แนวคิดเรื่องภาษารัก

แชปแมน (2557) ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาคู่สมรส เขียนหนังสือ The 5 Love Languages โดยเสนอแนวคิดว่า มนุษย์มีภาษารักหรือวิธีการแสดงความรักทั้งหมด 5 แบบด้วยกัน ซึ่งบุคคลแต่ละคนอาจพึงพอใจในภาษาที่แตกต่างกัน ภาษารักของอีกคน อาจไม่ใช่ภาษารักของอีกคน ซึ่งการเรียนรู้ภาษารักของอีกฝ่าย เข้าใจ และแสดงออกอย่างเหมาะสม จะทำให้ชีวิตคู่ราบรื่น และมีความสุขมากขึ้น

ซึ่งแชปแมนเปรียบว่า บุคคลแต่ละคนมีถังบรรจุรักของตนเอง การที่อีกฝ่ายแสดงภาษารักได้ตรงตามความต้องการนั้น เป็นการเติมถึงบรรจุรักนั้นให้เต็ม และทำให้มีความสุข ในทางตรงกันข้าม การที่อีกฝ่ายไม่แสดงภาษารัก หรือแสดงภาษารักที่ไม่ตรงความต้องการก็เป็นการทำให้ถังบรรจุรักนั้นว่างเปล่า

ภาษารักทั้งห้า มีดังนี้

1. คำพูดที่เสริมสร้างความสัมพันธ์

คำพูดที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ คือ การแสดงความรักด้วยคำพูด ตัวอย่างเช่น คำพูดที่ให้กำลังใจ ชื่นชมข้อดี ผลงาน พรสวรรค์ของอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่ง สิ่งเล็ก ๆ น้อย ที่อีกฝ่ายกระทำ การให้กำลังใจคู่ครองได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจ และการมองโลกด้วยมุมมองของอีกฝ่าย เรียนรู้ว่า อะไรสำคัญสำหรับคู่ครอง คนเราส่วนใหญ่มีศักยภาพที่ยังไม่ถูกดึงออกมาใช้ หากคู่ชีวิตมีคำพูดให้กำลังใจ อาจเป็นกำลังใจให้อีกฝ่ายก้าวไปข้างหน้าได้

อีกวิธีที่ทำให้คำพูดที่พูดออกไปเสริมสร้างความสัมพันธ์ คือ คำพูดที่นุ่มนวลอ่อนโยน เพราะความรักนั้นอ่อนโยน หากต้องการสื่อสารความรักด้วยคำพูดก็ต้องใช้ถ้อยคำที่อ่อนโยน คำพูดเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า จะใช้น้ำเสียงแบบไหน หรือแม้กระทั่งการร้องขอให้อีกฝ่ายทำสิ่งใดให้ ก็ควรร้องขอด้วยความอ่อนสุภาพ ไม่ใช่การออกคำสั่ง การร้องขอบางสิ่งจากคนรัก เป็นการยืนยันว่า อีกฝ่ายมีคุณค่า และมีความสามารถ การออกคำสั่งอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโดนดูถูก ที่สำคัญการขอร้องอย่างอ่อนสุภาพทำให้อีกฝ่ายมีทางเลือกว่า จะทำให้หรือปฏิเสธ เพราะความรักไม่ใช่การบังคับฝืนใจ แต่เป็นการเปิดทางเลือกให้อีกฝ่าย และคำพูดขอร้องอย่างสุภาพเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แสดงความรักอย่างเต็มใจ

2. ให้เวลาอย่างมีคุณค่า

ให้เวลาอย่างมีคุณค่า คือ การทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้อีกฝ่ายไม่ใช่แค่การอยู่ด้วยกัน ยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่คอยเรียกร้องความสนใจ เช่น มือถือ โทรทัศน์ ดังนั้น แก่นของการให้เวลาอย่างมีคุณค่าต่อผู้อื่น คือ การทุ่มเทความสนใจของเราให้อีกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ให้เวลาในการพูดคุยและรับฟัง คนสองคนแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกและความปรารถนาให้แก่กันและกัน เป็นการสนทนากันด้วยความเห็นอกเห็นใจท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตร และปราศจากสิ่งรบกวน ภาษารักแบบนี้จะแตกต่างจากภาษารักแบบแรกตรงที่ คำพูดที่เสริมสร้างความสัมพันธ์เน้นในสิ่งที่เราพูด ในขณะที่การพูดคุยและรับฟังเน้นสิ่งที่เราได้ยิน ความสัมพันธ์จำเป็นต้องอาศัยการรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อจะได้เข้าใจอีกฝ่าย และยินดีให้คำแนะนำเมื่ออีกฝ่ายร้องขอเท่านั้น และไม่ควรทำด้วยท่าทีเย่อหยิ่ง แชปแมนได้แนะนำเคล็ดลับการรับฟังอีกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) สบตาขณะที่อีกฝ่ายกำลังพูด 2) อย่าฟังไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย 3) พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย 4) สังเกตภาษากายประกอบบางครั้งคำพูดอาจไม่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง 5) อย่าขัดจังหวะ

นอกจากนี้ การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันก็เป็นการให้เวลาอย่างมีคุณค่าด้วยเช่นกัน อาจเป็นกิจกรรมที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชื่นชอบ เช่น เล่นกีฬา ช็อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่กิจกรรมที่ทำร่วมกัน แต่อยู่ที่เรากำลังใช้เวลาจดจ่ออยู่ที่กันและกัน

3. ให้ของขวัญ

การให้ของขวัญ คือ การมอบบางสิ่งบางอย่างให้อีกฝ่าย ของขวัญ คือ สัญลักษณ์แห่งรักที่มองเห็นได้ นี่คือ เหตุผลว่า ทำไมแต่ละคนจึงมีทัศนคติเกี่ยวกับแหวนแต่งงานต่างกันไป บางคนไม่เคยถอดเลย แต่บางคนไม่เคยใส่เลย สำหรับบางคนนั้น เครื่องหมายแห่งความรักที่มองเห็นได้ด้วยตานั้นสำคัญมาก และราคาของขวัญมีความสำคัญเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าของขวัญ คือ ภาษารักที่สำคัญที่สุดสำหรับใคร แทบทุกสิ่งที่ได้รับจากอีกฝ่ายจะเป็นเครื่องหมายที่แสดงออกซึ่งความรัก นอกจากนี้ การอยู่เคียงข้างคนรักในช่วงเวลาที่อีกฝ่ายกำลังลำบากก็จัดเป็นการมอบตัวเองให้เป็นของขวัญด้วยเช่นกัน

4. ทำบางสิ่งบางอย่างได้

ทำบางสิ่งบางอย่างได้ คือ การทำบางสิ่งบางอย่างที่รู้ว่า อีกฝ่ายอยากให้ทำ มีความต้องการทำให้อีกฝ่ายมีความสุขด้วยการปรนนิบัติ และอยากแสดงความรักด้วยการทำบางสิ่งบางอย่างให้ แม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทำกับข้าว ล้างจาน ตัดหญ้า ล้างรถ จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความรักให้หากทำด้วยใจยินดี

ในทางตรงกันข้าม การทำบางสิ่งบางอย่างให้ก็ไม่ใช่การแสดงความรัก ตัวอย่างเช่น การทำสิ่งต่าง ๆ ให้ด้วยความรู้สึกผิด เพราะอีกฝ่ายบอกว่า ถ้าไม่ทำแสดงว่า ไม่ใช่คนรักที่ดี การทำสิ่งต่าง ๆ ให้ด้วยความรู้สึกหวาดกลัว เพราะโดนข่มขู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การกระทำจากความรัก แต่เป็นการทำร้าย เพราะกำลังยอมให้อีกฝ่ายสร้างนิสัยที่ไม่ดีขึ้นมา

5. สัมผัสทางกาย

สัมผัสทางกาย คือ การสัมผัสร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างรักใคร่ เช่น จับมือ กอด หอม จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้งห้า การแตะต้องตัวแตกต่างจากประสาทสัมผัสอื่น ๆ เพราะเป็นประสาทสัมผัสที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ร่างกายของมนุษย์มีหน่วยรับการสัมผัสเล็ก ๆ อยู่ทั่วไปหมด แต่ทุกแห่งไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนกันหมด บางคนอาจพอใจการสัมผัสบางแห่งมากกว่าแห่งอื่น ๆ

สัมผัสทางกายอาจเป็นไปในลักษณะที่แสดงออกถึงความรักอย่างชัดเจน และตั้งใจอย่างเต็มที่ เช่น การนวด หรือการเล้าโลม หรืออาจเป็นในลักษณะที่แสดงออกซึ่งความรักแบบเป็นนัย และอาจใช้เวลาไม่มาก เช่น การวางมือบนไหล่ของอีกฝ่าย การแตะตัวยามเดินผ่านกัน นอกจากนี้ การสัมผัสกายในช่วงเวลาวิกฤติ เป็นการสื่อความรักที่ทรงพลัง เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบาก คนมักต้องการความรักมากเป็นพิเศษ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *