ประวัติศาสตร์ของเพลงไทยลูกทุ่ง ความรักของหนุ่มสาว

ประวัติศาสตร์ของเพลงไทยลูกทุ่ง และสามารถแบ่งเพลงไทยลูกทุ่งเป็นยุคต่าง ๆ ได้ดังนี้

ยุคต้น (พ.ศ. 2481 – 2507) เป็นยุคเบิกเพลงไทยลูกทุ่ง เนื้อหาช่วงนี้ มักกล่าวถึง ธรรมชาติที่สวยงามของชนบท ความรักของหนุ่มสาว ความยึดมั่นในศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณียุคทองของเพลงไทยลูกทุ่ง (พ.ศ. 2507 – 2513) เนื้อหาของเพลงมีหลากหลาย เช่น บรรยายถึงชีวิตในชนบท สะท้อนชีวิตสาวชาวนา ที่หลงแสงสีเมืองกรุง เพลงไทยลูกทุ่งมาถึงยุคเฟื่องฟูมากที่สุดในยุค “สุรพล สมบัติเจริญ” ซึ่งได้รับสมญาว่า เป็นราชาเพลงไทยลูกทุ่ง เนื่องจาก มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ในด้านการแต่งคำร้องทำนองที่แปลงไม่เหมือนใคร เนื้อหาของเพลงมีทั้งที่เป็นความรัก การเกี้ยวพาราสี ความประทับใจ และสนุกสนาน

ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 – 2515) เมื่อมีการแข่งขันกันเองระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงไทยลูกทุ่งในยุคนี้ จึงเริ่มนำเพลงไทยลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ นอกจากนี้ เนื้อหาเป็นเรื่องของชาวชนบทท้องทุ่งท้องนาแล้ว ยังแทรกอารมณ์ขันและคารมเสียดสีด้วย

ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 – 2519) หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงไทยลูกทุ่งซึ่งมีความไวต่อเหตุการณ์รอบตัวก็มีการแต่งเพลงในแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น สะท้อนความยากจนของชาวนาชาวไร่

ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2519 – 2528) หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของเพลงไทยลูกทุ่งที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร และแนวเพื่อชีวิตมีน้อยลง เนื่องจาก การปิดกั้นของภาครัฐ ส่งผลให้กลับมานิยมเนื้อหาด้านการเกี้ยวพาราสี และความรักของหนุ่มสาว ใช้เงินลงทุนมากขึ้น ใช้เทคนิคแสง สี เสียงทีทันสมัย การเต้นประกอบเพลงของหางเครื่อง มีความอลังการมากขึ้น เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้สะท้อนปัญหาใหม่ ๆ ของสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การขายแรงงานในต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐานในการประกอบอาชีพของชาวชนบท เข้าสู่เมืองหลวง

ยุคเมืองไทยลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. 2528 – 2535) เมื่อดนตรีแนวสตริง และแนวร็อกที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพลงไทยสตริงสำหรับวัยรุ่นแพร่หลายเต็มตลาด ความนิยมเพลงไทยลูกทุ่งเริ่มลดน้อยลง ทำให้เพลงไทยลูกทุ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ แนวสตริงคอมโบ นักร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ คือ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” เนื้อหาของเพลงได้เปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงจากเดิมที่ต้องเก็บกดความรู้สึก หรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ มาเป็นผู้หญิงที่กล้าพูด กล้าทำ กล้าเปิดเผยความรู้สึก ฉลาดรู้ทันคน

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 – ปัจจุบัน) เกิดความนิยม ในการนำเพลงไทยลูกทุ่งยอดนิยมในอดีต มาเรียบเรียงเสียงประสาน และขับร้องใหม่ ฟื้นฟูความนิยมของเพลงไทยลูกทุ่งที่ล้าสมัย ให้กลับมาแข่งขันกับเพลงแนวสตริงที่ครองตลอดอยู่ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนของวงการเพลงไทยลูกทุ่งที่ส่งผลให้มีศิลปินนักร้องใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขัน เพื่อเป็นนักร้องยอดนิยม ทั้งแนวทางที่เลียนแบบนักร้องเก่า หรือหาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นมา

ในแต่ละยุคนั้น เพลงไทยลูกทุ่งมีการสะท้อนความเป็นไปผ่านเนื้อหาบทเพลงที่แตกต่างกันตามสภาพสังคมและเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของทัศน์วศิน ธูสรานนท์ (2559) ได้ศึกษาพัฒนาการในการสื่อสารของเพลงไทยลูกทุ่งจากอดีตสู่ปัจจุบัน และได้สรุปผลการวิเคราะห์เพลงลูกทุ่งทั้ง 4 ยุค จำนวน 106 เพลง ดังนี้

ยุค 1 (ปี พ.ศ. 2507 – 2533) พบการสะท้อนค่านิยมทางสังคมผ่านเพลงไทยลูกทุ่งมากที่สุด ตามด้วยค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชาย ค่านิยมของวัฒนธรรม โดยไม่พบเนื้อหาเพลงสะท้อนค่านิยมในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ

ยุค 2 (ปี พ.ศ. 2534 – 2540) พบการสะท้อนค่านิยมทางสังคมมากที่สุด ตามด้วยค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชาย ค่านิยมของวัฒนธรรม ซึ่งในยุคนี้ปรากฏค่านิยมในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มมาเป็นร้อยละ 3

ยุค 3 (ปี พ.ศ. 2541 – 2550) พบการสะท้อนค่านิยมทางสังคมมากที่สุดเช่นเดียวกัน ตามด้วยค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชาย และในยุคนี้ปรากฏค่านิยมในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มมาเป็นร้อยละ 10

ยุค 4 (ปี พ.ศ. 2550 – 2558) พบการสะท้อนค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชายมากที่สุด ตามด้วยค่านิยมทางสังคม ซึ่งในยุคนี้ไม่พบค่านิยมทางวัฒนธรรมและค่านิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจ

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในเพลงไทยลูกทุ่งยุค 1 – 3 มีความคล้ายคลึงกัน คือ บทเพลงไทยลูกทุ่งมีการสะท้อนค่านิยมทางสังคมเป็นลำดับแรก และตามด้วยค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชายเช่นเดียวกัน ซึ่งในยุค 2 – 3 มีการเพิ่มจำนวนของเพลงไทยลูกทุ่งที่สะท้อนค่านิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจ เนื่องจาก ในช่วงยุคนั้นเป็นช่วงที่มีประเด็นทางการเมืองในช่วงยุคที่ 2 และมีประเด็นเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจในยุค 3 แต่ในยุค 4 นั้น การสะท้อนค่านิยมผ่านบทเพลงไทยลูกทุ่งมีการเปลี่ยนไป โดยมีค่านิยมทางความสัมพันธ์และชีวิตรักระหว่างหญิงชายสูงเป็นลำดับแรก ซึ่งทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน

นอกจากเพลงไทยลูกทุ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามสภาพสังคมแล้ว ด้วยเหตุผลทางธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อทำการตลาดกับผู้ฟังยุคใหม่ด้วย ปัจจุบันมีบริษัทค่ายเพลงที่มีบทบาทในวงการเพลงไทยลูกทุ่งอยู่สองบริษัทใหญ่ คือ บริษัท แกรมมี่โกลด์ บริษัทในเครือของบริษัท GMM Grammy และบริษัทอาร์สยาม บริษัทในเครือของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แนวทางใหม่ของเพลงไทยลูกทุ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือ การผสานเพลงไทยสตริงและเพลงไทยลูกทุ่งเข้าด้วยกัน ใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ ภาษาสมัยใหม่ รวมทั้งเนื้อหาเพลงที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *