การค้าบริการทางเพศ การค้าหญิง สิทธิของผู้หญิง (1)

ปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติของหญิงไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว โดยเริ่มประมาณปลายทศวรรษที่ 60 (ประมาณ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา) เป็นการเดินทางไปทำงานเป็นคนรับใช้ และการค้าบริการทางเพศ ในยุโรป และสแกนดิเนเวีย การเดินทางไปขายแรงงานรวมทั้งค้าบริการทางเพศในญี่ปุ่น เริ่มขึ้นต้นทศวรรษที่ 80 (พ.ศ. 2523 – 2524) จากข้อเท็จจริงที่ว่า การเดินทางข้ามชาติของหญิงไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางเข้าไปยังประเทศยุโรป อันได้แก่ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในสแกนดิเนเวีย เป็นต้น รวมทั้งญี่ปุ่น มักเป็นไปโดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ ทั้งที่เป็นในรูปแบบบริษัทสำนักงาน หรือที่เป็นลักษณะกิจการส่วนบุคคล รวมทั้งเดินทางผ่านขบวนการที่จัดนำหญิงไทยเข้าไปประเทศเหล่านี้ เพื่อประกอบการค้าบริการทางเพศ และเป็นแรงงานอื่น ๆ (ในญี่ปุ่น) ซึ่งโดยทั่วไปจะมองว่า เป็นขบวนการการค้าหญิง ดังนั้น การย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทยไปยังประเทศดังกล่าวข้างต้น จึงมักจะถูกมองอย่างไม่แยกแยะว่า เป็น “การค้าหญิงบริการ” ทั้งสิ้น

ในกรอบ “การค้าหญิง” ผู้หญิงมักจะถูกมองว่า เป็นเพียงเหยื่อน่าสงสารที่ถูกขบวนการการค้าหญิงกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับขู่เข็ญ ไม่มีอำนาจต่อรองตัดสินใจ อันทำให้ดูเหมือนว่า การเดินทางข้ามชาติของหญิงไทย เป็นการสร้างปัญหา และความเดือดร้อนแก่หญิง และเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขป้องกัน แนวทางมาตรการการช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาจึงมักจำกัดอยู่ที่การส่งกลับประเทศ หรือการสกัดกั้นไม่ให้ผู้หญิงเดินทาง โดยไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการเยียวยาช่วยเหลือให้ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เดินทางไปเสี่ยงชีวิตในต่างแดน

การแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่พิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สาเหตุปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้หญิงต้องการเดินทางไปค้าแรงงานข้ามชาติ ยังคงดำรงอยู่ แต่ทางเลือกอื่น ๆ ไม่ได้มีการจัดเตรียมไว้ให้ผู้หญิงจึงต้องใช้ช่องทางเดิม ๆ และบางส่วนก็ต้องใช้การเดินทางผ่านขบวนการค้าหญิง บางครั้งก็จะถูกหาผลประโยชน์ กักขังหน่วงเหนี่ยว เมื่อถูกส่งกลับประเทศต้นทางก็ต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาแบบเดิม ๆ ผู้หญิงจึงหาช่องทางไปต่างประเทศใหม่ จึงเป็นวัฏจักรที่ไม่มีทางออกตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือ

ข้อมูลเกี่ยวกับหญิงไทยในญี่ปุ่น (Pataya 2002[1]) แสดงให้เห็นว่า กระบวนการจัดพาไปค้าบริการทางเพศ มีลักษณะที่อาจกล่าวได้ว่า เป็น “การค้าหญิง” ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงที่ต้องการจะเดินทางไม่รู้เห็น แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเดินทางด้วยวิธีการนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้หญิงมองการเดินทางโดยผ่านขบวนการเหล่านี้อย่างไร

งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการย้ายถิ่นโดยการใช้การแต่งงานของหญิงไทยไปเยอรมนี (Pataya 2003[2]) ชี้ให้เห็นว่า หากพิจารณาในส่วนของผู้หญิงเองแล้ว ผู้หญิงไม่ได้มองวา การเดินทางข้ามชาติโดยผ่านขบวนการต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “การค้าหญิง” หากแต่มองว่า ขบวนการเหล่านี้เป็นหนทางหนึ่งในที่หนทาง ซึ่งมีเปิดให้เดินทางเข้าไปประเทศเหล่านี้ เพื่อที่จะไปขายแรงงาน หรือหาโอกาสที่จะสร้างชีวิตที่ดีกว่า

การย้ายถิ่นแรงงาน – สิทธิของผู้หญิง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน (Universal declaration of Human Rights) มาตราที่ 13 ระบุไว้ว่า คนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และพำนักในพรมแดนของแต่ละรัฐ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเดินทางออกจากประเทศใด ๆ รวมทั้งประเทศของตนเอง ดังนั้น การย้ายถิ่นจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สิทธินี้ได้รับการขยายความเพิ่มเติมในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights) มาตราที่ 12 ว่าสิทธิดังกล่าวจะต้องไม่มีการจำกัดใด ๆ ยกเว้นในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า จำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย สุขภาพอนามัน และศีลธรรมของประเทศ

ปฏิญญาสากล และกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ให้การรับรองสิทธิของผู้หญิงในการเลือกสถานที่อยู่อาศัย ผู้หญิงที่ต้องการเดินทางย้ายถิ่นก็มีสิทธิที่จะเลือกว่า ตนจะอยู่ที่ไหน หรือจะไปไหน กรณีที่ย้ายถิ่นเพราะมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งจะทำงานขายบริการทางเพศ (sex worker) ที่ปัจจุบันนี้ถือกันว่า เป็นอาชีพหนึ่ง จึงเป็นแรงงานข้ามชาติ (migrant worker) ตามสนธิสัญญาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และครอบครัว (International Convention on the Protection of All Migrant Workers and Members of Their Families) ซึ่งสหประชาชาติใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติจึงมีสิทธิที่จะเคลื่อนย้ายและเลือกที่อยู่อาศัย ดังนั้น มาตรการ หรือนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นการส่งกลับประเทศ หรือสกัดกั้นมิให้เดินทางไปค้าแรงงานต่างประเทศ จึงขัดกับกติกา และสนธิสัญญาข้างต้น ตลอดจนไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิง[3]


[1] Pataya Ruenkaew. (2002). Transnational Prostitution of Thai Women to Germany: a Variety of Teans – national Labour Migration. In : Susanne Thorbek/Bandana Pattanaik (ed.) Transnational Prostitution. Changing Patterns in a Global Context, London/ New York: Zed Books. Pp. 69 – 85.

[2] Pataya Ruenkaew. (2003). Heirat nach Deutshland: Motive and Hintergrunde thailandisch 3 dectscher Ehe3schileBunge” (Marriage to Germany : Motive and Background of Thai-German marriages), Frankfurt/New York: Campus Verlag.

[3] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *