เทพารักษ์ประจำหลักเมือง

พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์ประจำหลักเมือง โดยเฉพาะพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรีเป็นเทพารักษ์ที่พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์และประชาชนให้ความเคารพนับถือมาแต่ครั้งโบราณกาล โดยยกย่อมนับถือว่าเป็นเทพารักษ์ที่สามารถอำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ป้องกันภัยพิบัติให้แก่ผู้ที่เคารพบูชาได้อย่างมหัศจรรย์

พระเสื้อเมือง

“พระเสื้อเมือง” เป็นรูปหล่อสำริดปิดทองสูง ๙๓ เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปเทพารักษ์ทรงยืนบนฐานสิงห์ พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลาเชิงงอน นุ่งภูษาทับด้วยชายไหว ชายแครง ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายเท้าที่บั้นพระองค์ทรงคฑาวุธ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอพระพระนลาฏทรงจักราวุธ ซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าสำหรับไว้สังหารพวกอสูร พระเสื้อเมืองเป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากรรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน

พระทรงเมือง

พระทรงเมืองเป็นรูปหล่อสำริดปิดทองสูง ๘๘ เซนติเมตร เป็นรูปเทพารักษ์ทรงยืนบนฐานปัทม์ พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ห้อยข้าง ประดับสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายเท้าที่บั้นพระองค์ทรงพระธรรค์ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอพระนลาฏ ทรงเทพอาวัธสังข์อันหมายถึงคุณธรรม ความเจริญ พระทรงเมืองเป็นเทพารักษ์รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ดูแลทุกข์สุขประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี

พระกาฬไชยศรี

พระกาฬไชยศรีเป็นรูปหล่อสำริดปิดทองสูง ๘๖ เซนติเมตร เป็นรูปเทพารักษ์มี ๔ กร ประทับบนหลังนกแสกซึ่งเกาะอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมปิดทอง พระเศียรทองมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยชายไหว ชายแครงคาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ตันพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาลตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายบนยกเสมอพระอังสา ถือเชือกบาสสำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอพระนาภีแสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอนมิให้กระทำความชั่วร้าย พระหัตถ์ขวาบนยกชูเสมอพระอังสาทรงถือชวาลา คือ ดวงวิญญาณเปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิต และที่ทำเป็นสามแฉก หมายถึง ความตายนั้นย่อมบังเกิดขึ้นได้โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นผู้อยู่ในปฐมวัย มัชฉิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ตาม พระหัตถ์ขวาล่างเท้าที่บั้นพระองค์กุมพระขรรค์แทนปัญญาอันแหลมคม พระกาฬไชยศรีเป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก จึงเป็นคติสืบมาว่า ถ้าได้ยินนกแสกร้องในเวลากลางคืน ห้ามไม่ใช้ทักเพราะเชื่อกันว่า ขณะนั้นพระกาฬกำลังออกล่ามนุษย์ผู้ทำบาป

เจ้าพ่อหอกลอง

เจ้าพ่อหอกลองเป็นรูปหล่อสำริดปิดทองสูง ๑๐๕ เซนติเมตร เป็นรูปเทพารักษ์ทรงยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ประดับด้วยสุวรรณประกอบคาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ต้นพระหาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายและขวายกชูขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัวแทนความหมายของธรณีซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่พระนารายณ์เทพเจ้าผู้ถนอมโลกทรงถือพระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์สำหรับใช้เป่าเป็นสัญญาณเรียกประชุมไพร่พลให้มาเข้ามาประจำหน้าที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติสมัยโบราณ เจ้าพ่อหอกลองเป็นเทพารักษ์ประจำหอกลองมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณืต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่า คอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัยหรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร หอกลองประจำเมืองนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่ใกล้พระบรมมหาราชวังด้านใต้บริเวณหน้าวัดพระเชตุพน เป็นอาคารไม้สูง ๓ ชั้น ยอดมณฑป ภายในประดิษฐานกลองขนาดใหญ่ ๓ ใบ กลองย่ำพระสุริย์ศรี มีขนาด ๘๒ * ๘๖ เซนติเมตร สำหรับตีบอกเวลา กลองอัคคีพินาศ มีขนาด ๖๐ * ๖๑ เซนติเมตร สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ กลองพิฆาตไพรี มีขนาด ๔๔ * ๔๖ เซนติเมตร สำหรับตีเมื่อเกิดศึกสงคราม ภายหลังจึงสร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นและอัญเชิญเจ้าพ่อหอกลองมาไว้ ณ ศาลหลักเมืองปัจจุบัน

เจ้าพ่อเจตคุปต์ (เจตคุก)

เจ้าพ่อเจตคุปต์ (เจตคุก) เป็นรูปแกะสลักด้วยไม้ปิดทอง สูง ๑๓๓ เซนติเมตร เป็นรูปเทพารักษ์ทรงยืนบนแท่นสี่เหลี่ยม พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัยสวมสนับเพลามีเชิงนุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระบาท ฉลองพระบาท มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานา สำหรับจดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป และมีหน้าที่อ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม เนื่องจาก เจ้าพ่อเจตคุปต์เป็นบริวารของพระยม[i]


[i] จีรนันทน์ ดีประเสริฐ. (2537). การสะเดาะเคราะห์ เสี่ยงทาย แก้บน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *