แนวคิดเกี่ยวกับโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application)

โมบายแอปพลิเคชัน(Mobile Application) ประกอบขึ้นด้วยคำสองคำ คือ Mobile กับ Application มีความหมาย ดังนี้ Mobile คือ อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้ในการพกพา ซึ่งนอกจากจะใช้งานได้ตามพื้นฐานของโทรศัพท์แล้ว ยังทำงานได้เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจาก เป็นอุปกรณ์ที่พกพาได้ จึงมีคุณสมบัติเด่น คือ ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใช้พลังงานค่อนข้างน้อย ปัจจุบันมักใช้ทำหน้าที่ได้หลายอย่างในการติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกับคอมพิวเตอร์ สำหรับ Application หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อช่วยการทำงานของผู้ใช้ (User) โดย Application จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface หรือ UI) เพื่อเป็นตัวกลางการใช้งานต่าง ๆ (Admission Premium, 2560)[1]

Mobile Application นี้เป็นการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ โดยโปรแกรมนี้จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยสนับสนุนให้ผู้ใช้โทรศัพท์ได้ใช้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนนี้มีหลายระบบปฏิบัติการที่มีการพัฒนาออกมาให้ผู้บริโภคใช้งาน ส่วนที่มีคนใช้แล้วเป็นที่นิยมมากก็คือ iOS และ Android จึงทำให้เกิดการเขียน และการพัฒนา Application ลงบนสมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก อย่างเช่น แผนที่, เกมส์, โปรแกรมการพูดคุยต่าง ๆ และหลาย ๆ ธุรกิจก็ได้เข้าไปเน้นในการพัฒนา Mobile Application เพื่อเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่ง Mobile Application นั้นเหมาะสำหรับธุรกิจองค์กรต่าง ๆ ในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และรวมถึงการขยายการให้บริการผ่านมือถือที่จะสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น สะดวก ในทุกที่ ทุกเวลา ตัวอย่างของกลุ่มธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชันขึ้น มีดังนี้ (เปรมกมล หงส์ยนต์, 2564, หน้า 21)

  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับอสังหาริมทรัพย์ ใช้ในการเก็บข้อมูลลูกค้า การจองซื้อ – ขายบ้านที่ดิน หรือคอนโด (Mobile Application for Real Estate)
  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับการท่องเที่ยว โรงแรม บริษัททัวร์ สามารถดูข้อมูลการจองที่พักได้
  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับการขายสินค้า หรือบริการ ทั้งแบบค้าปลีก ค้าส่ง (Mobile Application for Retail or Wholesale)
  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับการศึกษา สถาบันการศึกษา ห้องสมุด ศูนย์ฝึกอบรม สามารถจัดทำสื่อการสอน การจัดทำบทเรียน (Mobile Application for Education)
  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข ในการให้คำปรึกษาทางไกล (Learning Management System Mobile Application for Healthcare)
  • โมบายแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงานราชการในการนำเสนอฐานข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรม บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในรูปแบบทันสมัยมากขึ้น (Mobile Application for Logistics, Mobile Application for Government)

โมบายแอปพิลเคชันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท[2] (รัตน์สินี ออมสินสมบูรณ์, 2559) ดังนี้

  1. เนทีฟแอปพลิเคชัน (Native Application) คือ แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นด้วยชุดคำสั่ง เพื่อเอาไว้สำหรับพัฒนาโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันของ OS Mobile นั้นโดยเฉพาะ ข้อดีคือ ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่าย จาก Google Play หรือ Apple’s App Store รวมถึงการทำงานแบบไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบางแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ใช้งานสะดวก
  2. ไฮบริดแอปพลิเคชัน (Hybrid Application) คือ แอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้สามารถรันบนระบบปฏิบัติการได้ทุก OS โดยใช้ชุดคำสั่งเข้าช่วย เพื่อให้สามารถทำงานได้ทุกระบบปฏิบัติการ และหลายแพลตฟอร์ม ในแอปพลิเคชันเดียว จึงมีข้อดี คือ ทำให้ผู้พัฒนาไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาเพราะเขียนชุดคำสั่งเดียว สามารถใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
  3. เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) คือ แอปพลิเคชันที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อ Browser สำหรับการใช้งานเว็บเพจต่าง ๆ ซึ่งถูกปรับแต่งให้แสดงผลแต่ส่วนที่จำเป็น เพื่อเป็นการลดทรัพยากรในการประมวลของตัวเครื่องสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้โหลดหน้าเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น ข้อดี คือ ใช้งานง่ายได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงมีการอัปเดต แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา และใช้งานได้ทุกแพลตฟอร์ม

จากการพิจารณาสามารถสรุปได้ว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่มีวิวัฒนาการสูงและมีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ตอบสนองดีกับการพัฒนาเทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ผลิตจึงมีการคิดค้นความสามารถต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมีความสนใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง รวมถึงเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภคเช่นกัน

[1] Admission Premium. (2560). Mobile Application คืออะไร? สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565. จาก https://www.admissionpremium.com/it/news/1852.

[2] รัตน์สินี ออมสินสมบูรณ์. (2559). การศึกษาแนวทางการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันประเภทการคมนาคมขนส่งทางบก. ภาคนิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 17.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *