เหตุการณ์ปัจจุบันที่พิสูจน์ว่า “ตายแล้วเกิดใหม่”

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 มีข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับว่า ด.ช.บงกช พรหมศิลป อายุ 3 ขวบ ระลึกชาติได้ เด็กคนนี้อยู่ที่ ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ บิดาชื่อ นายอมร พรหมศิลปะ อายุ 46 ปี เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดแรง ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ มารดาชื่อนางไสว พรหมศิลปะ นางไสวเล่าว่า เมื่อ ด.ช.บงกช เริ่มจะพูด ก็พูดบ่นและร้องไห้เสมอว่า จะไปหาพ่อแม่ เมื่อนางบอกว่า พ่อแม่ก็อยู่ที่นี่ เด็กปฏิเสธว่าไม่ใช่ เลยเกิดโทสะถึงกับดีด้วยไม้ก็มี

หลายเดือนต่อมา เด็กได้ไปบอกคนข้างบ้านว่า เขาไม่ใช่ลูกของนางไสว เขาคือ นายจำรัส ลูกชายของนายม่าน และนางศรีนวล พุภูเขียว ที่บ้านอยู่ ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ตายเพราะถูกแทง เขาจึงอยากไปหาพ่อแม่ (เก่า) ขอให้ช่วยพาไปด้วย เมื่อนางไสวกับสามีได้ทราบข่าวจากชาวบ้านจึงได้สอบถาม ด.ช.บงกช ซึ่งเด็กก็บอกว่า เขาชื่อ “จำรัส” ไม่ใช่ชื่อ ด.ช.บงกช เขาถูกแทงตายที่ข้างศาลาเจ้า ตำบลหัวถนน นายแบนและนายมาซึ่งเขานั้นรู้จักเป็นอย่างดี ช่วยกันแทงเขาจนเขาตาย แล้วก็เอาสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท แหวนทองคำ 2 วง และนาฬิกาข้อมือของเขาไปด้วย

ตั้งแต่เกิดมา ด.ช.บงกชชอบกินปลาร้า ผิดจากพ่อแม่และพี่น้องอื่น ๆ (มี 10 คน แต่ตายไป 2 คน) ซึ่งไม่กินปลาร้า โดย ด.ช.บงกชไปกินกับคนข้างบ้าน และยิ่งกว่านั้นยังพูดภาษาอีสานได้ดีอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ในหมู่บ้านนั้นไม่มีชาวอีสานเลย และบางครั้ง ด.ช.บงกชยังขอร้องมารดาให้บวชให้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะเด็กอายุแค่ 3 ขวบเท่านั้น

นางไสวได้เล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อตอนไปตลาด ด.ช.บงกชเห็นผลฝรั่งก็อยากกิน จึงบอกกับนางไสวว่า อยากกินหมากสีดา นางไสวนั้นไม่เข้าใจ ด.ช.บงกชจึงชี้ให้ดูผลฝรั่ง นางไสวจึงได้รู้ว่า ชาวอีสานเรียกผลฝรั่งว่า หมากสีดา

เรื่องการตายของนายจำรัส ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบหลักฐานจากทะเบียนคดีอาญาของอำเภอท่าตะโก ก็พบว่า มีจริง นายจำรัส อายุ 18 ปี บุตรนายม่าน พุภูเขียว และนางศรีนวล ถูกแทงตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2496 เหตุเกิดที่บริเวณงานวัดหัวถนน ต.หัวถนน อ.ท่าตะโก

นายม่านซึ่งเป็นบิดาของนายจำรัส ก็ได้เล่าถึงเหตุการตายของลูกชายว่า วันนั้นมีงานที่วัดหัวถนน นายจำรัส บอกผมว่าจะไปเที่ยวงานที่วัดหัวถนน ตอนไปก็ใส่ทองหนัก 3 บาท นาฬิกา 1 เรือน และแหวนทองนาค 2 วง พอถึงเวลา 2 ยามเศษ ตำรวจก็มาบอกว่า ลูกชายของตนถูกคนร้ายแทงตายและก็ชิงทรัพย์ไปหมด ผมจำได้ว่า ลูกสวมเสื้อสีขาวแขนสั้น นุ่งกางเกงขาสั้นสีกากี นอนตายอยู่ที่โคนต้นตะโกข้างศาลเจ้า

บ่ายวันรุ่งขึ้น เมื่อชันสูตรศพแล้ว ผมก็เอาไปวัดเผาเลย พอเขาตายได้ 3 เดือนผมก็เอาจักรยานของเขาไปขายให้ทิดมี พอตกกลางคืน ลูกชายคนเล็กของผมก็ร้องไห้จนไม่ต้องหลับนอนกัน ผมเลยไปจุดธูปบอกจำรัสเรื่องรถจักรยาน เจ้าลูกคนเล็กก็หยุดร้อง ผมเลยไปซื้อรถจักรยานมาเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ แต่เสื้อผ้าของเขาผมให้ทานไปหมด เก็บไว้แต่มีดพกและกางเกงขายาวดำอีกตัวหนึ่งเพราะไม่มีคนใส่

นายม่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ ด.ช.บงกชว่า ผมก็รู้เรื่องเค้าเมื่อต้นปีนี้เอง เพราะมีคนลือกันว่า ลูกของผมไปเกิดที่ ต.ดอนคา ผมก็เดินทางไปหาเค้ากับเมียผม พอไปถึงบ้านของนางไสว ด.ช.บงกชก็วิ่งมาหาผม ดูหมาให้ผมแล้วพูดภาษาอีสานกับผม ผมก็นึกเอะใจก็ลองถามด.ช.บงกชเรื่องสีของรถจักรยานและมีดพก เขาก็บอกว่า ช่วยเก็บไว้ให้ด้วย เขาจะเอามีดพกเสียบไว้ข้างฝา ผมก็เริ่มงงเป็นไก่ตาแตก เมื่อยิ่งคุยถามไป ด.ช. บงกชก็ตอบได้ถูกต้อง เขาก็ต่อว่าผมที่ผมไม่ไปหาเขาเลย เขาคิดถึงผมตลอดเวลา ซึ่งเด็กตัวเล็ก ๆ พูดจาได้เหลือเชื่อ เมื่อผมถามกลับว่า เวลาที่ตายใส่เสื้ออะไร เขาก็ตอบว่า ใส่เสื้อสีขาวแขนสั้น และนุ่งกางเกงขาสั้นสีกากี และก็พ่อเป็นคนให้ใส่ พ่อจำไม่ได้หรือ ผมนี่ถึงกับน้ำตาไหล แม่ของเขาเองก็ร้องโฮ แล้วเขาก็ถามถึงเกวียนที่ผมเคยซื้อ ผมบอกว่าขายไปแล้ว เขาก็ไม่ว่าอะไร และยังถูกถึงน้อง ๆ ของเขาอย่างถูกต้อง มันเคยตีน้องมันยังเล่าถูก ผมร้องไห้เพราะเชื่อแน่ว่าเป็นลูกผม กลับถึงบ้านผมปรึกษากับเมียว่า จะขายนาสัก 30 ไร่ เอาเงินไปซื้อตัวลูกคืนมา แต่ทางฝ่ายครูอมรและนางไสวไม่ยอมส่วนเรื่องมืดมืดนั้น ตำรวจจับนายมาได้ ส่วนนายแบนหนีไป ยังจับไม่ได้ เมื่อฟ้องศาลแล้ว ศาลตัดสินให้ปล่อยตัวเพราะหลักฐานอ่อน

นายม่านเล่าถึงนิสัยใจคอของนายจำรัสว่า เมื่อ 2 ปีก่อนจะตาย นายจำรัสเคยปรารภว่า อยากจะบวชเณร แต่นายม่านนางศรีนวลทัดทานไว้เพราะเกรงว่าไม่มีคนช่วยทำนาน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ด.ช.บงกชในขณะนี้ ก็บ่นกับนายอมรและนางไสวเสมอว่า อยากบวช บางคราว ด.ช.บงกชเอาผ้าคลุมหัวแล้วทำท่าเป็นพระ บางคราวก็บอกนางไสวว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จะบวช ทั้งชาติก่อนและชาตินี้ นายจำรัสหรือด.ช.บงกชมีจิตเป็นกุศล ใคร่จะบวชในพระศาสนาอยู่เสมอ

เมื่อเดือนมีนาคม พงศ. 2540 ดร. เจอร์เกน ไคส์ (นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย) ได้เดินทางมาศึกษาค้นคว้าเรื่องเด็กที่จำอดีตชาติได้ในประเทศไทยแทน ศ.น.พ.เอียน สตรีเวนสัน จิตแพทย์ชาวแคนาดา ซึ่งชรามากแล้ว โดยมีนายสุตทยา วัชราภัย เป็นผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า บุคคลทั้งสองได้เดินทางไปยังภาคอีสานตอนบน เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่จำอดีตชาติได้ โดยสืบถามข้อมูลจากญาติพี่น้อง พยานที่รู้เห็น หรือตัวเด็กที่จำอดีตชาติได้ ซึ่งบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *