พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นไทย การสื่อสารเรื่องเพศกับวัยรุ่น

ปัจจุบันปัญหาการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นไทย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัยกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่มีการป้องกัน ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอนทุกคนและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือไม่มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างถูกต้อง จึงนำไปสู่การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/เอดส์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การทำแท้งที่ผิดกฎหมาย การคลอดก่อนกำหนด และการคลอดบุตรน้ำหนักตัวน้อย

สาเหตุของปัญหาน่าจะเกิดมาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ ด้านตัววัยรุ่นเองและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สำหรับปัจจัยจากตัววัยุร่นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม ซึ่งวัยรุ่นต้องปรับตัวกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีอารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย อยากรู้ อยากลอง สับสนในบทบาทตัวเองระหว่างการเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ วัยรุ่นยังเป็นวัยที่เพื่อมีอิทธิพลสูงต่อความคิดและการตัดสินใจสูง นอกจากนี้ ยังเป็นวัยที่ให้ความสนใจกับเรื่องเพศอย่างมาก ทั้งนี้ เป็นผลจากพัฒนาการทางเพศที่มีความสมบูรณ์จากอิทธิพลการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง และต่อมเพศ ทำให้วัยรุ่นผู้หญิงมีการพัฒนาลักษณะของความเป็นเพศหญิง และผู้ชายมีลักษณะของความเป็นเพศชาย ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางเพศทำให้วัยรุ่นมีความเป็นหนุ่มสาวและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยต่อมเพศจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้มีแรงขับทางเพศ ซึ่งวัยรุ่นจำนวนหนึ่งระบายแรงขับดันทางเพศนี้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากปัจจัยที่เกิดจากตัววัยรุ่นเองแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น ได้แก่ สภาพแวดล้อมของสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมที่เปิดรับค่านิยมจากวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การแต่งการล่อแหลม การใส่สายเดี่ยว การยอมรับการทักทายด้วยการโอบกอดเป็นผลให้ค่านิยมการรักนวลสงวนตัวของวัยรุ่นไทยลดลงยิ่งไปกว่านั้นการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ เกิดเป็นโลกสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟส บุ๊ค ทำให้การสื่อสารมีความง่ายและสะดวกในการนัดพบและพูดคุย อีกทั้งอิทธิพลอื่น ๆ เช่น สื่อทางเพศต่าง ๆ หนังสือ คลิปวิดีโอลามก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ในปัจจุบันสังคมไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้ค่านิยมเรื่องเพศของวัยรุ่นในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากดังกล่าวข้างต้น การได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศจากโรงเรียนและพ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ที่ผ่านมามีการบูรณาการการสื่อสารเรื่องเพศหรือการสอนเพศศึกษาเข้าสู่หลักสูตรและการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษามานานหลายสิบปี และมีการบรรจุเนื้อหาดังกล่าวมีการบรรจุเนื้อดังกล่าวไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 รวมทั้งมีการพัฒนาการสอนมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านคุณภาพ เนื้อหา รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ โดยได้รับการช่วยเหลือและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น องค์การแพธ เป็นต้น แต่กลับพบว่า การสื่อสารเรื่องเพศในโรงเรียนส่วนใหญ่ ยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ผู้บริหารโรงเรียนไม่ส่งเสริมการสอนเรื่องเพศอย่างจริงจัง การสอนเน้นที่ทฤษฎีแต่ขาดการเชื่อมโยงรอบด้าน ส่วนการสื่อสารเรื่องเพศโดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง พบว่า ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัวไทย อาจจำแนกได้เป็น 2 ประการ คือ จากด้านพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และด้านตัวเด็กเอง กล่าวคือ พ่อ แม่ ผู้ปกครองมักจะมองว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม น่าอับอาย ไม่ควรนำมาพูดคุย การสื่อสารกับลูกเรื่องเพศอาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอก จะทำให้ลูกเกิดความอยากรู้อยากลอง และไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารให้ลูกเข้าใจ ปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง และมักคาดหวังว่า ครูจะเป็นผู้สอนเรื่องนี้ได้ดีกว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองบางส่วนยังมีทัศนคติเรื่องเพศที่เป็นกรอบความคิด ไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ การพึงพอใจทางเพศของลูกที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจำนวนมากที่พร้อมจะพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือมีความรู้ความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น ส่วนปัจจัยด้านตัวเด็ก พบว่า สาเหตุที่วัยรุ่นไม่ชอบพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เนื่องจาก รู้สึกเหมือนถูกจับผิด และพ่อแม่ อาจมองว่า ตนเป็นคน “แก่แดด” นอกจากนี้ วัยรุ่นเองมองว่า พ่อแม่ไม่มีทักษะการฟังที่ดี ไม่สนใจรับฟังอย่างจริงใจ มักโวยวายขณะที่ยังฟังไม่จบ ชอบตัดสิน ดุว่า สั่งสอน และไม่รักษาความลับนำเรื่องที่เล่าไปเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นต้น ดังนั้น เวลามีปัญหาจึงไม่กล้าปรึกษาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แต่กลับไปปรึกษาเพื่อนซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน หรือค้นหาข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นสื่อลามกอนาจารทางเพศ จึงทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเหมาะสม ซึ่งบางครั้งอาจจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง  

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *