ภาพสะท้อนสังคมไทยในเพลงไทยลูกทุ่งยุคอดีต (พ.ศ. 2481 – 2550)

วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งไทยในสังคมไทย พ.ศ. 2481 – 2535

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เริ่มมีการแบ่งแยกเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุงออกจากกัน โดยที่เพลงลูกุท่งที่เกิดและแพร่หลายในสังคมเมืองได้แพร่หลายออกสู่สังคมชนบทโดยเฉพาะ ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนชนบทได้เข้ามาเป็นแรงงานในเมืองจำนวนมาก และรับเอาวัฒนธรรมความทันสมัยจากเมืองมากขึ้น บทเพลงลูกทุ่งจึงมีลักษณะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนชนบทที่เสมือนอยู่ระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่

จากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2511 วงการเพลงลูกทุ่งเข้าสู่ระบบการบริหารของนายทุน และเพลงไทยสากลแนวใหม่ทันสมัย เพลงลูกทุ่งซึ่งมีจุดเด่นในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ได้ใช้ดนตรี และท่วงทำนองสากลใหม่ ๆ ตามนิยมมาใช้ด้วย ในด้านเนื้อหายังคงมีวิถีชีวิตของชาวชนบทเป็นสำคัญ ซึ่งในช่วงนั้นเพลงลูกทุ่งได้เสนอสาระที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนชนบทในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และสภาพความเป็นอยู่ที่เหลื่อมล้ำกับคนเมือง

เพลงไทยลูกทุ่งเมื่อเทียบเข้ากับประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของเพลงไทยลูกทุ่งที่ดำเนินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยยุคต่าง ๆ โดยกำหนดช่วงเวลาที่ศึกษาเสนอภาพสะท้อนสังคมกับรสวรรณคดีในเพลงลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2500 – 2550 ที่พบว่า เพลงลูกทุ่งในช่วงนั้นได้สะท้อนด้านสังคม ได้แก่ อาชีพ ปัญหาสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคม การศึกษา การสื่อสาร การปกครอง และการแบ่งชนชั้น รวมทั้งยังพบอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ อิทธิพลความเชื่อด้านบาปบุญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เวรกรรม โชคชะตา ภพชาติ ไสยศาสตร์ คำสาบาน ความฝัน อิทธิพลในทางวรรณคดี และฤกษ์ยาม ในขณะเดียวกันเพลงไทยลูกทุ่งก็ยังสะท้อนค่านิยมด้านวัตถุ (เงิน) ด้านอยากมีชื่อเสียง และด้านวัตถุ (ทอง เพชร อัญมณี)

เพลงลูกทุ่งเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าสาระเกี่ยวกับสังคมและวิถีชีวิตของชนบทไทยอย่างกว้างขวาง อันยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียม และสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีค่านิยมหลายประการของชาวชนบท เช่น ค่านิยมในวัตถุ การบริโภคไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ จากภาพสะท้อนเหล่านี้ อาจจัดว่า เพลงลูกทุ่งเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตได้ด้วย

วรรณกรรมเพลงลูกทุ่งชุดแม่ไม้เพลงไทยที่ขับร้องโดยแม่ผ่องศรี วรนุช สะท้อนภาพด้านเศรษฐกิจในด้านการผลิต และบริโภค สะท้อนค่านิยมในการนับถือบุคคล สะท้อนค่านิยมในความรักสนุก และสะท้อนค่านิยมในความเชื่อเรื่องบุญกรรม ทั้งนี้ การสะท้อนสังคมในระดับบุคคลนั้น จะเป็นเพลงลูกทุ่งแนวคาเฟ่ที่มีภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่จะปรากฏในเพลง 3 แบบ คือ

  • ภาพลักษณ์แบบกุลสตรี ซึ่งถูกนำเสนอให้ยึดมั่นในความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมแบบดั้งเดม
  • ภาพลักษณ์แบบหญิงกล้า ซึ่งถูกนำเสนอให้เป็นวัตถุและสินค้าทางเพศ กล้าแสดงออก โดยใช้รูปร่างยั่วยวน และยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพื่อแลกกับทรัพย์สิน เงินทอง และ
  • ภาพลักษณ์ที่รวมทั้งแบบกุลสตรีและแบบหญิงกล้า ซึ่งถูกนำเสนอให้เป็นผู้หญิงในสังคมยุคใหม่ กล้าแสดงออกทางเพศ แต่ยังยึดมั่นในกุลสตรี

ซึ่งภาพลักษณ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาพลักษณ์หญิงกล้า รองลงมา คือ กุลสตรี และน้อยที่สุด คือ ภาพลักษณ์ที่รวมทั้งแบบกุลสตรีและแบบหญิงกล้า

พัฒนาการในการสื่อสารของเพลงลูกทุ่งผ่านการเล่าเรื่องตามค่านิยมของสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน พบว่า ช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 ภาพสะท้อนของเพลงมีความสัมพันธ์กับท้องถิ่น ความเป็นชนบทอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว เช่น ความทุกข์ยากของการดำเนินชีวิต ซึ่งในยุคนั้นยังไม่เรียกว่า “เพลงลูกทุ่ง” แต่เรียกว่า เพลงตลาด หรือเพลงชีวิต

จากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2520 ก็เข้าสู่ยุคการแข่งขัน ซึ่งเป็นยุคที่เพลงลูกกรุงแยกขาดจากเพลงลูกทุ่งแล้ว จึงมีความพยายามที่จะสร้างความโดดเด่นให้แก่กลุ่มเพลงและตัวศิลปินเพื่อให้ได้รับความนิยม และเป็นช่วงที่นักร้องลูกทุ่งเกิดใหม่ขึ้นเยอะ โดยเฉพาะศิลปินที่โด่งดังจนได้รับการขนานนามว่า “ราชินีลูกทุ่ง” คือ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงปี พ.ศ. 2528 แต่ในช่วง 20 ปีหลังจากนั้นเป็นช่วงที่เพลงลูกทุ่งซบเซาลง เนื่องจาก มีแนวเพลงใหม่ ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ รวมทั้งสังคมไทยในตอนนั้นเป็นช่วงที่มีการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองรุนแรง

หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2541 จนถึง พ.ศ. 2550 ตลาดเพลงลูกทุ่งได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งและมีนักร้องหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และเนื้อหาของบทเพลงก็สะท้อนสังคมในยุคที่ค่อนข้างเป็นเรื่องของศีลธรรมตามค่านิยมของสังคมไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ค่านิยมภาพสะท้อนของเพลงลูกทุ่งในยุคอดีตที่กล่าวมานี้ ยังคงเป็นการเล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนตามท้องถิ่นชนบท ความดิ้นรนทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพในเมืองกรุง รวมถึงเรื่องราวความรักของบุคคลที่ต้องห่างไกลจากคนรัก เนื่องจาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเข้าเมืองเพื่อมาหางานทำ

ภาพสะท้อนสังคมโดยรวมของเพลงไทยลูกทุ่งแล้ว ยังมีภาพสะท้อนวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 – 2552 มีภาพสะท้อนอย่างหลากหลาย ได้แก่

  • ภาพสะท้อนด้านครอบครัว พบว่า มีความเอื้ออาทรต่อกัน และปัญหาสามีมีภรรยาหลายคน
  • ภาพสะท้อนด้านการศึกษา ที่พบว่า นิยมให้บุตรหลานศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
  • ภาพสะท้อนด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชาวใต้มีอาชีพทำสวนยาง สวนกาแฟ ประมง
  • ภาพสะท้อนด้านการเมืองการปกครอง พบว่า มีความคาดหวังต่อสังคมนักการเมือง และภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่ดี
  • ภาพสะท้อนด้านความเชื่อและศาสนา พบว่า มีคววามเชื่อไม่น้อยกว่า 14 เรื่อง เช่น กฎแห่งกรรม ฤกษ์ยาม
  • ภาพสะท้อนด้านประเพณี พบภาพสะท้อนด้านภาษาถิ่นใต้ที่พบว่ามีการใช้ไม้น้อยกว่า 100 คำ และ
  • ภาพสะท้อนด้านศิลปะการแสดง มีหนังตะลุง และมโนราห์

จะเห็นได้จาก บทเพลงของต่าย อรทัย ที่สะท้อนให้เห็นภาพสังคมอีสาน 4 ประการ ได้แก่

  1. ภาพสะท้อนด้านเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนภาพผู้คนอีสานว่า มีฐานะยากจน เข้ามาทำงานในเมืองหลวง มีการศึกษาน้อย และทำงานเป็นผู้ใช้แรงงาน
  2. ภาพสะท้อนด้านวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรักหนุ่มสาว ความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ความรักระหว่างเพื่อน ความรักบ้านเกิด ความรักตัวเองและคนในภาคเดียวกัน
  3. ภาพสะท้อนวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีกสาน และ
  4. ภาพสะท้อนด้านความเชื่อ ทั้งด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กฎแห่งกรรมและชาติภพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *