ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก

ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก โดยระบุว่าความรักมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. ความลุ่มหลง คือ ความรู้สึกโรแมนติก ถูกดึงดูดทางกาย และมีความสนใจทางเพศ
  2. ความสนิท คือ ความรู้สึกใกล้ชิดกัน เข้าใจกัน และมีความห่วงใยต่อสวัสดิภาพ และความสุขของกันและกัน
  3. การตัดสินใจและการผูกมัด คือ ความสัมพันธ์ที่แน่นอน การตัดสินใจให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักคงอยู่

องค์ประกอบทั้งสามนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบความรักหลากหลายรูปแบบ

ภาพแสดงทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักของสเตอร์นเบิร์ก

จากภาพจะเห็นว่า องค์ประกอบทั้งสามอยู่ในแต่ละมุมของสามเหลี่ยม ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสามองค์ประกอบก่อให้เกิดรูปแบบความรัก 8 แบบ ตามภาพดังต่อไปนี้

ภาพแสดงรูปแบบความรัก
  1. ไร้รัก คือ ภาวะขาดทั้งสามองค์ประกอบ
  2. ความชอบ คือ ความรักที่มีองค์ประกอบแค่ความสนิทเพียงอย่างเดียว เป็นมิตรภาพระหว่างบุคคลที่ขาดความรู้สึกรุนแรง เป็นความรู้สึกใกล้ชิด อบอุ่น แต่ไม่ผูกพันกัน
  3. ความรักแบบหลง คือ ความรักที่มีองค์ประกอบแค่ความลุ่มหลงเพียงอย่างเดียว เป็นรักแรกพบ หรือรักที่เกิดขึ้นง่าย รวดเร็ว และเร้าอารมณ์ อาจทำให้ร่างกายมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือมีอารมณ์ทางเพศ
  4. ความรักที่ว่างเปล่า คือ ความรักที่มีองค์ประกอบแค่การตัดสินใจ และการผูกมัดเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการเริ่มต้นผูกมัด โดยไม่มีความรู้สึกรักกัน เช่น การแต่งงาน แบบคลุมถุงชนในบางสังคม ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้น และค่อย ๆ พัฒนา ไปเป็นรักในแบบอื่น หรือ ความรักในแบบอื่นได้ล่มสลายลง และกลายเป็นความรักแบบว่างเปล่า
  5. ความรักโรแมนติก คือ ความรักที่มีองค์ประกอบเป็นความลุ่มหลง และความสนิท เป็นความรักที่เพิ่มเติมจากความชอบ ด้วยแรงดึงดูดทางกายภาพ และอารมณ์
  6. ความรักแบบเพื่อน คือ ความรักที่มีองค์ประกอบเป็นความสนิท และการตัดสินใจและการผูกมัด เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนมิตรภาพ มักเกิดขึ้นกับคู่สมรสที่ไม่มีแรงดึงดูดทางกายภาพต่อกันแล้ว แต่มีความเข้าใจกัน และร่วมกันรักษาสัมพันธภาพไปในระยะยาว
  7. ความรักแบบโง่เขลา คือ ความรักที่มีองค์ประกอบเป็นความลุ่มหลง และการผูกมัด เป็นความรักที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตัดสินใจอยู่ร่วมกัน หรือแต่งงานกัน ในเวลาไม่นาน โดยที่อาจยังไม่มีความเข้าใจกันมากพอ มีความเสี่ยงต่อการหย่าร้าง
  8. ความรักอันสมบูรณ์ คือ ความรักที่มีองค์ประกอบทั้งสามครบถ้วน เป็นความรักในอุดมคติที่คู่รักหลายคนปรารถนา โดยเฉพาะคู่รักแบบรักโรแมนติก

ความรักมีการเปลี่ยนแปลงในสามช่วงเวลาหลัก คือ ช่วงเริ่มสานสัมพันธ์ ความหมายของความรัก คือ ความชอบพอกัน ดึงดูดใจกัน ต่อมา คือ ช่วงหลังแต่งงาน ความหมายของความรักเปลี่ยนไปเป็นความลึกซึ้ง และการรับผิดชอบร่วมกัน และช่วงการเจ็บป่วย และหลังการเจ็บป่วย ความรัก คือ ความห่วงใย สงสาร เห็นอกเห็นใจ

องค์ประกอบความรักของทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรักในแต่ละช่วงก็เปลี่ยนไปด้วย ช่วงก่อนการแต่งงาน เกิดความลุ่มหลง และความสนิท จนนำมาสู่การตัดสินใจและการผูกมัด คือ การแต่งงาน หลังแต่งงานแล้วชีวิตคู่ในช่วงสองสามปีแรกมีรูปแบบ ความอันสมบูรณ์ กล่าวคือ มีองค์ประกอบครบทั้งสามด้าน จากนั้นความลุ่มหลง จะลดลงไป ภายหลังการเจ็บป่วย ความลุ่มหลง ลดลงอย่างมาก เกิดความรู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจ และ “ความผูกมัดรับผิดชอบ” หรือการตัดสินใจและการผูกมัด ทำให้คู่สมรสอุทิศตัวดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

นอกจาก ความรักระหว่างบุคคลแล้ว ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักยังถูกนำไปขยายต่อในมิติทางการตลาด ซึ่งความรักในแบรนด์สินค้ามีสามองค์ประกอบ ได้แก่ ความคุ้นเคยในแบรนด์ ความหลงใหลในแบรนด์ และความเชื่อมั่นในแบรนด์ ผลการสร้างแบบวัดความรักในแบรนด์สินค้า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการทำให้ลูกค้ารักในแบรนด์สินค้า คือ ความเชื่อมั่นในแบรนด์ ส่วนองค์ประกอบที่ส่งผลน้อยที่สุดต่อความรักในแบรนด์สินค้า คือ ความหลงใหลในแบรนด์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *