กาลามสูตรกังขานิยฐาน ๑๐

กาลามสูตรนี้บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายมักไม่นิยมแสดงให้แก่บรรดาสานุศิษย์ ได้ศึกษาเรียนรู้กัน เพราะเกรงว่า บรรดาสานุศิษย์ จะไม่เชื่อฟัง ไม่เชื่อถือ ถ้อยคำที่สั่งสอนของตนเสีย ด้วยพากันมีเหตุผลในการพิจารณาวิเคราะห์แยกแยะด้วยพากันมีสติปัญญาตัดสินใจได้ถึงความเป็นเท็จ ความเป็นจริง ครูบาอาจารย์ ทั้งหลายได้พิจารณาถึงสาเหตุนี้ จึงงดเสียเว้นเสียที่จะแสดงหักกาลามสูตรนี้ ไม่นิยมที่จะแสดงตรรกนัย ความหมายให้ได้ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจกัน ด้วยเกรงว่า สานุศิษย์ จะไม่ยึดติดในตัวของครูบาอาจารย์ จะไม่ยึดติดในตำรับ ตำรา วิชาการ ซึ่งเป็นเพียงแต่เหตุปัจจัยหนึ่งในการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น

เรื่องของความเชื่อ จึงเป็นบาทฐานบทเรียนแรกของผู้ที่จะศึกษาเล่าเรียน สรรพวิชาการต่าง ๆ จะต้องเรียนรู้ก่อนบทเรียนอื่น ๆ เพราะจะช่วยให้ไม่ยึดติดกับตำราเรียน ยึดติดกับตัวผู้สั่งสอน ในปัจจุบันนี้ แนวทางในการศึกษาเล่าเรียนจึงเปลี่ยนไปที่ตัวของผู้ศึกษาเล่าเรียนหรือศูนย์กลางทางการศึกษาอยู่ที่ตัวผู้ศึกษาเล่าเรียน ความสำเร็จหรือความล้มเหลว จึงขึ้นอยู่กับตัวของผู้ศึกษาเล่าเรียนเอง ที่ต้องค้นคว้าทดลอง พิสูจน์ให้เห็นจริงกับตัวผู้ศึกษาเล่าเรียนเอง

กาลามสูตรกังขานิยฐาน ๑๐ เป็นพระสูตรที่ในบาลีเรียกว่า “เกสปุตติยสูตร” ที่ชื่อ “กาลามสูตร” ที่แสดงถึงความเชื่อของปุถุชนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะ แห่งวรรณะกษัตริย์ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เกสปุตติยสูตร” เหตุที่ชนเผ่ากาลามะนี้เป็น “ชาวเกสปุตตนิคม” ปรากฏในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร มหาวรรค

เอกํ สมยํ ภควา โกสเลสุ จาริกํ จรมาโน มหาตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ เยน เกสปุตฺตํ นาม กาลามานํ นิคโม ตทวสริ.

อลํ หิ โว กาลามา กงฺขิตํ อลํ วิจิกิจฺฉิตํ กงฺขนิเยวย ปน โว ฐาเน วิจิกิจฺฉา อุปฺปนฺนา. เอถ ตุเมห กาลามา

  1. มา อนุสฺสเวน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
  2. มา ปรมฺปราย อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
  3. มา อิติกิราย อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
  4. มา ปิฏกสมฺปทานเนน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
  5. มา ตกฺกเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก
  6. มา นยเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
  7. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
  9. มา ภพฺพรูปตาย อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะ น่าจะเป็นไปได้
  10. มา สมโณ โน ครูติ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

หลักกาลามสูตรนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงในกรณีศึกษา “นักเขียน” นั้นหาใช่ “นักปราชญ์” ที่มีความรอบรู้แตกฉานไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างหรือเป็นผู้ที่มีความสันทัดกรณี มีความเชี่ยวชาญชำนาญการในแต่ละสาขาวิชาการนั้น นักเขียนที่เขียนถึงวัตถุมงคล พระเครื่องฯ พระเกจิคณาจารย์องค์ต่าง ๆ ก็หาใช่ นักพระเครื่องฯ ที่มีความสันทัดจัดเจนในการพิจารณาความเก๊ ความแท้ในวัตถุมงคล พระเครื่องฯ พระเกจิคณาจารย์องค์นั้น ๆ หรือได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการพระเครื่องฯ

นักเขียนหลายท่านไปเล่นงานเขียนที่เป็นองค์ความรู้ในพระอักขระ เลข องค์ยันต์ ก็หาใช่ “ยันตรคณาจารย์” ที่มีความสันทัดเชี่ยวชาญคล่องแคล้วในการขีดลายเส้นลายยันต์ แตกฉานในพระอักขระศาสตร์ นักเขียนหลายท่านไปเล่นงานเขียน พระคาถาบทต่าง ๆ รวบรวม พระคาถาอาคมออกมาแล้วหลายเล่ม ก็หาใช่ “ภาวนาคณาจารย์” ในสายพระเวท สายพระโองการ สามารถนำหลักกาลามสูตรเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจน “อุปโลกน์ลวงโลก” กันหรือไม่ อย่างไร

จึงเป็นเรื่องที่ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการเสพอรรถ เสพพยัญชนะ เพราะต่อไปนี้จักได้แสดงถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ไปมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับเรื่องของศรัทธาความเชื่อถือที่เจาะจงลงเฉพาะในแต่ละตัวบุคคล เพราะอะไรที่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงในทางพระพุทธศาสนาแล้ว มักเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังมิให้กลับกลายเป็น เรื่องการอุตริมนุสธรรม ๑ เรื่องไสยศาสตร์ ไสยเวทอันเป็นเดียรัจฉานวิชา ๑ เรื่องที่ให้พระเกจิคณาจารย์ต้องอธิกรณ์ถูกปรับอาบัติปาราชิก ๑ อันเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกันนี้แอบแฝง คติธรรมนิยมทางความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในทางพระอภิญญาญาณบารมีธรรมของพระเกจิคณาจารย์องค์นั้น ๆ เป็นเรื่องของศรัทธาความเชื่อเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่จากประสบการณ์ทางด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนเป็นที่แจ้งประจักษ์ชัดเจนหลายครั้งกับหลายคน ก็ได้สร้างกระแสศรัทธานิยมให้ทวีความเลื่อมใสให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีจำนวนผู้คนที่เข้าร่วมพิธีกรรมในแต่ละครั้งมากขึ้นตามไปตามลำดับด้วยเช่นกัน

กาลามสูตรนี้ บรรดาชาวตะวันตกยกย่องกันเป็นอย่างยิ่งในเหตุผลที่เป็นแบบสากลนิยม และมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่เคยปรากฏในคัมภีร์ของศาสนาอื่น ๆ หลักการในกาลามสูตรนี้ เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทางคณิตศาสตร์ ทางตรรกศาสตร์เป็นเรื่องที่สามารถสืบค้นบ่งชี้แบบย้อนกลับได้ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นตามความเป็นจริงได้ และมิใช่เรื่องของความเป็นอัตตาที่ยึดถือตัวตนของแต่ละบุคคลเป็นใหญ่ แบบครูอาจารย์ ผู้สอน ย่อมเป็นใหญ่ในชั้นเรียนแบบหัวหน้า ผู้จัดการ ย่อมเป็นใหญ่ในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งเป็นการควบรวมความเป็นใหญ่ในตัวบุคคล ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว บุคคลย่อมมีสิทธิ์มีฐานะเท่าเทียมกันในทุกฐานะในสังคม บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่อาจหาญครอบงำบุคคลใด ๆ ได้ในทางความคิด ทางความเชื่ออย่างที่ความคิดของผู้ที่เป็นย่อมถูกต้องเสมอไป อย่างทำอะไรก็ตามย่อมไม่ผิดย่อมถูฏเสมอ

กาลามสูตรนี้จึงเป็นเหมือนลิ่มเลือดที่ไปอุดตันสมอง อุดตันสติปัญญา อุดตันในจิตใจ ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้หายไปจากตัวตนของผู้คนนั้น ๆ หากผู้ใดมีหลักการในกาลามสูตรแล้ว ถือเป็นบุคคลที่มีความเชื่อต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผล ผู้ที่อยู่เหนือกว่าย่อมไม่ชอบใจมากนัก เพราะถือว่า เป็นบุคคลที่ยากแก่การปกครอง เป็นคนหัวดื้อ พูดยากสั่งการลำบาก สังคมคนไทย ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ก็มักเป็นเช่นนี้เสมอ ถือตนเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล.[i]


[i] ที่มาบทความ โดยสิระ อาสาวดีรส. (2559). ๙ วัดที่พิธีสะเดาะเคราะห์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีนปัญญาญาณ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *