ความรักในแนวคิดพุทธศาสนา

เริ่มตั้งแต่เราเกิดมามีช่วงชีวิตและอารมณ์ในวัยเด็ก ความผูกพันกับพ่อแม่ ผู้ใกล้ชิด ซึ่งในอารมณ์นั้นเองยังคงฝังแน่นติดตรึงใจเราเสมอมา สิ่งเหล่านี้ตอบคำถามเกี่ยวกับพลังงานอำนาจของ “ความรัก” ซึ่งในประสบการณ์หลายต่อหลายครั้ง คนที่สัมผัสมันแล้วแต่ไม่สามารถมีใครวัดขนาดหรือระบุตัวตนที่จับต้องมันได้เลย

Freud กล่าวว่า “ความรัก” ทำให้ได้มาซึ่งพลังอำนาจ และความรุนแรง โดยประสบการณ์และความรู้สึกจากวัยเด็ก มีอิทธิพลต่อการเลือกบุคคลที่ตนจะมีความสัมพันธ์ด้วย อาจจะเป็นแบบ anaclitic ซึ่งเป็นการเลือกเพราะบุคคลที่ตนเลือกนั้น กระตุ้นให้ระลึกถึงบุคคลที่มีความสำคัญในอดีต หรือการเลียนแบบ narcissistic โดยการเลือกบุคคลที่มีลักษณะบางอย่างเหมือนตนเอง โดยที่ทั้งสองแบบนั้นอาจเป็นแบบบวก คือ เลือกคนที่เหมือนบุคคลในอดีตหรือเหมือนตนแบบลบ คือ เลือกคนที่ตรงกันข้ามกับบุคคลในอดีตหรือตนเอง และสุดท้าย คือ การเลือกแบบอุดมคติ คือ บุคคลที่ตนเลือกนั้นเป็นเหมือนดังตนเองอยากให้บุคคลในอดีตหรือตนเองเป็น

ความผูกพันของคนคู่หนึ่ง ๆ ขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจ – เข้าถึง และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของทฤษฎีความผูกพัน (Attachment theory) อันก่อกำเนิดขึ้นจากจิตแพทย์ชาวอังกฤษ John Bowlby และนำมาขยายความต่อโดยนักจิตวิทยา Mary Ainsworth ในสหรัฐอเมริกา ด้วยทฤษฎีนี้ทำให้เราสามารถมองเห็นและเข้าใจมุมมองของผู้ใหญ่อย่างต่อเรื่องความรักที่เขาประสบและตอบสนองได้ดี เมื่อเราพยายามเข้าใจผ่านทฤษฎีนี้จะพบว่า ความรักไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผลอีกต่อไป

ทางพุทธศาสนาได้จำแนกเรื่องความรักไว้เป็นสองประเภท คือ

  1. ความรักที่เกิดจาก กามฉันทะ คือ ความเร่าร้อน ความกระหาย ที่อยากจะได้ในสิ่งที่ตนพึงปรารถนา หากได้ตามใจปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็จะมีความชื่นชมยินดี มีความสุขทั้งกายและใจ ถ้าต้องประสบกับความผิดหวัง จิตของผู้นั้นจะมีแต่ความโทมนัส เศร้าโศก เสียใจ บังเกิดเป็นความทุกข์กายติดตามมากินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายซูบซีดเศร้าหมอง เบื่อโลก เบื่อชีวิต เบื่องานเบื่อการ มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ขาดสติสัมปชัญญะ หาทางเบียดเบียนคู่ต่อสู้ด้วยวิธีการและรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผิดศีล หากยังไม่สมปรารถนาอีก บางคนก็อาจจะคิดสั้นก่ออกุศลกรรม สร้างทุกข์โทษให้แก่ตัวเอง คือ การอัตวินิบาตกรรม และ/หรือแก่ผู้อื่นด้วยวิธีการอื่น ๆ เท่าที่อกุศลเจตนาจะพาไป
  2. ความรักที่เกิดจาก เมตตา ซึ่งมีอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์โดยทั่วถ้วนหน้า โดยไม่จำกัด เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น วัย เวลา สถานที่ และสามารถแผ่กระจายไปได้ทุกหนทุกแห่งอย่างไม่มีขอบเขต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตวิญญาณของมนุษย์ตั้งแต่ต้น ยกเว้นผู้ที่มีความพิการทางสมอง ซึ่งไม่สามารถกระตุ้นจิตวิญญาณให้เกิดอารมณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้

นิยามของความรักที่เทียบธรรมในทางพุทธที่ใกล้เคียงที่สุด คือ พรหมวิหาร 4 (พรหม = ที่พึ่ง, วิหาร = เครื่องอยู่) = ธรรมของความเป็นที่พึ่งพาได้ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

  • เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาให้เขามีความสุข แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
  • กรุณา คือ ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องทุกข์ของเขา
  • มุทิตา คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่กีดกันริษยา
  • อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น

เมื่อนิยามความรักแล้ว คำบรรยายความรักในทางโลกสำหรับผู้ยังมีกิเลส (“กิเลส” สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์) ยังไม่ใช่ความรักที่บริสุทธิ์ตามพรหมวิหารธรรมล้วน ๆ ยังเจือปนไปด้วยอุปกิเลส คือ โทษเครื่องเศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้จิตใจให้เศร้าหมอง ขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *