ประวัติและลักษณะของแชมพูสระผม

ตามประวัติคำว่า “แชมพู” มาจากคำในภาษาฮินดู แปลว่า “คั้น หรือ บีบรัด” ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏว่า มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้แชมพูมาตั้งแต่เมื่อใด แต่เท่าที่ทราบพบว่า แต่เดิมนั้นสิ่งที่ใช้หาความสะอาดนั้นใช้สบู่ธรรมดา หรือสบู่ก้อนที่ใช้ฟอกตัวนั่นเอง (Cake of Soap) ต่อมาได้มีการดัดแปรงรูปแบบของสบู่ที่ใช้ฟอกหรือสระผมให้เป็นวัตถุเหลวให้สะดวก โดยทำจากสบู่ชนิดอ่อนที่ละลายน้ำได้ (Water Soluble Soap) เรียกกันว่า “แชมพูสบู่” ซึ่งข้อเสียของการใช้แชมพูสบู่ก็คือ ไคลสบู่ (Soap Scum) จะเกาะเส้นผม ทำให้ผมเหนียว หยาบกระด้าง ไม่มีเงา ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2473 นักเคมีได้ค้นพบว่า สารซักฟอก (Detergent) ใช้ทำความสะอาดเส้นผมได้ดีกว่า สารนี้จึงได้รับความนิยมอย่างสูง มีการนำมาใช้ทาแชมพูแทนแชมพูสบู่ และมีการวิวัฒนาการก้าวหน้าเป็นลำดับ มีการเพิ่มเติมส่วนผสมอื่น ๆ (Additive) และเพิ่มชนิดหรือประเภทของแชมพู เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น

สำหรับตลาดแชมพูในประเทศไทยนั้น พบว่า แชมพูได้เข้ามาในประเทศไทยประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรูปของแชมพูผง โดยสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ต่อมาจึงผลิตในประเทศเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แชมพู (Product Development) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แชมพูน้ำ / เหลว (Liquid Shampoo) แชมพูครีม (Cream Shampoo) มีชนิดและประเภทแชมพูกว่า 20 ชนิด เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น พฤกษา เลมอน โปรตีนไข่ สาหร่ายทะเล นม และเบียร์ ฯลฯ เป็นต้น แต่ตลาดแชมพูเริ่มเติบโตขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่แชมพูผสมครีมนวดผมหรือแชมพูแบบทู อิน วัน ถูกแนะนำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 การเติบโตอย่างรวดเร็วของแชมพูผสมครีมนวดผมจึงทำให้ผู้ผลิตแชมพูรายใหญ่ ได้พยายามแทรกซึมเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ จากผลดังกล่าวทำให้เกิดการรณรงค์อย่างมากมายจากหลาย ๆ บริษัท ทั้งนี้ เพื่อมุ่งที่จะสร้างส่วนแบ่งตลาดให้ได้สูงสุด เพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปในตลาดแชมพูสระผม โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

ปัจจุบันตลาดแชมพูเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น และยิ่งซับซ้อนไปอีก เมื่อผู้ผลิตทุกบริษัท พยายามที่จะขายสายผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการวิจัยเพื่อหาช่องทางใหม่ในตลาดที่เหมาะสม เพื่อที่จะสร้างคามแตกต่างในตัวสินค้าเหล่านั้นจากคู่แข่งอื่น ๆ

ลักษณะและชนิดของแชมพู

เส้นผม คือ สิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตบนศีรษะของคน ประกอบด้วย อนูของเคอราติน (Keratin) ถึงร้อยละ 97 คนเราจะมีเส้นผมประมาณ 1 แสนเส้น ผมจะหลุดร่วงในอัตรา 80 – 100 เส้นต่อวัน และจะขึ้นใหม่มาแทนที่ตลอดเวลา ทั้งนี้ จะขึ้นกับอายุ สุขภาพ อาหารการกิน และการใช้แชมพู ในด้านลักษณะของเส้นผมของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เพศ วัย สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน และกรรมพันธุ์ ลักษณะของเส้นผมถ้าแบ่งตามลักษณะจะได้ 3 แบบ คือ ผมหยาบ ผมธรรมดา และผมละเอียด หากแบ่งตามความหนาแน่นจะได้แบบ คือ ผมบาง และผมหนา

ลักษณะของแชมพู

ปัจจุบันในท้องตลาดเราจะพบว่า มีแชมพูมากมายหลายชนิด หลายยี่ห้อ ซึ่งต่างก็รณรงค์โฆษณากันอย่างเต็มที่ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานของแชมพูที่ดีควรจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ง่ายต่อการใช้ สามารถกระจายบนเส้นผมได้ทั่วศีรษะและให้ฟองมาก
  2. ฟองต้องกระจายได้ทั่วถึง มีความหนืดและอยู่ตัวในเวลาสระพอสมควร
  3. ชำระล้างได้ง่าย และล้างออกได้รวดเร็ว
  4. ขณะที่ผมยังเปียกอยู่ก็สามารถหวีได้ง่าย
  5. ทำให้ผมเป็นประกายเงางามหลังสระเสร็จแล้ว
  6. ทำให้ผมแห้งได้เร็ว
  7. ง่ายต่อการหวีและตกแต่งเมื่อผมแห้ง
  8. ปลอดภัยต่อเส้นผมและหนังศีรษะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *