เกร็ดความรู้เรื่อง “แชมพู” (Shampoo)

แชมพู (Shampoo) เป็นสารที่ทำความสะอาดบนเส้นผม เพื่อทำให้เส้นผมอยู่ในสภาวะที่ดี สามารถชำระล้างสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่นละออง เหงื่อไคล คราบไขมัน ออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ โดยไม่เป็นอันตรายต่อเส้นผมและสุขภาพของผู้ใช้ และแชมพูบางชนิดใช้รักษาโรคของเส้นผมและหนังศีรษะด้วย สูตรต่าง ๆ ของแชมพูต้องให้เหมาะสมกับชนิดของเส้นผมของผู้ใช้ เช่น ผมแห้ง ผมมัน ผมเหนียว ผมกรอบ ผมย้อม ชนิดของสีย้อมผม ผมสั้น ผมยาว ผมชาวเอเชีย ผมชาวตะวันตก ผมนิโกร ผมมีปัญหาของหนังศีรษะ เช่น รังแค ฤดู อายุ ชนิดความเป็นอยู่ นิสัยการสระผม เช่น ความถี่ของการสระผม การใช้สารปรับสภาพเส้นผม สไตล์ของทรงผม ปัจจุบันมีการเพิ่มคุณสมบัติของแชมพู เพื่อให้ปรับปรุงสภาพของเส้นผมด้วย เช่น ป้องกันการหยาบแห้งของเส้นผม ป้องกันผมแตกปลายไม่ให้เส้นผมเหนียวเหนอะหนะ ไม่ให้เส้นผมบางลงและป้องกันอาการคัน ลดรังแคของหนังศีรษะ การที่จะกล่าวว่า แชมพูชนิดไหนดีหรือไม่ดี โดยมากมักจะคิดกันว่า แชมพูนั้นให้ฟองดีหรือไม่ดี ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ควรพิจารณาว่า แชมพูชนิดนั้นดีหรือไม่ คือ

  1. กระจายไปทั่วเส้นผมและหนังศีรษะได้ง่าย
  2. ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะได้หมด
  3. ทำให้เส้นผมสวยเป็นมันเงา แวววาว ยืดหยุ่นได้ดี
  4. ไม่ทำให้เส้นผมแห้งกรอบ หรือหนังศีรษะแห้ง
  5. เกิดฟองมาก และสม่ำเสมอและฟองอยู่ได้นาน
  6. ล้างออกได้ง่าย
  7. หวีและจัดผมได้ง่ายหลังสระผม
  8. ไม่ทำให้เกิดการแพ้หรือระคายต่อหนังศีรษะและไม่ทำให้เกิดผมร่วง
  9. ไม่ทำแสบตาหรือระคายเคืองต่อเยื่อบุตา
  10. มีความคงตัวดี ทั้งสี กลิ่น และความหนืดไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อถูกแสงหรืออุณหภูมิที่สูง

แชมพูที่มีจำหน่ายในตลาด จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สารทำความสะอาดชำระล้างและลดแรงตึงผิวหลัก (Principle surfactants) สารลดแรงตึงผิวรอง (Secondary surfactants) และสารเพิ่มคุณสมบัติพิศษ เช่น สารเพิ่มฟองปรับสภาพเส้นผม สารกันเสีย น้ำหอม สารแต่งสี สารทำให้ใส สารทำให้หนืด สารขจัดรังแค

เส้นผมมนุษย์มีประมาณ 100,000 ถึง 150,000 เส้น เส้นผมจะมีส่วนนอกเรียงกันเป็นเกล็ด เรียกว่า cutical เส้นผมภายในเรียกว่า cortex และแกนผมเรียกว่า medulla ถ้ากรณีเส้นผมส่วนนอก (cuticle) ถูกทำลาย จะพบว่า ผิวของเส้นผมจะขรุขระ ไม่มีความแวววาว ขาดเปราะง่าย ปกติการทำลายของผิวนอกของเส้นผม มีสาเหตุจาก

  1. ทางกายภาพ เช่น การหวี การสระ การใช้ความร้อนเป่าผม เป็นต้น
  2. สารเคมี เช่น คลอรีนในสระว่ายน้ำ แชมพูที่มีความเป็นด่างมาก

ปกติแชมพูที่มีจำหน่ายในตลาด จะไปละลายไขมันออกจากเส้นผม โดยมีผลเล็กน้อยต่อเส้นผม แต่กรณีผิวนอกเส้นผมถูกทำลายโดยแชมพู จะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบนเส้นผม คือ แชมพูจะไปทำให้ disulfide cross link ที่อยู่ระหว่าง amino acid ชนิด cystime ที่มีอยูใน fibril ของเส้นผมถูกทำลาย keratin fibril ของเส้นผมลอกออก ทำให้เส้นผมส่วนในที่เรียกว่า cortex ออกมาอยู่ด้านนอก ดังนั้น เส้นผมจะเปราะง่าย ความยืดหยุ่นเสียไป ขาดความแวววาว ได้มีผู้ทำการศึกษาการทำลายของเส้นผม โดยในปี 1963 Braun ศึกษาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ต่อมา 1971 Orfanos, Mahrle และ Hashimoto ได้ใช้ Scanning electron microscope นำมาทำการศึกษาเส้นผม และในปี 1972 Swift และ Brown ได้รายงานผมเสียจากการใช้เครื่องสำอางสำหรับเส้นผม เช่น การย้อม การดัด การฟอกสีเส้นผม ทำให้ผิวของเส้นผมขรุขระมีรอยถลอก ผิวนอกลอกออกหมดและผมแตกเป็นส่วน พร้อมทั้งบอกว่า แชมพูเป็นตัวเสริมทำให้เกิดการลอกออกของชั้นนอกของเส้นผม (cuticle)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *