ข้าวและคุณสมบัติของข้าว

ข้าวที่ปลูกเป็นอาหารของมนุษย์มี 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวที่ปลูกในทวีปเอเชียมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Oryza sativa ได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย และข้าวที่ปลูกในทวีปแอฟริกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Oryza glaberrima ข้าวในเอเชียแบ่งออกเป็น 3 พันธุ์ คือ พันธุ์อินดิกา (Indica) ปลูกในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย และมีลักษณะเมล็ดขาวยาวเรียว ซึ่งพันธุ์จาปอนิกา (Japonica) ปลูกในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี จะมีลักษณะเมล็ดขาวค่อนข้างกลมป้อม และพันธุ์จาวานิกา (Javanica) ปลูกในประเทศอินโดนีเซีย และพม่าจะมีเมล็ดข้าวก้ำกึ่งระหว่างพันธุ์อินดิกา และพันธ์จาปอนิกา ซึ่งจากสถิติของการใช้ประโยชน์จากข้าวทั่วโลก พบว่า ข้าวเป็นอาหารของมนุษย์ ร้อยละ 88 ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร้อยละ 7 เป็นเมล็ดพันธุ์ ร้อยละ 3.2 และใช้เป็นอาหารสัตว์ ร้อยละ 1.8

คุณภาพทางเคมีของข้าว

ข้าวมีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก คาร์โบไฮเดรตในข้าวสาร ประกอบด้วย สตาร์ชประมาณร้อยละ 90 โดยน้ำหนักแห้ง ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ อะไมโลส และอะไมโลเพกติน ข้าวสารเจ้ามีอะไมโลสเป็นองค์ประกอบประมาณร้อยละ 7 – 33 โดยน้ำหนักแห้ง หรือร้อยละ 8 – 37 ของปริมาณสตาร์ชส่วนประกอบที่เหลือ คือ อะไมโลเพกติน ร้อยละ 3 – 67 ซึ่งเป็นส่วนที่มีมากที่สุดในสตาร์ชทั่วไป โดยเฉพาะข้าวเหนียวจะพบอะไมโลเพกตินเป็นส่วนใหญ่ อาจพบอะไมโลสได้บ้างเพียงร้อยละ 0.8 – 1.3 เท่านั้น สัดส่วนของอะไมโลสและอะไมโลเพกตินในข้าวมีผลต่อคุณภาพของข้าวสุกโดยตรงข้าวสารที่มีอะไมโลสมาก เมื่อหุงสุกจะได้ลักษณะร่วนแข็ง ส่วนข้าวที่มีอะไมโลสต่ำจะให้ข้าวสุกที่นุ่มเหนียว

คุณลักษณะของสตาร์ช

อะไมโลส (Amylose) เป็นพอลิเมอร์สายตรงของน้ำตาลกลูโคสเชื่อมต่อกันด้วยพันธะแอลฟา 1, 4 กลูโคชิดิก โดยมีจำนวนหน่วยของกลูโคสประมาณ 1,500 หน่วยมีน้ำหนักโมเลกุล ประมาณ 250,000 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของธัญชาติด้วยโมเลกุลของอะไมโลสมีรูปเกลียว (Helical form) สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับกรดอินทรีย์ แอลกอฮอล์ และไขมันได้ หรือถ้าจับกับไอโอดีนก็จะให้สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวสามารถนำมาใช้ในการทดสอบคุณสมบัติของแป้งได้

อะไมโลเพกติน (Amylopectin) เป็นพอลิเมอร์ของน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเหมือนกับอะไมโลส แต่ก็มีการเชื่อมต่อกันด้วยพันธะ 2 แบบ คือ แอลฟา 1, 4 กลูโคซิดิก และกิ่งก้านด้วยพันธะ แอลฟา 1, 6 กลูโคซิดิก โดยจะมีปริมาณ พันธะเป็นกิ่งก้านที่อยู่ในปริมาณ ร้อยละ 4 – 5 ของพันธะทั้งหมด และจำนวนหน่วยของกลูโคสในช่วงของกิ่งก้านที่ประมาณ 22 – 28 หน่วย และจำนวนกลูโคสทั้งหมดโมเลกุลประมาณ 1 ล้านหน่วยแล้วมีน้ำหนัก โมเลกุลมากกว่า 108

ในข้าวนอกจากมีสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลักแล้ว ยังมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่บ้างเล็กน้อย ในข้าวกล้องมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.83 – 1.36 ซึ่งมีน้ำตาลรีดิวซ์ ร้อยละ 0.09 – 0.13 ส่วนในข้าวขาวมีน้ำตาลทั้งหมดร้อยละ 0.37 – 0.53 ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลรีดิวซ์ร้อยละ 0.05 – 0.08 ส่วนของเส้นใยที่พบส่วนใหญ่เป็นเซลลูโลส ซึ่งพบมากในรำ ร้อยละ 62 ในคัพภะ ร้อยละ 4 ในรำละเอียด ร้อยละ 7 และในข้าวสาร ร้อยละ 42 สำหรับโปรตีนที่พบในข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผิวนอกของเนื้อเมล็ด และปริมาณจะลดลงเมื่อเข้าใกล้จุดกึ่งกลางเมล็ดโปรตีนที่แทรกอยู่ระหว่างเม็ดสตาร์ชมีรูปร่างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 – 4 ไมครอน ชนิดของกรดอะมิโนที่พบมากในข้าว ได้แก่ ไลซีน แอลบูมิน โกลบูลิน กลูเตลิน โปรลามิน แร่ธาตุที่พบข้าวสาร ได้แก่ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซิลิคอน แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม และเหล็ก ส่วนวิตามินพบในข้าวกล้องมากกว่าในข้าวสาร โดยเฉพาะในส่วนของคัพภะ และชันอลูโรน วิตามินที่สำคัญในข้าว ได้แก่ ไทอะมิน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน ในการขัดสีข้าวจะทำให้สูญเสียวิตามินไปประมาณร้อยละ 50 คุณค่าทางโภชนาการของข้าวและประโยชน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *