แนวคิดเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำกิจกรรมการซื้อขาย และการบริการ โดยการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ในการทำธุรกิจได้มากขึ้น โดยผู้ขายจะโฆษณาสินค้าที่ต้องการขายผ่านทางเว็บไซต์ และผู้ซื้อจะเข้ามาชม และค้นหาเพื่อซื้อสินค้าในเว็บไซต์ของผู้ขาย (ปณิศา ลัญชานนท์, 2558)[1]

ประเภทของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำแนกตามประเภทของการทำธุรกรรมการค้าระหว่าง 2 ฝ่าย คือ ผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายมีหลายรูปแบบ ทำให้สามารถจัดประเภทของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ออกเป็นประเภทหลัก ๆ ได้ดังนี้ (ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, 2560) [2]

  1. ธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) คือ การค้าระหว่างองค์กรกับองค์กรด้วยกันเอง ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายต่อครั้งในจำนวนที่สูงเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคในลำดับต่อไป
  2. ธุรกิจกับบุคคล (Business to Consumer: B2C) คือ การค้าระหว่างองค์กรกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งปริมาณการซื้อขายต่อครั้งจะไม่สูงมากนัก หรือจำหน่ายในลักษณะการค้าส่งขนาดย่อม
  3. บุคคลกับบุคคล (Consumer to Consumer: C2c) คือ การค้าระหว่างบุคคลกับบุคคล ปกติปริมาณการซื้อต่อครั้งจะมีน้อยหรือในลักษณะการค้าปลีก
  4. รัฐบาลกับบุคคล (Government to Consumer: G2C) คือ การค้าระหว่างภาครัฐกับผู้บริโภค ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในทางการค้า แต่เป็นลักษณะของการให้บริการประชาชน เช่น การบริการเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต
  5. รัฐบาลกับธุรกิจ (Government to Business: G2B) คือ การค้าระหว่างภาครัฐกับองค์กร ซึ่งจะมีปริมาณการค้าจำนวนมาก

โมเดลทางธุรกิจของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มี 2 รูปแบบ คือ (ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ, 2559)[3]

  1. Click and Mortar เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้าของธุรกิจที่มีสถานที่ขายสินค้าอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ โดยเชื่อมโยงการซื้อขายทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกัน เช่น www.chulabook.com ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ขายหนังสือโดยมีทั้งร้านหนังสือและเว็บไซต์เป็นอีกช่องทางในการขายหนังสือออนไลน์
  2. Click and Click เป็นการให้บริการช่องทางการขายผ่านทางเว็บไซต์เพียงช่องทางเดียวเท่านั้นไม่มีหน้าร้าน เช่น www.lazada.com www.shopee.com เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าหลากหลายประเภท ครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ประเภทของเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแยกได้ 5 ประเภท ดังนี้ (ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ, 2559)

  1. เว็บไซต์แค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (Online Catalog Web Site) ภายในเว็บไซต์จะรวบรวมข้อมูลทั้งรูปภาพ และรายละเอียดของสินค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้ารวมถึงการระบุที่อยู่สำหรับการติดต่อกลับลูกค้า จะไม่มีระบบการชำระเงินผ่านเว็บไซต์และตะกร้าสินค้า โดยผู้ที่สนใจจะซื้อสินค้าต้องทำการติดต่อกับเจ้าของร้านออนไลน์นั้นโดยตรง
  2. ร้านค้าออนไลน์ (E-Shop Web Site) เป็นรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์โดยภายในเว็บไซต์ได้รวมทั้งระบบตะกร้าสินค้า การจัดการสินค้า ระบบการชำระเงินรวมถึงการขนส่ง โดยผู้ที่สนใจจะซื้อสินค้าสามารถสั่งซื้อ ทำการชำระเงินผ่านเว็บไซต์ได้ทันที
  3. การประมูลสินค้า (Auction) เป็นรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำเสนอการประมูลสินค้าโดยเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ที่ต้องการสินค้าที่จัดไว้สำหรับการประมูล
  4. การประกาศซื้อ – ขาย (E-Classified) เป็นรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจลงประกาศความต้องการ ซื้อ – ขายสินค้าของตน โดยเว็บไซต์จะทำหน้าที่เหมือนกับกระดานข่าวและตัวกลางในการแสดงข้อมูลของสินค้าต่าง ๆ หากมีผู้สนใจจะซื้อสินค้า ต้องทำการติดต่อโดยตรงไปยังผู้ที่ลงประกาศได้ทันทีตามข้อมูลที่ประกาศไว้
  5. ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketing) เป็นรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ โดยภายในเว็บไซต์จะมีการรวบรวมเว็ปไซต์ของร้านค้าต่าง ๆ โดยมีการแบ่งหมวดหมู่ประเภทของแต่ละสินค้าเอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูสินค้าภายในร้านค้าต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายและสะดวก เช่น ตลาดสินค้าทั่วไป www.TARAD.com เป็นต้น

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) สามารถตอบสนองการแข่งขันทางธุรกิจได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เช่น ช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถให้บริการได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูลรวมไปถึงการเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้จำหน่ายแต่ละราย ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าและบริการได้ตลอดเวลาและตรงกับความต้องการมากที่สุด


[1] ปณิศา ลัญชานนท์. (2558). หลักการตลาด. กรุงเทพมหานคร : บิสิเนสเวิร์ด.

[2] ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. (2560) รายงานผลการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร.

[3] ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ. (2559). E-Commerce สุดยอดช่องทางรวยทุนน้อยทำง่ายสร้างรายได้ 24 ชั่วโมง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : พงษ์วรินการพิมพ์.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *