ความรัก (1)

ความรักในแนวคิดของนักจิตวิทยา คือ อารมณ์ชนิดหนึ่งเหมือนอารมณ์ โกรธ เศร้า หรือดีใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งเร้า” ความรักเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้น และพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ จากความรักแบบหนึ่งไปเป็นความรักอีกแบบหนึ่ง และหายไปได้ในที่สุด ภายใต้องค์ประกอบ คือ ความผูกพัน ความใกล้ชิด มิตรภาพ การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน และความยืดหยุ่น

อุมาพร ตรังคสมบัติ (2545) ให้ความหมายของความรักว่า “เป็นความผูกพันทางอารมณ์ ที่แสดงใน 3 ด้าน ได้แก่

  • ด้านความรู้สึก : ความรู้สึกรักใคร่ ความรู้สึกชอบ รู้สึกเป็นสุขที่ได้อยู่ใกล้
  • ด้านความคิด : การมองผู้ที่ตนรักในแง่ดี มองเห็นคุณค่าและความหมายของเขา อยากทำสิ่งที่ดีให้ และปรารถนาที่จะให้เขาพบแต่ความสุข
  • ด้านการกระทำ : การปฏิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน การดูแลเอาใจใส่ การสัมผัส การกอดจูบ และมีเพศสัมพันธ์

กรมสุขภาพจิต (2558) ให้ความหมาของความรักว่า หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน และจากทฤษฎีการเรียนรู้ ทำให้เข้าได้ว่า ความรักแม้บางทีอาจดูเหมือนไม่มีเหตุผล แต่หากเมื่อความรักบังเกิดขึ้นแล้วก็เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ได้แบ่งความรักออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ความรักที่ไม่อิงอารมณ์ใคร่ เช่น ความรักระหว่างเพื่อน พี่น้อง พ่อแม่ลูก ญาติสนิท ธรรมชาติของความรักประเภทนี้จะมั่นคง ยืนยาว และเป็นความรักที่ต่างจากรักของคู่รักหรือสามีภรรยา
  2. ความรักฉันท์คู่รัก หรือรักด้วยใจพิศวาสปรารถนา เป็นความรักที่ผสมผสานระหว่างอารมณ์ใคร่ และความดึงดูดด้านสรีระ หรือความยั่วยวนทางร่างกาย ความรักแบบนี้จะทำให้รู้สึกอ่อนไหว เปราะบาง ตื่นเต้น บางครั้งก็สับสนและเจ็บปวด

ความรักจึงหมายถึง อารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีต่อผู้อื่น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ปรารถนาดี และอยากใกล้ชิดผู้อื่น ซึ่งสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ และหายไปได้ โดยเป็นปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองคน ความรักเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ซึ่งสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงและหายไปได้ ความรักยังคงมีหลากหลายรูปแบบ และได้มีนักวิชาการหลายคนได้กล่าวถึงรูปแบบความรักลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

Lasswell and Lasswell (1976) แบ่งความรักของชายหญิงตามช่วงเวลาเกิด ดังนี้

  1. ความรักแบบโรแมนติก เกิดขึ้นในช่วงต้นของการเกี้ยวพาราสี
  2. ความรักที่มีเหตุผล คือ ความรักในช่วงเวลาถัดมา ที่ความตื่นเต้นลดลง เกิดการเห็นข้อดีข้อเสียของกันและกัน
  3. ความรักแบบเพื่อน คือ ความรักที่เกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนานวันเข้า เป็นความรักที่เติบโตและมีวุฒิภาวะ

หนังสือชื่อ The Color of Love ได้แบ่งความรักออกเป็น 6 ชนิดได้แก่

  1. เป็นความรักที่มีความใคร่เกี่ยวข้องและมีความปรารถนาที่จะร่วมรักกับบุคคลที่รัก (Eros)
  2. เป็นความคลั่งไคล้ และมีความต้องการสูง ซึ่งมักก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความวิตกกังวล เพราะมีความต้องการความสนใจจากอีกฝ่ายหนึ่งมากอย่างไม่สิ้นสุด
  3. เป็นความรักในลักษณะคล้ายกับต้องการชนะการแข่งขัน เพื่อสนองความหลงตัวเอง หรือความเห็นแก่ตัว
  4. เป็นความรักแบบเพื่อน เป็นความรักที่สงบและแน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนสนิท
  5. เป็นความรักที่มีแต่ความเมตตา อดทนและให้อภัยเสมอ
  6. เป็นความรักที่มีเหตุผล และได้พิจารณาตรึกตรองดีแล้ว

Hatfield and Rapson แบ่งความรักออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. รักแบบลุ่มหลง คือ ความรักที่มีอาการโหยหา มีความใคร่ และตื่นเต้นต่อบุคคลพิเศษคนหนึ่ง อยากอยู่ด้วยกันให้นานที่สุด และอยากสัมผัสทางกาย คนที่รักกันจะคิดถึงกันและกัน มีความสุขเพียงได้เห็นหน้ากัน และแสดงอาการต่าง ๆ ที่แสดงว่า มีอารมณ์รุนแรง
  2. รักแบบเพื่อน คือ ความรักที่มีความสงบเยือกเย็นกว่า มีการรับรู้ว่า คู่ของตนเป็นเนื้อคู่ หรือคนสำคัญ มีความเข้าใจ และการใส่ใจต่อกันสูง และในหลายกรณีมีการอุทิศตนเพื่อให้ความสัมพันธ์ประสบความสำเร็จ

จากที่อ้างอิงข้างต้น กล่าวได้ว่า ความรักมีหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแปรผันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลา อายุของบุคคล รูปลักษณ์ภายนอก นิสัยใจคอ และทัศนคติของบุคคล เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรูปแบบความรักที่บุคคลจะมีต่อกัน ซึ่งทำให้ความรักมีหลากหลายประเภทแตกต่างกันไป ซึ่งการแสดงออกระหว่างบุคคลก็แปรผันไปตามรูปแบบความรักที่เกิดขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *