สิทธิสตรีกรณีย้ายถิ่นข้ามชาติ

ประเทศไทยเป็นภาคี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The International Convenant on Civil and Political Rights 3 ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Declaration on the Elimination of Discrimination Against Women 3 CEDAW) ซึ่งในปัจจุบันถือว่า เป็นอนุสัญญาหลัก ซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ที่กว้างขวางครอบคลุมทุกมิติในชีวิตของเพศหญิง อนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ให้การรับรองสิทธิของผู้หญิงในการเลือกสถานที่อยู่อาศัย นั่นคือ ผู้หญิงมีสิทธิที่เลือกว่าตนจะอยู่ที่ไหน หรือจะเดินทางไปไหนก็ได้ และตามแนวคิดปัจจุบันแล้ว สิทธิในการอพยพโยกย้ายถิ่น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง (มาลี 2550: 197)[1]

หญิงไทยที่เดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติไปยังประเทศเยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์หลักที่จะไปทำงานในประเทศเหล่านี้ และส่วนหนึ่งก็ทำงานค้าบริการทางเพศ (sex worker) ซึ่งในปัจจุบันนี้หลาย ๆ ประเทศให้การยอมรับว่า เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ดังนั้น หญิงเหล่านี้ก็คือ “แรงงานข้ามชาติ” (migrant worker) ตามสนธิสัญญาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว (International Convention on the Protection of All Migrant Workers and Members of Their Families) ซึ่งสหประชาชาติใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ[2] ก็ระบุถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาตินี้ในการที่จะเคลื่อนย้ายและเลือกที่อยู่อาศัยเช่นกัน

หญิงไทยที่เป็นแรงงานข้ามชาติ จะมีสิทธิในฐานะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้จะมีระบุไว้ในมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ (international labour standards) ที่เป็นหลักอ้างอิงสากล กำหนดหลักการขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและแรงงาน ซึ่งในเชิงกฎหมายนั้นจะปรากฏในรูปของอนุสัญญาหรือพิธีสาร (Conventions หรือ Protocols) หรือข้อเสนอแนะ (Recommendations) (สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 2551: 47)[3]

ในมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดยสำนักแรงงานระหว่างประเทศ (ILO 2551) กล่าวถึง สิทธิของแรงงานในแต่ละขั้นตอนของการย้ายถิ่นเพื่อทำงาน โดยเฉพาะต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ และเนื้อหาที่สำคัญในเรื่องที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับการปฏิบัติ และได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับแรงงานอื่น ๆ ซึ่งคล้ายกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติในสนธิสัญญาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว (International Convention on the Protection of All Migrant Workers and Members of Their Families) โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (ในตอนที่ 3 มาตราที่ 8 – 35) นอกจากนี้ ทั้งมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ยังให้ความคุ้มครองต่อแรงงานนอกระบบ (unregistered หรือ undocumented) โดยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองในสถานที่ทำงานด้วย


[1] มาลี พฤกษ์พงศาวลี. (2550). สิทธิความเป็นคนของผู้หญิง: พันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมาย และข้อถกเถียง กรุงเทพฯ : สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

[2] ในตอนที่ 3 ตั้งแต่มาตราที่ 8 – 35 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัวมีสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปที่ได้รับสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศปลายทาง ซึ่งได้แก่ สิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองต่อการถูกทำร้าย ทรมาน ลงโทษโดยไม่เป็นธรรม และการตกเป็นแรงงานทาส หรือแรงงานบังคับ สิทธิในการได้รับการคุ้มครองด้านกฎหมาย สิทธิในการคิดและแสดงออก รวมทั้งการนับถือศาสนา สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการได้รับข่าวสารข้อมูล และสิทธิที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

[3] สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO). (2551). มาตรฐานแรงงานระหวางประเทศ ว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ กรุงเทพฯ : สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *