อิทธิพลของมนต์คาถา การสวดมนต์ ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

อิทธิพลของมนต์คาถาส่งผลต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ มนต์คาถาโดยส่วนใหญ่มาจากหลักศีลธรรมของพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นหลักสำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ผู้สนใจศึกษาคาถา ต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามลักขโมย ไม่ผิดลูกเมีย จารีตที่สำคัญที่โบราณท่านสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาบังคับ คือ เรื่องของ “สิริ” หรือตามที่เรียกกันว่า “สิริมงคล” จัดว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ศึกษามนต์คาถาทุกคนต้องปฏิบัติให้ได้ ดังสุภาษิตที่โบราณใช้สอนไว้ว่า “อย่าลืมหลงจุดอุตส่าห์รักษาสิริตามคติโบราณท่านขานไข” การสร้างกรอบที่เรียกว่า “สิริ” ก็คือ กรอบของศีลธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเอง วิธีปฏิบัติเพื่อให้ตนเองเกิดสิรินั้นนอกจากปฏิบัติตามศีลธรรม 5 ข้ออย่างเคร่งครัดแล้ว ยังต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในมงคลสูตร ที่พระพุทธองค์ทางบัญญัติไว้ด้วย เช่น “อเสวะ นา จะ พาลานัง” การไม่คบคนพาล จัดเป็นมงคลอุดม หลักการปฏิบัติเกี่ยวกับมนต์คาถาจะเน้นสอนให้ผู้นับถือพึงปฏิบัติเรื่องสัจจะวาจาและการด่าทอ โดยเชื่อว่า ผู้ที่พูดจาปดเท็จหยาบคาย ส่อเสียดกล่าวล่วงบุพการีจะทำให้อาคมที่อยู่ในตัวนั้นเสื่อมถอย

อีกประการหนึ่ง คือ การนำข้อธรรมในพระอภิธรรมบางประการมาสอนกับผู้ศึกษาลัทธิคาถาอาคม โดยใช้ความสนใจในเรื่องของคาถาอาคมเป็นกุญแจตัวแปรสำคัญในการเน้นสอนหลักธรรม เช่น พระปริตรต่าง ๆ ที่ใช้สวดกันทั่วไปทั้งบรรพชิตและฆราวาส หรือการย่อ คำเพื่อให้เกิดการจดจำง่าย เช่น คาถาหัวใจวิภัตติ 14 ที่ว่า สิ โย อัง โย นา หิ สะ นัง สะมา หิ สะ นัง สะมิง สุ เป็นมนต์คาถาที่เชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่สวดภาวนานั้นต้องเข้าใจถึงที่มาของคาถาเหล่านี้ จึงจะใช้คาถานี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ นับเป็นจิตวิทยาอีกประการหนึ่ง เพื่อช่วยในการจดจำสิ่งต่าง ๆ และเป็นการชักจูงให้เข้ามาศึกษาพุทธปรัชญาเถรวาทโดยไม่รู้ตัว เพราะที่มาของมนต์คาถาหัวใจวิภัตติ 14 ก็คือ การศึกษาภาษาบาลี ที่อยู่ในหัวข้อการแจกวิภัตติของนาม (การกำหนดลิงค์และวจนะของนามศัพท์ มี 14 ตัว แบ่งเป็น เอก. 7 พหุ. 7)

นอกจากนี้ คาถายังเป็นสื่อแสดงถึงการรวมพลัง รวมจิตใจในการสรรค์สร้างสังคมของตนเองให้เป็นสังคมในอุดมทัศนคติที่ดี ที่อยู่ในกรอบของศีลธรรมทางศาสนา ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่า คาถาอาคมนั้นมีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างพฤติกรรมของคน ๆ หนึ่ง และเชื่อมโยงไปถึงคนอื่น ๆ เช่น บางครั้งพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ก็มีพลังอำนาจผลักดัน ให้เกิดเหตุการณ์ที่เหลือวิสัยที่จะควบคุมได้ และมีผลต่อตนเองและคนอื่น ๆ อีกหลายคน อย่างกรณีความประพฤติของอาจารย์ที่มีลูกศิษย์เคารพนับถือ หากอาจารย์เป็นผู้มีกรอบของศีลธรรมอันดีงาม ก็ย่อมเป็นแบบอย่างให้ศิษย์คนอื่น ๆ ยินยอมที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจเมื่อพิจารณาจากคาถาที่เป็นกุญแจในการน้อมนำเข้าสู่หลักศาสนาแล้ว อาจจะมีคติหรือแง่คิดอย่างหนึ่งอย่างใดสอดแทรกไว้ อาจจะเป็นเนื้อความในคาถาหรือเป็นคติคำสอนระหว่างบรรทัด ซึ่งคาถาแต่ละบทจะให้แง่คิดไม่เหมือนกัน กรณีที่ผู้ศึกษาอย่างผิวเผิน จะตำหนิในตัวบทคาถาได้ว่า เป็นการกระทำที่ส่งเสริมให้คนผิดศีลธรรมไม่ส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม หรือเป็นการสอนให้คนหลงผิดออกนอกศาสนามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาและติดตามอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่า ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในศีลธรรมก็จะต้องประสบความทุกข์ยาก ความล้มเหลว จากการกระทำของตนเองโดยอาจสร้างคติความเชื่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องของการผิดคำมั่นสัจจะที่ให้ไว้ก่อนการศึกษาคาถาอาคม หรือการนำคาถาอาคมไปใช้ในวิถีทางที่ผิดศีลธรรม ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรืออาจจะอ้างว่าเป็นเพราะกรรมของแต่ละคนก็ล้วนสามารถสร้างให้ผู้นั้นเกิดทัศนะคติมุมมองที่แตกต่างจากเดิมได้

การศึกษาคาถาแม้มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมแต่ก็ใช้อิทธิพลที่มีอยู่ไปเสริมสร้างให้คนในสังคมปฏิบัติตามหลักการของพุทธปรัชญาเถรวาท โดยการสร้างให้เป็นปริศนาธรรมสอนใจให้อยู่ในศีลธรรมนั้นเอง ส่งผลให้คนเหล่านี้เป็นคนดีมีศีลธรรมประจำใจแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงถือได้ว่า นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์ตามแนวพระจริยวัตรของพระพุทธองค์อิทธิพลความเชื่อที่ส่งผลดีต่อสังคม ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ก็คือ ทางด้านจิตใจเนื่องจากผู้ที่เชื่อก็จะเกิดความสบายใจ ได้รับความอบอุ่นใจเป็นการคลายทุกข์ทางจิตใจได้แม้ชั่วขณะหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็ช่วยให้ผู้ที่เชื่อเกิดกำลังใจ คลายความทุกข์ แม้จะไม่ตลอดไป อย่างน้อย ๆ ก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้ที่มีความเชื่อ หากได้ปฏิบัติตามประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อนั้น ๆ ก็จะเกิดความมั่นใจเกิดความเชื่อมั่นในตนเองเสมือนหนึ่งมีหลักทางจิตใจสำหรับยึดถือ ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่นี้ จะมีความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นิส่งที่มีฤทธิ์อำนาจ สามารถดลบันดาลให้ผู้ปฏิบัติได้รับสิ่งที่พึงประสงค์ และแคล้วคลาดจากสิ่งไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีบุคลิกภาพอ่อนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ก็จะบังเกิดความมั่นใจ เกิดความเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น การปฏิบัติตามความเชื่อดังกล่าว เช่น การแขวงเครื่องรางของขลัง การบริกรรมคาถา การสักรูปรอยบนผิวหนังการเคี้ยวว่านยา การดูฤกษ์ยาม เป็นต้น

ทรรศนะดังกล่าวนี้ ส่งผลอิทธิพลด้านมนต์คาถาส่งผลต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และกิจการงานที่ทำอยู่ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งถือเป็นความเชื่อทุกคนจะต้องปฏิบัติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะให้ดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับการกระทำเป็นสำคัญมากกว่าจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุปัจจัยก็หาไม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *