ภาพสะท้อนด้านความรักในเพลงไทยลูกทุ่ง

พัฒนาการในการสื่อสารของเพลงลูกทุ่งในยุคปัจจุบันนี้ เพลงลูกทุ่งมีความหลากหลายมากขึ้น มีการผสมผสานระหว่างความเป็นท้องถิ่นและความเป็นเมือง ทั้งวิถีชีวิต ภาษา เนื้อหาที่สะท้อนภาพสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงตัวศิลปินที่มีการแต่งกาย หรือมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น นอกจากนั้น ธุรกิจเพลงลูกทุ่งก็ใหญ่ขึ้น มีค่ายเพลงเล็กใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในยุคนี้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง ลงระบบดิจิทัล และช่องทางโทรทัศน์ก็มีบทบาทมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่ง เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งในยุคปัจจุบันสะท้อนสังคมในปัจจุบันทั้งเรื่องการใช้ภาษาและเนื้อหาที่ล่อแหลม ซึ่งภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาปาก และภาษาวัยรุ่นที่มีการคิดขึ้นมาใหม่หรือนำคำที่มีอยู่มาใช้สื่อความหมายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำ ๆ นั้น เพื่อให้เพลงติดหู สร้างยอดขาย

เพลงที่ขับร้องโดยแม่ผ่องศรี วรนุช นอกจากจะมีภาพสะท้อนด้านค่านิยมต่าง ๆ ในสังคม ยังมีภาพสะท้อนด้านวัฒนธรรมความคิด โดยเป็นความคิดของหนุ่มสาวที่รำพึงรำพันเกี่ยวกับความรักทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามทฤษฎีรสจะพบภาพสะท้อนความคิดต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ศฤงคารรส พบภาวะชายหญิงที่ปรารถนาจะติดต่อกันด้วยกลวิธีที่บอกถึงความรักใคร่ ภาวะทางความคิดของชายหญิงที่มีความรักใคร่ใกล้ชิดกันแล้วต้องพลัดพรากจากกัน ภาวะความคิดของชายหญิงที่มีความรู้สึกชื่นใจที่ต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาต่อกัน
  2. หาสยรส พบภาพสะท้อนความคิดเกี่ยวกับความสนุกสนาน
  3. กรุณารส พบภาวะความคิดในห้วงแห่งความทุกข์โศกจากความไม่ยุติธรรม และภาวะทางความคิดในห้วงแห่งความทุกข์โศกอันเกิดจากความเสื่อมในความรัก
  4. เราทรรส พบภาพสะท้อนความคิดเกี่ยวกับความเคืองแค้น
  5. วีรรส พบภาพสะท้อนความคิดเกี่ยวกับการชื่นชมในความกล้าหาญ
  6. ภยานกรส พบภาพสะท้อนความคิดเกี่ยวกับความเกรงกลัว สิ่งที่เกิดจากการหลอกลวง เกรงกลัวความไม่แน่นอน และเกรงกลัวภัยจากการกระทำ และ
  7. พีภัตสรส พบภาพสะท้อนความคิดที่เกี่ยวกับความชิงชัง

นอกจากการสะท้อนภาพชีวิตของชาวชนบท และการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมแล้ว ยังพบการสะท้อนภาพความรักอีกด้วย โดยเพลงลูกทุ่งอีสานของศิริพร อำไพวงษ์ ส่วนใหญ่จะสะท้อนเรื่องราวความรัก การรอคอย ความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาว การที่เพลงส่วนใหญ่มีเนื้อหาเช่นนี้เพราะความรักเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นั่นเอง โดยมีเนื้อหาทั้งความรักที่สุขสมหวัง ชายหนุ่มหญิงสาวมอบความรักให้แก่กันอย่างมั่นคงและจริงใจ ไม่ยอมแพ้อุปสรรคขวากหนาม และความรักที่ผิดหวัง บรรยายความเจ็บช้ำของหญิงสาว นอกจากนี้ ยังพบการสะท้อนภาพความรักในแบบให้กำลังใจให้ลุกขึ้นสู้เพื่อคนที่ตนรักอีกด้วย

เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ของเพลงในช่วงนั้นเป็นเนื้อหาที่พูดถึงความรักรูปแบบต่าง ๆ 13 ลักษณะ คือ อยากมีคนรัก แอบรัก การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว การให้กำลังใจคนรัก ความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกัน การพรรณนาความรู้สึกที่มีต่อคนรัก ความเจ็บปวดเมื่อคนรักจากไป การตามหาคนรัก ความผิดหวังในความรัก ความเจ้าชู้ของผู้ชาย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับภรรยาน้อย ความรักแบบขบขัน และความรักระหว่างแม่ลูก เนื้อหาที่พบเป็นลำดับถัดมา คือ เนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในเมือง ส่วนภาษาที่ใช้นั้นพบภาษา 9 แบบ โดยพบมากที่สุด คือ การใช้ภาษาปาก หรือภาษาพูด และภาษาถิ่นมากที่สุด ในด้านภาพสะท้อนสังคมด้านความรักนั้น เพลงในยุคนี้แสดงถึงทัศนคติเรื่องความรักของผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เช่น ความเด็ดเดี่ยวเรื่องความรัก การเลือกคนรัก พฤติกรรมทางเพศ และเรื่องความเจ้าชู้ของผู้ชายที่ไม่รักเดียวใจเดียว ซึ่งยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อุปลักษณ์ (การเปรียบเทียบด้วยการกล่าวว่า สิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง เชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับความรักในเพลงไทยลูกทุ่งยุคก่อนมีการใช้ถ้อยคำอุปลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมชนบทและวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เช่น “ความรัก คือ มนุษย์” “ความรัก คือ พืช” “ความรัก คือ สัตว์” “ความรัก คือ อาหาร” “ความรัก คือ ธรรมชาติ” เป็นต้น ในขณะที่เพลงไทยลูกทุ่งยุคปัจจุบันมีการใช้ถ้อยคำอุปลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัย ความเจริญเติบโตของสังคม เช่น “ความรัก คือ สงคราม” “ความรัก คือ สิ่งก่อสร้าง” “ความรัก คือ การเรียน” เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่ปรากฏในบทเพลงของแต่ละฝ่ายจะแปรผันไปตามเหตุผลที่อยากให้สังคมรับรู้และเข้าใจ ซึ่งพฤติกรรมการนอกใจเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม สำหรับค่านิยมของสังคมไทย บทเพลงจึงเป็นหนทางในการระบายความคับข้องใจ และช่องทางที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *