การท่องเที่ยวทางเพศ การค้าหญิง

มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของหญิงไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น Siriporn Skrobanek (1983)[1] และ Sudarat Sereewat (1983)[2] นับว่าเป็นงานศึกษาเกี่ยวกับหญิงไทยในเยอรมนีในช่วงต้น ๆ และเป็นชิ้นแรกในประเด็นนี้ งานวิจัยทั้งสองชิ้นจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ สำหรับการศึกษาวิจัย และบทความที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางเพศ (sex tourism) และการค้าหญิงที่เผยแพร่ในช่วงหลัง ๆ ทั้งในประเทศไทยและเยอรมนี

งานศึกษาของ Sudarat ศึกษาเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศของหญิงไทยในยุโรป สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมาทำงานนี้ หนทางที่ผู้หญิงเดินทางเข้ามา รวมทั้งสภาพชีวิตและการทำงาน โดยทำการสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ทำงานค้าบริการทางเพศในประเทศเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งที่ทำเป็นอาชีพหลัก และเป็นงานเสริม โดยทำงานในบาร์ หรือสถานประกอบการ (ซ่อง หรือที่ผู้หญิงมักเรียกว่า “บ้านทำงาน”) หรือนางทางโทรศัพท์ มีความเป็นอิสระในการทำงานต่างกัน บางส่วนก็สามารถเลือกแขกได้ บางส่วนก็ถูกบังคับให้ทำงาน

ผู้หญิงส่วนใหญ่เดินทางเข้ามายุโรป โดยผ่านเครือข่ายทางสังคม อันได้แก่ เพื่อนญาติ สำนักจัดหางาน หรือนายหน้าที่จัดพาผู้หญิงมาทำงานบริการทางเพศ นอกจากนี้ Sudarat กล่าวว่า สำนักงานจัดหาคู่ก็เป็นหนทางของการย้ายถิ่นข้ามชาติมายังยุโรปอีกหนทางหนึ่ง เธอกล่าวต่อไปว่า มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ แล้วถูกขายต่อให้ทำงานบริการทางเพศ ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเดินทาง ได้แก่ ความยากจน และหนี้สิน ครอบครัวแตกแยก รวมทั้งต้องการที่จะทำงานหารายได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยากจน จากการนำเสนอผลการศึกษานี้ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการแต่งงานของหญิงไทยกับชายยุโรปกับการค้าบริการทางเพศข้ามชาติ หรือการค้าหญิง

งานศึกษาของ Siriporn Skrobanek (1983) [3]  ได้ศึกษาการหาผลประโยชน์ทางเพศข้ามชาติ (transnational sex-exploitation) ต่อผู้หญิงไทย ในกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจสตรีนิยม โดยทำการสัมภาษณ์หญิงที่ทำงานบริการทางเพศ และที่สมรสกับชายเยอรมัน ในเมือง Hamburg และ Berlin ได้กล่าวว่า เธอไม่ได้พิจารณาว่า ผู้หญิงเป็น “เหยื่อที่ไม่อาจช่วยตนเองได้” (passive victim) แต่เป็น “รูปแบบใหม่ของแรงงานที่รับค่าจ้าง(wage earners) ในกระบวนการผลิตของทุนนิยม” ในเนื้อหาของงานวิจัย ได้แสดงภาพที่ชัดเจนของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อที่ถูกหาผลประโยชน์ โดยแกนกลางทุนนิยมปิตาธิปไตย การแต่งงานระหว่างผู้ชายในประเทศที่เป็น “ศูนย์กลางของระบบทุนนิยม” (center of capitalism) เช่น ประเทศเยอรมนี และผู้หญิงจาก “ประเทศชายขอบทุนนิยม” (periphery) เช่น ประเทศไทย ซึ่ง Siriporn มองว่า เป็นการแต่งงานเชิงการค้าทั้งสิ้น ไม่ว่าการแต่งงานนั้น ๆ จะเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขปัจจัยใด ทั้งที่เกิดขึ้นโดยการจัดการของสำนักงานจัดหาคู่ หรือการแต่งงานของคู่สมรสที่พบกันระหว่างที่ชายเยอรมันมาท่องเที่ยวพักผ่อน ในความหมาย Siriporn แล้ว ถือว่า อยู่ในการแต่งงานประเภทดังกล่าวทั้งสิ้น และก็มองว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (เอารัดเอาเปรียบ) จากประเทศชายขอบทุนนิยม โดยประเทศทุนนิยม ในการศึกษาของ Siriporn กล่าวว่า การแต่งงานถูกลดค่าลงมาเป็นเพียง “สัญญาการจ้างงาน” (labour contract) ที่ให้ผู้ชายมีสิทธิผูกขาดแรงงานที่ทำงานบ้าน และบริการทางเพศของภรรยาตนเอง ด้วยการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งตามแนวคิดนี้ ผู้หญิงไทยในเยอรมนีจะถูกเอาเปรียบสองต่อ และสรุปว่า คู่สมรสดังกล่าวนี้ อยู่ในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน

ยุพา วงศ์ไชย และคณะ (2531)[4] ศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงไทยที่เดินทางไปค้าบริการทางเพศในต่างประเทศ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่มีประสบการณ์ พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เดินทางไปค้าบริการทางเพศในต่างประเทศมีอายุระหว่าง 21 – 32 ปี มีการศึกษาน้อย ส่วนใหญ่เพียงภาคบังคับ ส่วนมากเคยประกอบการเกษตรมาก่อน และมีภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเข้าสู่อาชีพบริการทางเพศ เพราะส่วนใหญ่เคยแต่งงาน แต่แยกทางและมีลูกที่ต้องดูแล มักจะมีทัศนะคติที่ไม่ดีต่อชายไทย เช่น ไม่รับผิดชอบ และชอบทุบตี เป็นต้น การเดินทางไปค้าบริการทางเพศในต่างประเทศนั้น ผู้หญิงส่วนมากมีความคาดหวังส่วนหนึ่งที่จะได้แต่งงานกับชายต่างประเทศที่ตนเห็นว่า มีความรับผิดชอบสูง จากบทสัมภาษณ์ในงานวิจัยนี้ พบว่า กรณีศึกษาเหล่านี้เดินทางข้ามชาติเพื่อการแต่งงาน มิใช่เพื่อไปค้าบริการทางเพศหญิงหลายคนประกอบอาชีพต่าง ๆ ในเยอรมนีที่ไม่ใช่อาชีพค้าบริการทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยมองว่า กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้วา เป็นหญิงค้าบริการทางเพศ และจากคำจำกัดความที่ให้ไว้ การแต่งงานกับชายต่างชาติเพื่อการเดินทางเข้าประเทศปลายทาง จึงถูกมองว่า เป็นการเดินทางเพื่อการค้าบริการทางเพศ ด้วยการพิจารณาของคณะวิจัยที่มองรวมการย้ายถิ่นไปต่างประเทศของผู้หญิงไทยว่า เป็นการค้าบริการทางเพศทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนคติที่เอนเอียงเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในต่างแดนของสังคมในขณะนั้น ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงมาจากการขาดข้อมูลที่รอบด้าน

ในปี 2540 ศิริพร และคณะ[5] ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การย้ายถิ่นระหว่างประเทศและการค้าหญิงในประเทศไทย ในหนังสือ การค้าหญิง : ฤาวิถีสังคมไทย และ The traffic in Women: Human Realities of the International Sex Trade (Siriporn et al. 1994) โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การอธิบายปรากฏการณ์การค้าหญิง กระบวนการและเครือข่าย รวมทั้งสภาพการทำงานของผู้หญิงในต่างประเทศ การแต่งงานโดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ถือเป็นกระบวนการรูปแบบหนึ่งที่ชักนำให้ผู้หญิงเดินทางไปค้าบริการทางเพศ รวมทั้งไปทำงานเป็นคนงานในบ้าน ซึ่งในงานวิจัยได้อธิบายให้เห็นถึงขั้นตอน และกระบวนการการค้าหญิงไทยไปยังประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งพบว่า กระบวนการค้าหญิงมีเครือข่ายอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงระดับประเทศ สังคมอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการย้ายถิ่น จนนำไปสู่การเป็นสินค้าทางเพศ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมาจากท้องถิ่นชนบทที่ยากจน ต้องการมีรายได้ และชีวิตที่ดีกว่า เนื่องจาก ค่านิยมทางวัตถุซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานทางสังคมในปัจจุบัน บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ให้ไปทำงาน และถูกเอาเปรียบจากเอเยนต์ หรือผู้ประกอบการโดยสุดท้ายจะมีรายได้เพียงเล็กน้อย และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และสภาพป่วยทางจิต นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังพบว่า ความร่วมมือ และความพยายามประสานงาน เพื่อกำจัด และหยุดยั้งเครือข่ายการค้าหญิงเหล่านี้ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก มุ่งไปปราบปราม และลงโทษหญิงค้าบริการทางเพศมากกว่า ผู้ประกอบการ หรือเอเยนต์ ซึ่งข้อเสนอแนะหนึ่งจากงานวิจัย ก็คือ ควรที่จะสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องรวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นความจริงแก่ผู้หญิง และครอบครัวพร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ประเด็นการย้ายถิ่นข้ามชาติไปเยอรมนีของหญิงไทยในบริบทการค้าหญิง ซึ่งมักจะให้ภาพของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อที่ถูกเอาเปรียบ แต่ก็มีงานวิจัยที่ศึกษาการย้ายถิ่นข้ามชาติของหญิงไทยในกรอบแนวคิดอื่น อันได้แก่ งานศึกษาของพัทยา (2541) ซึ่งศึกษากระบวนการย้ายถิ่นของหญิงไทยไปยังเยอรมนีที่มีจุดเริ่มต้นจากข้อค้นพบของงานวิจัยในช่วงก่อนหน้านั้นที่เกี่ยวกับคู่สมรสระหว่างหญิงไทยและชายเยอรมันในเยอรมนี Pataya (1990) พบว่า ปัจจัยที่ทำให้หญิงไทยสมรสกับชายเยอรมัน คือ ความต้องการที่จะเข้ามาทำงานหารายได้ในประเทศเยอรมนี แต่ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย ที่ไม่เปิดโอกาสให้หญิงไทยที่มีความรู้น้อยเดินทางเข้ามาขายแรงงาน แต่จะมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่เปิดให้ นั่นคือ การแต่งงานกับชายเยอรมัน หรือชายที่มีสิทธิพำนักในเยอรมนี ที่จะทำให้ผู้หญิงไทยได้สิทธิพำนักในเยอรมนี และมีสิทธิที่จะทำงานได้ ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวการแต่งงานจึงกลายเป็นเครื่องมือ หรือหนทางในการย้ายถิ่นแรงงานเข้ามายังเยอรมนีของหญิงไทย จากข้อค้นพบนี้ที่ทำให้พัทยา ทำการศึกษากระบวนการย้ายถิ่นของหญิงไทยเข้ามาเยอรมนี เพื่อพิสูจน์ข้อค้นพบเดิม การศึกษาโดยใช้กรอบแนวคิดว่าด้วยระบบการย้ายถิ่น เพื่อที่จะพิจารณาถึงสาเหตุปัจจัยทั้งในประเทศต้นทางปลายทาง ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์จึงเป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์หญิงไทยที่สมรสกับชายเยอรมัน และพำนักอยู่ในเยอรมนี และชายเยอรมันที่เป็นสามีของหญิงไทย ผลการวิจัย พบว่า หญิงที่ย้ายถิ่นมาเยอรมนีส่วนใหญ่จะเป็น แม่ที่ต้องการดูแลเลี้ยงลูกเพียงลำพัง (single mother) หญิงบริการทางเพศต่อชายต่างชาติ และหญิงโสดที่ต้องการเลื่อนชั้นทางสังคม สาเหตุที่ทำให้หญิงย้ายถิ่น คือ ต้องการทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะเพื่อดูแลลูกที่เกิดจากชายไทย ผู้หญิงส่วนหนึ่งจะมีปัญหาครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งต้องการที่จะมีสภาพทางสังคมที่ดีกว่า ในกรณีหญิงบริการทางเพศ ความหวังอย่างหนึ่ง คือ การเลิกอาชีพนี้ และสร้างครอบครัวใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในด้านโครงสร้างที่ผลักดันให้เกิดการย้ายถิ่น ซึ่งได้แก่ ความไม่เท่าเทียม ทางสังคม และความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การที่รัฐไม่มีสวัสดิการทางสังคมให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหา เช่น แม่ที่ต้องดูแลลูกเพียงลำพัง รวมทั้ง การควบคุม หรือคาดหวังทางสังคมต่อชาย และหญิงที่ไม่เท่าเทียมกัน ในเรื่องความรับผิดชอบต่อครอบครัวที่สังคมไทยคาดหวังให้หญิงต้องดูแลรับผิดชอบบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมิใช่ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าใครจะย้ายถิ่นหรือไม่ เพราะทั้งหญิงที่ย้ายถิ่น และไม่ย้ายก็มีทั้งที่มีฐานะยากจน และปานกลางคล้าย ๆ กัน ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายถิ่นหรือไม่ คือ ความพอใจในสภาพที่ตนเป็นอยู่ ความเชื่อมั่น หรือความคิดว่า ตนเองสามารถที่จะเดินทางได้หรือไม่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เครือข่ายที่จะชี้ช่องทางหรือให้โอกาสในการเดินทาง

โดยสรุปปัจจัยในประเทศปลายทาง (เยอรมนี) ที่มีส่วนช่วยให้เกิดการย้ายถิ่น พิจารณาได้จากแรงจูงใจของชายเยอรมันที่ต้องการแต่งงานกับหญิงไทย เพราะหากไม่มีชายเหล่านี้หญิงไทยก็ไม่อาจเดินทางเข้าเยอรมนีได้ จากงานวิจัยพบว่า นอกจากลักษณะบุคลิกส่วนตัว อันได้แก่ นิสัยที่ขี้อายเก็บตัว ไม่กล้าที่จะเป็นผู้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ รูปร่างที่ไม่ดึงดูด ความสนใจ อายุที่สูง หรือไม่มีเวลาในการที่จะสร้างความสัมพันธ์ หรือขาดการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นผลกระทบที่ชายเหล่านี้ได้รับ อันเนื่องมาจากปัญหาใน “สังคมทันสมัย” (modern society) ที่ประกอบด้วย การอุตสาหกรรมที่เร่งรัด ทำให้คนต้องทำงานหนัก เกิดการโดดเดี่ยว ไม่มีความสัมพันธ์มีผลทำให้ชายเหล่านี้มีปัญหาในการหาคู่ ต้องพึ่งการหาคู่วิธีอื่น เช่น โดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ หรือหาคู่เป็นชนชาติอื่น เป็นต้น ปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในสังคมเยอรมัน ที่ผู้หญิงไม่ต้องการที่จะจำกัดบทบาทของตนเพียงแค่อยู่ในบ้าน แต่ต้องการทำงานนอกบ้าน ซึ่งมีผลต่อตลาดคู่ครองของชายเยอรมัน

จากรายงานการศึกษา พบว่า การเดินทางย้ายถิ่นของผู้หญิงไทย เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2518 ทั้งนี้พิจารณาจากตัวเลขสถิติของหญิงไทยในเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับจากปีดังกล่าว การเดินทางย้ายถิ่นของหญิงไทยเข้าไปเยอรมนีมี 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  1. การย้ายถิ่นเพื่อการค้าบริการทางเพศ ซึ่งเริ่มต้นประมาณปลายทศวรรษที่ 70 (2516) และต้นทศวรรษที่ 80 การเดินทางเข้ามามักจะมีนายหน้าจัดพา ซึ่งเรียกกันว่า “ผ่านแทร็ค”
  2. เดินทางเข้ามาแต่งงานกับชายเยอรมัน โดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ที่เรียกกันในช่วงต้น ๆ ว่า “ธุรกิจเมียสั่งทางไปรษณีย์” เริ่มต้นประมาณปี 2521
  3. การเดินทางเข้ามาทำงานที่ไม่ใช่การค้าบริการทางเพศ ซึ่งเริ่มต้นประมาณปลายทศวรรษที่ 70 (ประมาณ พ.ศ. 2520) ส่วนมากจะเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวแล้วหลบหนี
  4. การเดินทางเข้ามาเพื่อสร้างครอบครัว หรือเพื่อแต่งงาน หญิงที่เดินทางในรูปแบบนี้ มักจะเป็นหญิงที่ทำงานค้าบริการทางเพศที่ต้องการเลือกอาชีพ ได้พบปะชายเยอรมันที่ไปเที่ยวในประเทศไทย การพบปะมักเป็นช่วงที่ผู้หญิงทำงาน รูปแบบนี้เกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดประมาณปี 2518 – 2520

นอกจากนี้ ยังค้นพบว่า การเดินทางย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทยมาเยอรมนี เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นแรงงานภายในประเทศ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีถิ่นฐานอยู่ในชนบท มักออกเดินทางย้ายถิ่นครั้งแรกเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับเพื่อมาขายแรงงานในเมือง จากนั้นจึงไปขายแรงงานในตะวันออกกลาง หรือประเทศฮ่องกง บางส่วนหลังจากย้ายถิ่นมาทำงานก็จะมาค้าบริการทางเพศ จากนั้น อาจเดินทางไปค้าบริการทางเพศในประเทศใกล้เคียงหรือบางกลุ่มก็เดินทางตรงมาทำงานค้าบริการทางเพศในพัทยา ก่อนที่จะเดินทางมาเยอรมนี[6]


[6] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

[1] Siriporn Skrobanek (1983) The Transnational Sex-exploitation of Thai Women. MA. Thesi, Den Haag: Institute of social Studies.

[2] Sudarat Sereewat (1983) Prostitution: Thai3European Connection: An Action Oriented Study. World Council of Churches: Geneva.

[3] Siriporn Skrobanek (1983) The Transnational Sex-exploitation of Thai Women. MA. Thesi, Den Haag: Institute of social Studies.

[4] ยุพา วงศ์ไชย, เล็ก สมบัติ, นัทธี จิตสว่าง, ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และสายจิตร สิงหเสนี. (2532) ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการไปประกอบอาชีพค้าประเวณีของสตรีไทยในต่างประเทศ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[5] ศิริพร สะโครบาเนค, ณัฐยา บุญภักดี และชุติมา จันทธิโร. (2540). การค้าหญิง : ฤาวิถีสังคมไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้หญิง.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *