แนวคิดเรื่อง “สิทธิ” กับสังคมไทย

มุมมองเชิงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบของธเนศ อาภรณ์สุวรรณที่เขียนถึงพัฒนาการ สิทธิ และเสรีภาพ ในสังคมไทย พยายามทบทวนที่มาที่ไปของแนวคิด สิทธิ เสรีภาพของสังคมไทยว่าเป็นมาอย่าง โดยข้อสรุปจากงานของธเนศชี้ว่า สิทธิเสรีภาพในสังคมไทยเกิดขึ้นจากการรับเอาแนวคิดเรื่องสิทธิในสังคมตะวันตกซึ่งพัฒนามาจากเงื่อนไขการต่อสู้ของประชาชน เป็นพัฒนาการของสิทธิเกิดพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แนวคิดปัจเจกชน การเป็นเจ้าของตัวเอง การถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แนวคิดเหล่านี้คัดง้างอำนาจของชนชั้นปกครอง กษัตริย์ ขุนนาง เจ้าที่ดินจนสิทธิแรก ๆ ที่เกิดขึ้น คือ สิทธิในกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต ร่างกาย จากนั้นพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ เป็นสิทธิในคำจำกัดความสากล เมื่อแนวคิดเรื่องสิทธิเหล่านั้นข้ามวัฒนธรรมมาอยู่ในสังคมการเมืองไทยปะทะเข้ากับลักษณะของรัฐที่ยังมีบรรยากาศของการให้ความสำคัญกับอำนาจอาญาสิทธิ์ของผู้ใหญ่ที่มีต่อผู้น้อย มีบริบทที่โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแบบพึ่งพา เจ้าขุนมูลนาย และอำนาจของชนชั้นนำไม่เคยถูกท้าทาย สังคมไทยรับเอาแนวคิดเรื่องสิทธิมาโดยไม่เคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิโดยประชาชนอย่างถึงที่สุด กล่าวคือ การต่อสู้ทางความคิดของสังคมไทยไม่เคยก้าวข้ามพ้นไปจากกรอบจารีตประเพณีเดิม ดังนั้น ลักษณะความเข้าใจเรื่องสิทธิในสังคมไทย จึงวนเวียนอยู่ในกรอบ “สิทธิ” ที่ผูกพันอยู่กับประเพณีแบบอำนาจนิยม ผู้ใหญ่ – ผู้น้อย แม้ว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไทยจะสมาทานแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่การพูดถึงสิทธิในสังคมไทยก็ไม่ใช่สิทธิที่เกิดจากสำนึกและการต่อสู้ของปัจเจกชน การต่อสู้ทางความคิดทางการเมือง และแน่นอนรวมถึงสิทธิเสรีภาพของไทยจึงยังคงอยู่ในเงาจารีตประเพณีอันเป็นมรดกมาจากยุคการปกครองแบบสมบูรณายาสิทธิราชย์

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิทธิในมุมนี้พ้องกันกับข้อเขียนของเกษียร เตชะพีระ ที่พูดถึงอำนาจในสังคมไทยว่า เป็นอำนาจแบบประเพณีนิยม ประชาชนมีสิทธิเพราะได้รับสิทธินั้นจากชนชั้นปกครองเกษีตรชี้ว่า แนวคิดสิทธิเสรีภาพเป็นอุดมการณ์ที่พัฒนามาจากสังคมตะวันตก ก่อนข้ามพรมแดนมาแพร่หลายกระจายสู่สังคมอื่น ๆ ทั่วโลก “อุดมการณ์ที่มาจากพื้นที่อื่นนั้นมากระแทกเข้ากับพื้นที่ใหม่ปะทะเข้ากับความซับซ้อนของโครงสร้างภาษา บริบทสังคมรวมทั้งจินตนาการเดิมของผู้คน” ยกตัวอย่าง เช่น หลักการ ประชาธิปไตย เมื่อประชาธิปไตยหลุดจากสังคมวัฒนธรรมแบบตะวันตกมาสู่พื้นที่อื่น ๆ ในโลก ด้วยเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้ประชาธิปไตยถูกนิยามใหม่ แปรผัน เปลี่ยนแปลง และมีการปะทะประสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการช่วงชิงความหมายของความเป็นประชาธิปไตยเพื่อความชอบธรรมของกลุ่มต่าง ๆ เสมอ เฉกเช่นเดียวกับมโนทัศน์ว่าด้วย สิทธิ ซึ่งก็เป็นลักษณะของแนวคิดที่ถูกโอนย้ายถ่ายเทข้ามบริบทข้ามวัฒนธรรมมาเหมือนกับหลักการเรื่องประชาธิปไตย

ไม่ต่างไปจากความเห็นของธงชัย วินิจจะกูล (2559) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่เห็นว่า “สิทธิ” ในบริบทสากลเป็นคุณค่าที่เท่ากันในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่ง “สิทธิ” ดังกล่าวเป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม แต่ธงชัยเห็นว่า ปัญหาของการดำรงอยู่ของสิทธิของปัจเจกบุคคลในสังคมไทยนั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสำนึกแบบปัจเจกบุคคลอย่างในตะวันตกที่ปัจเจกบุคคลอยู่ในฐานะพลเมืองที่เท่ากัน กล่าวคือ ปัจเจกบุคคลในสังคมไทยเป็นปัจเจกบุคคลที่อิงแอบ หรืออยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมแบบชนชั้น อย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็อยู่กันโดยอ้างหลักนิติธรรม เพียงแต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยมีฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นฐานของนิติธรรมในแบบตะวันตก ดังนั้น จึงเกิดโอกาสที่คนจะมีสิทธิไม่เท่ากัน ทั้งที่คำว่า “สิทธิไม่เท่ากัน” เป็นคำที่ไม่สมเหตุสมผลเลยในตัวเอง เพราะสิทธิเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว การดำรงอยู่ของสิทธิในสังคมไทย ใช้คำว่า “สิทธิ” ในขณะที่รากของสิทธิในภาษาสันสฤต หมายถึง “อำนาจ” ธงชัยขยายความในประเด็นสิทธิที่เชื่อมโยงกับความยุติธรรม “jus” หรือ “judeo – Christian” ว่าหมายถึง การต้องมีการลงโทษ แต่ในสังคมไทย “jus” หรือ “just” ใช้ภาษาไทยว่า ยุติ – ธรรม ข้อนี้ ธงชัยชี้ว่า “ธรรมะ” ไม่ได้ หมายถึง การลงโทษ (Retribution) หรือจะหมายถึงการลงโทษก็เป็นการลงโทษตามกฎแห่งกรรม รากศัพท์ของคำว่า “ธรรมะ” คือ การกลับคืนสู่ภาวะปกติ และภาวะปกติในทางพุทธศาสนา รวมทั้งวัฒนธรรมฮินดูสันสกฤต ก็คือ สังคมที่เป็นระเบียบ ดังนั้น เมื่อความยุติธรรมมาบรรจบกับอุดมคติของสังคมที่เป็นระเบียบ ก็หมายถึง การกลับสู่ภาวะปกติที่คนมีชั้นชนตามสถานะอำนาจ กล่าวโดยสรุป คือ การดำรงอยู่ของสิทธิในสังคมไทย จึงเป็นอำนาจที่มิได้มากลดหลั่นตามบุญตามความดีของบุคคล สิทธิลดหลั่นได้ ในขณะที่ “rights” ไม่มีการลดหลั่น ความเป็นนิติรัฐ/นิติธรรม หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย ในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย จึงเป็นนิติรัฐที่บุคคลไม่เสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย

เมื่อพิจารณาข้อสังเกตของเสน่ห์ ในหนังสือ สิทธิมนุษยชน เกณฑ์คุณค่าและฐานความคิด อีกครั้งทำให้เห็นข้อสังเกตน่าสนใจที่ว่า ตัวบทและอุดมการณ์นั้นหลายครั้งเป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติ กล่าวคือ สังคมนอกตะวันตกมีรากฐานทางความคิด อุดมการณ์เกี่ยวกับสิทธิ รวมทั้งหน้าที่และความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นแบบเฉพาะตัวแตกต่างไป และก็ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ หรือมโนทัศน์เรื่อง “สิทธิ” ด้วยประสบการณ์ที่ต่างกันด้วย แม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติซึ่งยืดถือปฏิบัติกันเป็นมาตรฐานเองก็มีข้อจำกัดในแง่ของการนำไปใช้ในสังคมต่าง ๆ นอกตะวันตก ซึ่งมีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทางสังคมแตกต่างกันด้วย แม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติซเป็นฐานอ้างอิงเพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่า สอดคล้องหรือฝ่าฝืน หรือไม่เป็นไปตามตัวบทอักษรนั้น จึงยังไม่เพียงพอจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขต และความเข้าใจให้ลึกลงไปถึงรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน สิทธิต่าง ๆ ที่ถูกฉวยใช้ในท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่ดำรงอยู่ในความขัดแย้ง ก็ไม่อาจใช้นิยามหรือคำจำกัดความของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเกณฑ์ยึดถือได้ จึงจำเป็นต้องมีการชำระ สำรวจความหมายที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

ดังนั้น สิทธิในตะวันตก สิทธิธรรมชาติเป็นสิทธิแบบที่ประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ ในขณะที่ในไทยแม้จะบัญญัติรับรองในกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนมีสิทธิ (ประเภทต่าง ๆ) และแม้ตัวบทกฎหมายดังกล่าวจะเกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ตามที แต่เอาเข้าจริงสำนึกคนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ได้คิดว่า ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ ในทางกลับกัน เราจำยอมรับเอาเพียงแต่สิทธิที่เราคิดว่า รัฐเป็นผู้หยิบยื่นให้เท่านั้น ในแง่นี้ จึงเกิดข้อสังเกตน่าสนใจว่า การเรียกร้องสิทธิของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่องของสิทธิอย่างไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *