เจ้าพ่อหลักเมือง

“เจ้าพ่อ” ในความหมายของสังคมโดยทั่วไปจะหมายถึง ผู้เป็นใหญ่หรือมีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น จะดีหรือร้ายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ที่เป็นเจ้าพ่อเหล่านั้นไม่สามารถกำหนดเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานรับรองความเป็นเจ้าพ่อที่ดีหรือไม่ดีได้

“เจ้าพ่อ” ในอีกความหมายหนึ่งในแง่ศาสนา หมายถึง “เทพารักษ์” (เทวดา) ผู้คุ้มเกรงถิ่นนัน ๆ คอยดูแลรักษาและเป็นที่พักพิงทางใจให้กับบุคคลที่ต้องการที่พึ่ง

“เจ้าพ่อหลักเมือง” ถือว่า เป็นเทพารักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดหรือในเมืองการนับถือหลักเมืองมิได้เป็นประเพณีเฉพาะคนไทยเท่านั้น ขอมและมอญก็มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเช่นกัน การที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือเจ้าพ่อหลักเมืองนั้นมีสาเหตุอยู่ด้วยกัน ๕ ประการ ที่สันนิษฐานว่า คงทำให้เกิดการนับถือเจ้าพ่อหลักเมือง คือ

  1. ได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์
  2. นับถือผีตามเขตการปกครอง
  3. เกิดจากเจ้าเมืองที่มีคนนับถือมาก
  4. เกิดจากการฝังเสาหลักเมือง
  5. เอาตัวอย่างมาจากลัทธินับถือเจ้าแบบจีน

การได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์

การได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากว่า ขอมและมอญ (ซึ่งมีศาลหลักเมือง) เคยมีอิทธิพลครอบงำจิตใจของคนไทยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ประเพณีหลายอย่างที่เรารับมา เช่น ผู้ปกครองมีฐานะเป็นเทวราช ราชาศัพท์ที่มาจากภาษาขอม เป็นต้น ด้วยเหตุผลนี้จะเห็นว่า เรารับวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างจากขอมแน่นอน ในเรื่องของศาสนานั้นขอมนับถือศาสนาพราหมณ์ซึ่งนับถือเทพเจ้าด้วย จะสังเกตได้ว่า เมื่อขอมสร้างเมืองที่ไหนก็จะสร้างปราสาทหินที่นั่น ซึ่งปราสาทหินนั้นก็คือ เทวสถานหรือศาลเจ้าในความรู้สึกของคนไทยนั่นเอง

แต่ก่อนคนไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม ประเพณีการนับถือเทพเจ้านี้อาจแพร่มาถึงคนไทยด้วยก็เป็นได้ สำหรับประเพณีวัฒนธรรมของมอญที่เรารับมาเป็นของเราก็คือ กฎหมายพระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่พระเจ้าฟ้ารั่วสร้างขึ้นใช้ในสมัยกรุงสุโขทัย วิชาโหราศาสตร์ และตำรายาแผนโบราณของไทยบางส่วน ซึ่งเหล่านี้มอญก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียทั้งสิ้น ดังนั้น มอญอาจจะรับประเพณีการเคารพบูชาเทพเจ้าประจำเมือง อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อถือของมอญเอง เพราะศาสนาพราหมณ์ไม่มีเจ้าพ่อหลักเมือง มีเฉพาะบนสวรรค์ เท่านั้น

การนับถือผีตามเขตการปกครอง

การนับถือผีตามเขตการปกครอง แต่เดิมนั้นประเทศไทยแยกการปกครองออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ภายหลังเมื่อรวมกันเป็นเอกภาพแล้วก็ยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองเมืองอยู่ และก่อนหน้านี้คนไทยจะนับถือพุทธศาสนานั้นเคยนับถือผีมาก่อน ผีที่นับถือนั้นมีผีบ้าน ผีเรือน ผีทุ่ง เป็นต้น แต่ละเขตแต่ละท้องถิ่นก็มีผีประจำ สำหรับเขตการปกครองสูงสุด คือ เมืองมีเจ้าปกครอง ก็น่าจะมีผีเมือง ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเหมือนเจ้าเมืองด้วย คนสมัยนั้นจึงเกิดประเพณีการนับถือผีเมือง แล้วพัฒนามาเป็นเจ้าหลักเมืองก็ได้ ส่วนในประเด็นที่ว่า เรารับเอาประเพณีการนับถือเทพเจ้ามาจากอินเดียโดยตรงนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะเราติดต่อกับอินเดียเฉพาะเรื่องพุทธศาสนาเท่านั้น สำหรับศาสนาพราหมณ์เราก็รับจากขอมและมอญเป็นส่วนใหญ่ ลัทธิพราหมณ์ที่เรารับจากอินเดียโดยตรงนั้นน่าจะเป็นลัทธิที่นับถือพระนารายณ์ซึ่งดูได้จากการเล่นหนังตะลุงที่เดิมนั้นต้องเล่นเรื่องพระรามอย่างเดียว

เกิดจากเจ้าเมืองมีคนนับถือมาก

เกิดจากเจ้าเมืองมีคนนับถือมาก หลังจากตายแล้วจึงมีคนสร้างศาลไว้บูชา ในข้อนี้ ไม่จำเป็นจะต้องสร้างศาลหลักเมืองเสมอไป ความรวมแล้วฯ หมายถึง สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อไว้สำหรับรำลึกสักการะแทนเจ้าเมืองหรือผู้ครองเมืองนั้น ๆ ตัวอย่าง คือ เมืองพิษณุโลกที่ไม่มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอาจเป็นเพราะว่า

  1. เป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเคยปกครองมาก่อนและหลังจากที่พระองค์ไม่ได้ปกครองแล้ว ประชาชนก็สร้างศาลพระองค์ไว้บูชา สมมุติฐานข้อนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเกิดจากเจ้าเมืองมีคนนับถือมาก เมื่อตายแล้วประชาชนจึงสร้างศาลไว้ เมื่อพิจารณาโดยนับนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ศาลพระนเรศวรที่พิษณุโลกนั่นเอง ที่เป็นศาลหลักเมืองของพิษณุโลก
  2. การที่เมืองพิษณุโลกไม่มีหลักเมืองนั้น อาจเป็นเพราะบารมีของพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนเคารพนับถือกันมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีศาลหลักเมืองอีก เมืองอื่นที่ไม่มีศาลหลักเมืองแต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ได้แก่ เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีหลวงพ่อโสธร เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง และเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสาครมีหลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เช่นกัน

เกิดจากการฝังเสาหลักเมือง

เกิดจากการฝังเสาหลักเมือง เมืองเกือบทุกเมืองต้องทำพิธีฝังเสาหลักเมือง และการฝังเสาหลักเมืองแต่ก่อนน่าจะมีจุดประสงค์เพียงแค่เอาฤกษ์ในการสร้างเมืองเหมือนกับการวางศิลาฤกษ์ในปัจจุบัน และฤกษ์นี้เองยังสามารถนำไปคำนวณหาคำทำนายชะตาบ้านชะตาเมืองได้ และเสาหลักเมืองนั้นได้วิวัฒนาการมาเป็นศาลหลักเมืองก็เนื่องมาจากความคิดที่ว่า เสาหลักเมืองเป็นมงคลวัตถุสำคัญของเมืองน่าจะให้เกียรติเป็นพิเศษจึงสร้างหลังคาดูแลให้เรียบร้อยเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น คนจึงนิยมไปสักการะบูชาถือเป็นเจ้าประจำเมืองคู่กับเจ้าเมืองไปในตัว

เอาตัวอย่างมาจากลัทธินับถือเจ้าแบบจีน

เอาตัวอย่างมาจากลัทธินับถือเจ้าแบบจีน ซึ่งเชื่อว่า ศาลหลักเมืองวิวัฒน์มาจากจีน อาจจะรับมาทั้งหมดหรือบางส่วน หลักฐานที่จะอ้างเพื่อสนับสนุนมี ๒ ประการ คือ

  1. ชาวจีนนิยมสร้างศาลเจ้าบูชา และการบูชาเซ่นสรวงของชาวจีนก็ไม่เหมือนที่อื่น คือ มีข้อแลกเปลี่ยนมีเงื่อนไข ซึ่งไม่พบในระบบเทวนิยมอื่น ๆ เรียกกันว่า การบนและการแก้บนนั่นเอง ถ้าบนหรืออ้อนวอนขอสิ่งใดแล้วได้สมใจปรารถนา ชาวจีนจึงเอาเครื่องเซ่นสรวงไปให้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ให้ และทุกวันนี้คนไทยเราก็บนเจ้ากันอย่างนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ระบบศาลเจ้าพ่อและศาลเจ้าธรรมดานั้นเราเอาแบบอย่างมาจากจีน
  2. ข้อที่น่าสังเกต คือ ตามศาลเจ้าเกือบทุกแห่งจะมีคนจีนไปเฝ้าทำความสะอาด เป็นผู้จัดการเครื่องพลีกรรมที่ชาวบ้านนำไปแก้บน การมีชาวจีนอยู่ประจำศาลเจ้าจึงน่าจะเป็นสมมติฐานให้เชื่อว่า ระบบศาลเจ้าหลักเมืองได้วิวัฒนาการมาจากศาลเจ้าของจีน[i]

[i] จีรนันทน์ ดีประเสริฐ. (2537). การสะเดาะเคราะห์ เสี่ยงทาย แก้บน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *