็นตัวอย่างของสังคมแบบเวยยาวัจมัย กล่าวคือ เป็นสังคมแบบสมานฉันท์ที่ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์บ้านเมือง ร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมของสังคม หรือของเพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่น การสร้างถนนขึ้นดอยสุเพทโดยการนำของท่านครูบาศรีวิชัยเป็นข้อยืนยันผลดีของหลักเวยยาวัจมัย แต่สังคมในปัจจุบัน กล่าวกันว่า เป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้ปัญหาเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีเพื่อนบ้านถูกอาชญากรเข้าไปฆ่าหรือทำร้าย ปล้นทรัพย์ เป็นต้น เพราะสภาพสังคมที่เป็นแบบช่างมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา
  6. ปัญหาที่เกิดจากการหวงความดี ไม่แบ่งปันส่วนแห่งความดี หรือไม่อยากให้ใครได้ความดีงามเหมือนตน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น คนมุ่งแต่เอาดีใส่ตัวเอง ไม่ใส่ใจถึงคนอื่น กลายเป็นความนิ่งเฉยของความดี ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น นับว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง (ขาดหลักปัตติทานมัย)
  7. ปัญหาที่เกิดจากการไม่ยินดีหรือชื่นชมในความดีความสำเร็จของผู้อื่น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ปัญหาที่เกิดจากการอิจฉาริษยา ไม่สามารถทนได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี มีความสำเร็จมากกว่าตน หรือไม่อยากเห็นใครทำความดี หรือทำเรื่องที่เกินหน้าเกินตาตน จนต้องหาทางกลั่นแกล้ง ทำร้ายกัน เพื่อให้คนหรือกิจการของคนที่ตนอิจฉาพังพินาศไป ปัญหาคนดีถูกกีดขวางไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำหรือผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้ประเทศชาติและองค์กรไม่ได้รับการพัฒนา และเกิดความตีบตัน เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดค่านิยมในทางที่ผิด ๆ เช่น ทำดีได้อย่าเด่น เดี๋ยวจะเป็นภัยแก่ตัวเอง เป็นตัน (ขาดหลักปัตตานุโมทนามัย)
  8. ปัญหาที่เกิดจากการไม่ฟังธรรมหรือหลักการที่ดีงาม ไม่ศึกษาเล่าเรียน ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนในประเด็นนี้ คือ การไม่เข้าวัดฟังธรรมของพุทธศาสนิกชน มองเห็นการฟังธรรมเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย ไร้สาระปัญหาการไม่ฟังคำแนะนำของพ่อแม่ของเยาวชนไทย การไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนของนักเรียน นักศึกษาบางคนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความรู้ หมดอนาคตทางการศึกษา การไม่สนใจที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น (ขาดหลักธัมมัสสวนมัย)
  9. ปัญหาที่เกิดจากการไม่แสดงธรรม หวงความรู้ ไม่ให้ข้อคิดเห็น ไม่สอน ไม่แนะนำ หรือตักเตือนกันในทางที่ถูกต้อง การไม่ถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามให้แก่บุคคลอื่น กลายเป็นความหยุดนิ่งของความรู้ หรือธรรมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเราจะเห็นว่า มีคนจำนวนมากที่ตายไปพร้อมกับวิชาความรู้ที่ทรงคุณค่าไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นให้คนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ถ่ายทอดกัน ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ทั้งศาสตร์ด้านวิชาชีพ และคุณธรรมไม่เจริญก้าวหน้า
  10. ปัญหาที่เกิดจากมิจฉาทิฐิ คือ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีตัวอย่างในเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยาเสพติดที่สะท้อนถึงความคิดเห็นที่มีโมหะเป็นมูล ไม่เห็นโทษ หรือพิษภัยของยาเสพติด หลงไปเสพ ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น การลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น (ขาดหลักทิฏฐุชกรรม)

จากปัญหาที่ยกตัวอย่างมาทั้ง 10 ข้อจะเห็นว่า บุญเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต และชีวิตจะขาดบุญไม่ได้เลย ถ้าชีวิตขาดบุญเมื่อใดผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังตัวอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ทำให้ชีวิตสังคม และสิ่งแวดล้อมเสียดุลยภาพ กลายเป็น วิกฤติการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราพิจารณาจากองค์ประกอบของบุญกิริยาวัตถุหรือวิถีทางบุญทั้ง 10 ข้อ จะพบว่า บุญเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกขณะ ข้อสรุปของบุญ คือ พื้นฐานของชีวิต ชีวิตที่มีบุญเป็นเครื่องนำพาจะเป็นชีวิตที่ดำเนินไปอย่างประสานสัมพันธ์กับทุกสิ่ง เป็นชีวิตที่สร้างสรรค์ก่อให้เกิดพัฒนการที่ดีทั้งในระดับส่วนตัว ผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นชีวิตแห่งบุญที่ส่งผลให้เกิดความสุขและหลุดพ้นจากควาทุกข์ร่วมกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *