แนวคิดการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิง (female international migration)

Morokvasic (1983)[1] กล่าวว่า การย้ายถิ่น เป็นกระบวนการที่เลือกสรรทางเพศนั่นคือ ภายใต้เงื่อนไข และบริบทเฉพาะหนึ่ง ๆ ผู้ชายจะเป็นผู้ผูกขาดการย้ายถิ่น แต่ในเงื่อนไข และบริบทอื่น ผู้หญิงจะเป็นผู้ย้ายถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินงานเขียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นในช่วงเวลาต่าง ๆ พบว่า ประเด็นเรื่อง “gender” ยังคงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในการศึกษาวิจัยเรื่องการย้ายถิ่น และจากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของผู้หญิง ยังพบอีกว่า ข้อวิจารณ์ของ Morokvasic (1984: 112)[2] ที่เคยกล่าวไว้ ยังคงเป็นจริง นั่นคือ งานศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นการย้ายถิ่นของผู้หญิง ยังเป็นส่วน ๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ร่วม ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ขาดกรอบคิดทฤษฎีที่ครอบคลุม ที่จะสามารถพิจารณาการย้ายถิ่นของผู้หญิงว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการย้ายถิ่นได้ รวมทั้งไม่อาจที่จะทำการศึกษาเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากขาดกรอบทฤษฎีที่ครอบคลุม นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ ละเลยที่จะมองเบื้องหลังทางเศรษฐกิจ และสังคมของหญิงที่ย้ายถิ่น เรื่องราวความเป็นมาก่อนการย้ายถิ่นไม่ได้รับความสนใจที่จะนำมาพิจารณาวิเคราะห์ การวิเคราะห์ชีวประวัติของหญิงผู้ย้ายถิ่น มักจะเริ่มต้นเมื่อผู้หญิงเดินทางข้ามพรมแดนมายังพื้นที่ปลายทางแล้ว

งานศึกษาเกี่ยวกับการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิงในช่วงต้น ๆ เป็นการศึกษา การย้ายถิ่นแรงงานของผู้หญิงจากประเทศชายขอบของยุโรป (European periphery) และจากประเทศ “โลกที่สาม” ไปยังประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว

การย้ายถิ่นนี้ในบริบทของ “ระบบทุนนิยมของโลก” (global capitalist system) โดยมองว่า พัฒนาการทุนนิยมในประเทศยุโรปตะวันตก ในช่วงทศวรรษที่ 60 – 70 ทำให้เกิดความต้องการแรงานราคาถูก และที่ยืดหยุ่น จุดศูนย์รวมของเศรษฐกิจกลายมาเป็นการบริการ (services economy) มีตลาดแรงงานสำหรับงานที่มีรายได้ต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ได้ชื่อว่า “งานเฉพาะของผู้หญิง” เพิ่มมากขึ้น (Sassen – Koob 1984)[3] และที่เพิ่มขึ้นมาด้วยก็คือ โอกาสของหญิงยุโรปในการที่จะทำงานประเภท “white collar” ซึ่งมีรายได้สูง Phizacklea (1983)[4] อธิบายถึงการที่แรงงานหญิงย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน “เฉพาะของผู้หญิง” ว่า เนื่องมาจากการที่หญิงยุโรปหันไปทำงานประเภท “white collar” นั่นคือ แรงงานหญิงผู้ย้ายถิ่นเข้ามาแทนที่แรงงานหญิงที่เป็นชนชาติยุโรปที่ขาดหายไป

กรอบแนวคิดนี้ ถือว่า เป็นพื้นฐานของแนวคิดว่า ด้วยการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิงรุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดว่า การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิง และการผลิตซ้ำทางสังคม (Female International Migration and Social Reproduction) ซึ่งนำเสนอโดยนักวิชาการชาวเอเชีย แนวคิดนี้ พิจารณาว่า การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิงเกิดจากภาวะเงื่อนไขในสังคมทุนนิยมปัจจุบันที่มีแนวโน้มของการแบ่งงาน (division of labour) ในการผลิตซ้ำระดับระหว่างประเทศ

จุดหลักของแนวคิดนี้ คือ ในสังคมทุนนิยมจะมีการแบ่งงานตามเพศ (genderized work) โดยมีการแบ่งงานระหว่างเพศชาย และเพศหญิงอย่างชัดเจน งานบ้าน หรืองานดูแลคนอื่นถือเป็นงานที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ (Troung 1995: 3)[5] จึงถือว่า เป็นการผลิตซ้ำทางสังคมประกอบกับอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละรูปแบบจะมีลักษณะเฉพาะ กระบวนการผลิตจึงถูกซอยย่อยมากขึ้นไปด้วย การแบ่งแยกงานตามเพศที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตใหม่ ทำให้อาชีพบริการที่เกี่ยวกับการผลิต และการบริโภคเป็นอาชีพของผู้หญิง “การย้ายถิ่นของหญิง จึงมิได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของหญิงเอง แต่เกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขที่สังคมทั้งระดับครอบครัวระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศกำหนดขึ้นว่า เพศหญิงเป็นเพศที่เหมาะสมที่จะเข้าไปทำการผลิตในรูปแบบผลิตบางประเภท” (สุภางค์ และคณะ 2542: 27)[6] อันได้แก่ การให้บริการ งานบ้าน (domestic work) การดูแลผู้อื่น และงานให้ความบันเทิง เป็นต้น

การผลิตและการทำงานในสังคมอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ (gender relation) เปลี่ยนแปลงไปด้วยทั้งในระดับสัญลักษณ์ และจิตวิสัย (symbolic and subjective) หญิงในสังคมอุตสาหกรรมไม่ต้องการทำงานที่ได้ชื่อว่า เป็น “การผลิตซ้ำ” อีกต่อไป อันได้แก่ งานบ้าน งานดูแลผู้อื่น หรืองานให้ความบันเทิง หรือแม้แต่ไม่ต้องการแต่งงาน หรือแต่งงานช้าลง เพราะมีทางเลือกทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ทำให้เกิดช่องว่างในตลาดแรงงานด้านดังกล่าว หรือแม้แต่ในตลาดการหาคู่ ตามแนวคิดนี้ จึงสรุปคล้ายกับแนวคิดว่า ด้วยการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้หญิง ในช่วงต้น ๆ ที่ว่า หญิงต่างชาติผู้ย้ายถิ่น จะถูกนำเข้ามาเพื่อทำงานในส่วนบริการต่าง ๆ หรือแม้แต่เพื่อการแต่งงาน ทั้งนี้เพื่อเติมช่องว่างในตลาดแรงงานด้านบริการต่าง ๆ นี้ ซึ่งไม่สามารถปิดช่องว่างโดยหญิงในประเทศนั้น ๆ ได้[7]


[1] Morokvasic, Mirjana. (1983). Women in Migration: Beyond the Reductionist Outlook. In: Phizacklea, Annie (ed.): One Way Ticket: migration and Female Labour. : London: Routledge and Kegan Paul, pp. 13 – 52.

[2] Morokvasic, Mirjana. (1984). Migrant Women in Europe: a Comparative Perspective. In: Women on the Move. Paris: UNESCO, pp. 111 – 132.

[3] Sassen 3 Koob, Saskia. (1984). Notes on the Incorporation of Third World Women into Wage Labour through Immigration and Off3Shore Production. International Migration Review, Special Issue on Women and Migration, Bd. 18, H. 4, pp. 1144 – 1167.

[4] Phizacklea, Annie (ed.). (1983). One Way Ticket: Migration and Female Labour. London: Routledge and Kean Paul.

[5] Troung, Thanh-Dam. (1995). Gender, International Migration and Social Reproduction: Implications for Theory, Policy, Research and Networking. In: International Peace Research Institute.

[6] สุภางค์ จันทวานิช, ประไพรัตน์ รัตนโอฬาร – มิกซ์, พัทยา เรือนแก้ว, สุธีรา นิตยานันทะ และอัญชลี เข็มครุฑ. (2542). การย้ายถิ่นของหญิงไทยไปเยอรมนี สาเหตุ ชีวิตความเป็นอยู่ และผลกระทบในประเทศไทยและเยอรมนี สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[7] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *