ภาวะซึมเศร้าในเพศหญิง

แม้ว่า องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมว่าการเกิดโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับความเครียดสะสมเรื้อรัง ปัญหาสัมพันธภาพและการเผชิญเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ตึงเครียดในชีวิต แต่หากตั้งคำถามว่า เพราะอะไรความเครียดนี้จึงเกิดขึ้นกับเพศมากกว่าชาย การอธิบายในมุมมองของเพศภาวะย่อมสามารถช่วยทำให้กระจ่ายขึ้นได้ อันจะนำไปสู่การหากลวิธีในการป้องกัน หรือการช่วยเหลือที่มีความเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น เมื่อมองในประเด็นของเพศภาวะ ย่อมทำให้มีมุมมองในเชิงลึกถึงประเด็นการกล่อมเกลาทางสังคมที่มีค่านิยมเชิงซ้อน เป็นค่านิยมในความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย

บทบาทหน้าที่ในครัวเรือนของเพศหญิงในการดูแลตอบสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัวให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขความสบาย งานนี้เป็นงานที่ต้องกระทำต่อเนื่องหลายชั่วโมง จากประสบการณ์ของผู้หญิงอินเดียที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ใช้เวลาทำงานบ้านยาวนานเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งยังไม่รวมเวลาในการดูแลให้บุตรทำการบ้าน แต่งานนี้ไม่ได้ถูกให้คุณค่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานที่มีรายได้ของผู้ชายที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อครอบครัว โดยเฉพาะหากเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งพบเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้ผู้หญิงต้องคิดบริหารแก้ไขปัญหาในทรัพยากรที่จำกัดของครอบครัว การต้องคิดแก้ไขปัญหา แม้ว่า จะถูกมองว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ต้องคิดตลอดเวลา นำไปสู่การเกิดวงจรความคิดหมกมุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้น การที่ผู้หญิงมีความคิดหมกมุ่นมากกว่าผู้ชายจึงอาจไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผู้หญิงใช้บ่อยแต่เป็นเพราะผู้หญิงต้องมีเรื่องให้คิดแก้ไขปัญหาตลอดทั้งวัน หากเข้าใจในแง่มุมนี้ย่อมนำไปสู่การเข้าใจและยอมรับผู้ป่วยหญิงกลุ่มนี้มากขึ้น

เมื่อผู้หญิงถูกคาดหวังว่า หน้าที่อบรมสั่งสอนบุตรเห็นหน้าที่ของเพศหญิง ทำให้หลายคนรู้สึกว่า เป็นความรับผิดชอบของตนที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีความสำเร็จในบทบาทหน้าที่นี้ และการมีความภาคภูมิใจในตัวเองจึงถูกผูกยึดขึ้นอยู่กับความสำเร็จ การเป็นคนดีของคนอื่น ไม่ใช่ตัวเองซึ่งก็คือบุตร หากบุตรเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีความประพฤติที่เป็นปัญหาย่อมทำให้ผู้หญิงตำหนิตนเองที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่พ่อใช้ความรุนแรง หรือไม่เข้ามารับรู้มีส่วนร่วมต่อการมีบทบาทในการอบรมสั่งสอนบุตรในสภาพสังคมที่มีความเสี่ยงต่อเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้ ย่อมทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้อยู่ในภาวะเก็บกด มีความกดดัน นำมาสู่การเป็นโรคซึมเศร้า หากสังคมมาสนับสนุนว่าการอบรมสั่งสอนเป็นบทบาทหน้าที่ทั้งของพ่อแม่ร่วมกัน ย่อมทำให้ผู้หญิงลดความกดดันลง

เพศหญิงได้รับการกล่อมเกลาว่าต้องคิดถึงลูกและสามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูก ทำให้ไม่สามารถตัดใจยอมรับและปล่อยวางกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของลูกได้สอดคล้องกับผู้หญิงอินเดียที่เป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ผู้หญิงหลายคนลืมที่จะมาสนใจรักและดูแลตนเอง เอาความทุกข์ของผู้อื่นมาสู่ตนเองหรือควบคุมชีวิตคนอื่น วิธีการที่ช่วยทำให้ผู้หญิงกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าและมีอาการดีขึ้น คือ ให้เวลากับตัวเอง พยายามที่จะไม่ไปรับผิดชอบชีวิตคนอื่น รักตนเองดูแลตนเอง รักษาความสมดุลระหว่างการดูแลตนเองและการดูแลผู้อื่น ประเด็นที่สำคัญที่ผู้หญิงทุกคนพูดถึง คือ ความสามารถในการควบคุมชีวิตตนเอง กลุ่มผู้หญิงที่ยังมีอาการซึมเศร้า บอกเล่าว่า เขารู้ว่า ต้องพยายามรักษาความสมดุลระหว่างการดูแลตนเองกับการดูแลผู้อื่น แต่เป็นสิ่งที่ยากจะทำได้ เพราะมักจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลผู้อื่น หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อื่นได้

ค่านิยมที่บอกว่า เพศหญิงต้องอยู่กับบ้านทำให้โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง เป็นค่านิยมเชิงซ้อนที่ทำให้ผู้ชายมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนอกบ้าน การมีแหล่งสนับสนุนช่วยลดอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยหญิง และการกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมต่าง ๆ ช่วยลดอาการซึมเศร้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *