ครอบครัวมีความสำคัญต่อการสื่อสารเรื่องเพศ

ผู้ปกครองเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่สำคัญแหล่งแรกสำหรับบุตร ทั้งนี้ เพราะผู้ปกครองสามารถให้ข้อมูลและตอบคำถามที่บุตรต้องการรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศได้อย่างรวดเร็วทันและตลอดเวลาที่บุตรมีคำถาม

การสื่อสารของผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องเพศจะเป็นตัวกำกับให้วัยรุ่นรู้จักป้องกันตนเองจากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อย และการมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการปกป้อง นอกจากนี้ ยังพบว่า การสื่อสารเรื่องเพศของพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศของบุตร กล่าวคือ มีส่วนให้การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกล่าช้าลง เพิ่มอัตราการคุมกำเนิด ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

การสื่อสารของผู้ปกครองกับบุตรสาวเรื่องการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมีอิทธิพลต่อความตั้งใจละเว้นเพศสัมพันธ์ของบุตรสาววัยรุ่นตอนต้นที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ทั้งนี้ เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลักทางสังคม และเป็นบริบทรากฐานของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดปลูกฝังสิ่งที่ดีงาม และขัดเกลาทางสังคมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครอบครัวมีความสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของบุคคลตั้งแต่เกิดหล่อหลอมวิถีชีวิตของบุคคล ค่านิยม เจตคติ จริยธรรม ความสามารถ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และวิธีการแก้ปัญหาล้วนมีอิทธิพลมาจากพื้นฐานครอบครัวของบุคคลทั้งสิ้น ผู้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของวัยรุ่น คือ พ่อ แม่ และผู้ปกครอง อีกทั้งครอบครัวยังมีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเพศให้กับวัยรุ่นด้วยการเลี้ยงดูให้ความรัก ความอบอุ่น โอบอุ้ม กอดและให้การตอบสนองอย่างทันท่วงทีในวัยทารก เพื่อให้ทารกเกิดเรียนรู้ว่ามีคนรักและเอาใจใส่อยู่ข้าง ๆ เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ นอกจากนี้ ต้องเลี้ยงดูให้เด็กพึงพอใจในตนเอง รักตัวเอง รักและนับถือผู้อื่น และมีเจตคติที่เหมาะสมเรื่องเพศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครอบครัวมีทัศนคติที่ดีต่อการสื่อสารเรื่องเพศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และยอมรับว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ควรมีการพูดคุยหรือสื่อสารกันภายในครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีทักษะการสื่อสารเรื่องเพศเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดหลักการสื่อสารเรื่องเพศ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นและเหมาะสม เพราะจะทำให้ลูกมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมและสามารถป้องกันปัญหาทางเพศได้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความเป็นอยู่และสุขอนามัยทางเพศของลูก แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทยยังอยู่จำกัดอยู่ในบางมิติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นมิติทางกายภาพไม่ครอบคลุม และเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม สำนักงานคณกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเพศศึกษาหรือการสื่อสารเรื่องเพศว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเพศที่ครอบคลุมพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ การทำงานสรีระ และการดูแลสุขอนามัย ทัศนคติ ค่านิยม สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ มิติด้านสังคม และวัฒนธรรมที่มีผลต่อวิถีชีวิตทางเพศ เป็นกระบวนการพัฒนาทั้งด้านความรู้ ความคิด ทัศนคติ อารมณ์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคลที่จะช่วยให้สามารถเลือกดำเนินชีวิตทางเพศอย่างเป็นสุข และปลอดภัย สามารถพัฒนาและดำรงความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีความรับผิดชอบและสมดุล ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมแนวคิดหลัก 6 ด้าน ดังนี้

  1. การพัฒนาตามช่วงวัยของมนุษย์ หมายถึง พัฒนาการของมนุษย์ในด้านความสามารถในการสืบพันธุ์ รวมถึงความต้องการ และความพึงพอใจทางเพศ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนรู้สึกพอใจ ภูมิใจ ไม่เกิดปมด้อยในเรือนร่าง และสรีระของตนยอมรับความเป็นตัวตนทางเพศและเพศสภาพของผู้อื่นมีปฏิสัมพันธ์กับทุกเพศอย่างเหมาะสม และเห็นคุณค่าว่า เรื่องเพศเป็นพัฒนาการธรรมชาติของชีวิตมนุษย์
  2. การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีขึ้นพร้อมกับความคาดหวังต่อบทบาทและความรับผิดชอบ สัมพันธภาพที่ดีอยู่บนฐานของการพยายามเรียนรู้ รับฟังกันและกัน มองหาข้อดีเคารพความแตกต่างและให้เกียรติกัน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนสามารถแสดงออกถึงความรักและความผูกพันลึกซึ้งที่ตนมิได้ตามความเหมาะสม พัฒนา และรักษาสัมพันธภาพในความสำคัญที่ตนให้คุณค่า หลีกเลี่ยงที่จะถูกกระทำจากสัมพันธภาพที่เอาเปรียบหลอกลวง ทำร้ายตัดสินใจ โดยมีข้อมูลรอบด้านในการสร้างครอบครัว และสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นใช้ทักษะต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้ตนเกิดสัมพันธภาพที่ดีและมั่นคงกับผู้อื่น
  3. การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล หมายถึง การดำเนินชีวิตตามค่านิยมของตนได้อย่างรู้คุณค่า รู้จักคิด และตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนมีทักษะในการเข้าใจตนเอง และใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับความปรารถนา และค่านิยมของตน สามารถรับผิดชอบกับพฤติกรรม และสิ่งที่ตนได้กระทำ ได้ฝึกฝนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพได้พัฒนาทักษะของการคิดวิเคราะห์ แยกแยะอย่างรอบด้าน สามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนฝูงและคนรัก
  4. พฤติกรรมทางเพศ หมายถึง การแสดงออกทางเพศภายใต้กรอบของสังคม วัฒนธรรม ชีววิทยา และลักษณะเฉพาะบุคคลด้วยท่าทีที่เป็นธรรมชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนสามารถแสดงออกในวิถีเพศที่ตนเองให้คุณค่าโดยเคารพสิทธิของผู้อื่นแยกแยะการกระทำทางเพศที่ทำให้ชีวิตมีสุขภาวะกับการกระทำที่เป็นผลร้ายต่อตนเอง และผู้อื่น แสวงหาข้อมูลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางเพศของตนสร้างความรู้สึกสุขใจ พอใจทางเพศโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องลงมือปฏิบัติตามความรู้สึกความคิดเหล่านั้น มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่โดยความยินยอมพร้อมใจ และสุขใจทั้งสองฝ่ายอย่างปลอดภัย จริงใจ ไม่หลอกลวงเอาเปรียบทำร้าย
  5. สุขภาพทางเพศ หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพที่เอื้อต่อสุขภาวะทางเพศและการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพโดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทั้งการตรวจเต้านอม ต่อมลูกหมากด้วยตนเอง และสามารถบอกถึงสัญญาณความผิดปกติได้แต่เนิ่น ๆ เลือกการคุมกำเนิดได้ตามปรารถนาเมื่อไม่พร้อมที่จะมีบุตร การดูแลที่เหมาะสมเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ และโรคเอดส์จัดการกับชีวิตตามค่านิยมของตนในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ช่วยกันป้องกัน และระงับการทำร้ายการล่วงละเมิดทางเพศ
  6. สังคม และวัฒนธรรม หมายถึง บทบาทของชายหญิง สิทธิทางเพศ ระบบการให้คุณค่า อัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงกรอบการแสดงออกทางเพศที่เหมาะสมภายใต้กรอบของสังคม และวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเคารพต่อความแตกต่างของค่านิยมในเรื่องเพศ ประเมินได้ว่า การเลี้ยงดูในครอบครัว วัฒนธรรม สื่อ และข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับจากสังคมที่ตนอยู่ ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ค่านิยม และการกระทำในเรื่องเพศของตนอย่างไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *