อิทธิพลของมนต์คาถาที่ส่งผลกระทบ

การกระทำใดที่บั่นทอนสังคมให้เกิดความหลงผิดมากยิ่งขึ้น หากไม่มีการศึกษาเรื่องมนต์คาถาที่ดีพอ มนต์คาถาก็อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงแก่ผู้นำมนต์คาถาไปใช้ หากการใช้มนต์คาถานั้นผิดจากหลักของพุทธปรัชญาเถรวาท ดังบทความที่ท่านพระเดชพระคุณท่านพระพรหมคุณากรณ์ ท่านแสดงทัศนะต่อไว้ในหนังสือ เรื่องเหนือสามัญวิสัยอิทธิปาฏิหาริย์เทวดาไว้ว่า “ผู้ใดนำเอาของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งลึกลับต่าง ๆ มาใช้ในการเกี่ยวข้องกับประชาชน โดยมิได้นำประชาชนไปสู่ความรู้ความเข้าใจในธรรม มิได้ต่อท้ายของขลังเป็นต้นนั้นด้วยการแนะนำสั่งสอนให้เกิดปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความจริง ความดีงามที่ควรรู้ และควรประพฤติปฏิบัติเพื่อช่วยนำเขาให้ค่อย ๆ ก้าวพ้นเป็นอิสระออกไปได้จากของขลังศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น พึงถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติผิดและนำประชาชนไปในทางที่ผิด” ทัศนะที่ท่านได้แสดงไว้นั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หากนำความเชื่อที่มีอยู่มาเป็นอิทธิพลในการน้อมนำให้คนเข้าใจหลักการของพุทธปรัชญาเถรวาท ก็ย่อมได้ หรือชักจูงให้เกิดความหลงผิดก็ทำได้เช่นเดียวกัน จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้ถูกต้องเหมาะสมกับความเป็นจริง ดังนั้น ความเชื่อเรื่องมนต์คาถาจึงเป็นเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งสิ่งดีงาม และสิ่งที่เกิดโทษ การเรียนรู้ต้องใช้วิจารณญาณและคุณธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มิให้เกิดการกระทำที่ใฝ่ต่ำจนเกิดโทษต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อเป็นสิ่งบังคับไม่ให้ผู้นั้นำศาสตร์เหล่านี้ไปใช้ในวิถีทางที่ผิดจากศีลธรรม

แม้ว่า ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความคิด จนนำไปสู่การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การศึกษามนต์คาถาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ทั้งความเชื่อเรื่องมนต์คาถาที่ตนเองสนใจ และหลักการทางพุทธปรัชญาเถรวาท เพื่อไม่ให้ตนเองนั้นหลงทางจากวิถีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม เพราะทุกสิ่งนั้นมักมีสองด้านเสมอ คือ มีทั้งคุณประโยชน์และโทษมหันต์หากเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน กรณีความเชื่อเรื่องมนต์คาถาก็เช่นเดียวกัน มีทั้งความสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีงามในสังคม ทั้งทางด้านจารีตประเพณีอันดีงามความงดงามทางด้านศิลป์ภาษา วรรณกรรม และการปฏิบัติตนในสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่ในทางกลับกัน ก็อาจส่งผลเสียให้คนเกิดความหลงผิดจนนำไปสู่การปฏิบัติตนที่ผิดจากความมุ่งหมายเดิมได้

หากกล่าวถึงธรรมชาติวิสัยของมนุษย์เรานี้ ย่อมมีธรรมชาติหลายชนิดทั้งดีและชั่วปะปนกันความเป็นธรรมดาปกติของจิตมนุษย์ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางครั้งตั้งมั่นในสมาธิได้ แต่ถ้าหากเกิดความรักใคร่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา (กามฉันทะ) จิตที่ตั้งมั่นในสมาธิก็เสื่อมสลายไป ถ้าหากเกิดความง่วงเหงาท้อแท้หดหู่ (ถีนะมิทธะ) สุดท้ายก็จะมีเรื่องให้เกิดมากไปมีมากไป ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ (อุทัจจะกุกกุจจะ) ขึ้นมาก็กลับเป็นเรื่องบั่นทอนความสุขนั้นเสีย และถ้าไม่ได้มาในสิ่งปรารถนา กลับไปมองความสุขของคนอื่นที่ได้ดีมากกว่าตนเองกลับมีจิตมุ่งร้าย (พยาบาท) ดังนั้น จึงต้องใช้สติ สมาธิในการระงับและตัดความลังเลสงสัย ความเคลือบแคลงใจ (วิจิกิจฉา) นั้นให้หมดสิ้นไปเสีย แต่ถ้าหากผู้ใดไม่สามารถน้อมนำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องพยุงจิตใจได้แล้ว ก็จะทำให้ผู้นั้นเกิดความเสื่อมโทรมในจิตใจของผู้นั้นเองและนำไปสู่นิวรณ์ 5 อันเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสให้ละเว้นเสีย กลุ่มผู้นับถือมนต์คาถาก็เฉกเช่นเดียวกัน มีทั้งผู้ที่มีจิตใจดี และจิตใจคดโกงทุศีลเมื่อมีสุข สมปรารถนาก็ย่อมอยากได้สุขสมปรารถนานั้นเสมอไป และพยายามทุกวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งสุข ความสมปรารถนานั้น โดยที่ไม่สนใจศีลธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเกิดการสร้างกระแสจิตด้วยองค์สมาธิ แล้วใช้มนต์คาถาบริกรรมภาวนาไปเพื่อให้ได้ผลมาตามที่ตนเองต้องการ ในมนต์คาถาที่ใช้ในการกระทำย่ำยีกันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประการด้วยกัน คือ (1) กระทำโดยตรงถึงตัว (2) กระทำโดยมโนคติ

ประการแรกกระทำกันโดยตรงตัวต่อตัว ก็จำแนกออกไปอีกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะใกล้และระยะห่าง ระยะใกล้นั้นก็ได้แก่ ใช้ผงที่ประกอบขึ้นด้วยอำนาจมนต์คาถา เช่น องอิธะเจผงมหาราช ผงปถมัง ฯลฯ เหล่านี้ลอบใส่ลงในของกิน เช่น อาหารหรือน้ำ แล้วใช้มนต์คาถาเสกกำกับให้กินเข้าไป บางครั้งก็ใช้น้ำมันพราย ที่ไปลนมาจากศพ เศษชิ้นส่วนศพ เช่น ผม เนื้อ หนัง กระดูก เป็นต้น โดยเลือกว่า ผีที่ดุที่เรียกว่า ผีตายท้องกลม อ้างว่า มีอานุภาพแรงดี เป็นการแน่นอนว่า สิ่งของเหล่านี้เป็นของไม่สะอาด เมื่อใครกินเข้าไปก็ย่อมเกิดโรคภัยตามมา ประกอบกับแรงมนต์คาถาที่ผู้นั้นบริกรรมผูกสมทบเข้าไปอีก ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้โรคกำเริบเร็วขึ้น หรือให้เกิดผลตามที่ต้องการเร็วขึ้น วิธีการอย่างนี้เรียกว่า ยาแฝด ให้มาหลงรัก หรือการกระทำอาถรรพ์ทำร้ายกันให้เจ็บไข้หรือตาย ถือว่า เป็นภัยร้ายต่อสังคม ที่ผู้ร่ำเรียนมนต์คาถาแล้วนำไปใช้ในทางที่ผิด แทนที่ผู้ศึกษามนต์คาถาจะถูกชักจูงน้อมนำเข้าสู่หลักธรรมศีลธรรมทางศาสนา แต่กลับเป็นการตอกย้ำ ซ้ำเติมให้ผู้นั้นห่างไกลศีลธรรมมากยิ่งขึ้นไป มนต์คาถาจึงเป็นเสมือนดาบสองคมที่จะใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว หรือเป็นอาวุธที่ใช้ประหัตประหาร (ตนเอง) ความหลงผิดนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายประเด็น เช่น มนุษย์นั้นก็ยังคงความเป็นปุถุชน ดังนั้น ปุถุชนผู้มีฤทธิ์อาจจะเกิดความเมาฤทธิ์ ในลักษณะต่าง ๆ เช่น เกิดมานะว่า เราทำได้ในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้อย่างเรา หรืออาจเกิดความหลงใหลมัวเมาในลาภสักการะที่เกิดจากฤทธิ์นั้น นำฤทธิ์ไปใช้เพื่อก่อความชั่วความเสียหาย อย่างพระเทวทัต เป็นต้น

อีกประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้นับถือมนต์คาถาในการทำให้ไม่เกิดผลดี หรือมีผลทางลบมากกว่าผลทางบวกอย่างมากนั้นก็คือ การหลงติดใจเพลิดเพลินอยู่ในฤทธิ์นั้น ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ไม่อาจชำระกิเลสทำจิตใจให้บริสุทธิ์ได้ และเพราะฤทธิ์ของปุถุชนเป็นของเสื่อมได้ แม้แต่ความห่วงกังวลมัวยุ่งกับการรักษาฤทธิ์ ก็กลายเป็นปลิโพธ คือ อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถใช้ปัญญาพินิจพิจารณาตามวิธีของวิปัสสนาอย่างได้ผลดี ท่านจึงตัดเอาฤทธิ์เป็นปลิโพธอย่างหนึ่งของวิปัสสนา (เรียกว่า อิทธิปลิโพธ) ซึ่งผู้จะฝึกอบรมปัญญาพึงตัดเสียให้ได้

อิทธิพลของมนต์คาถาที่ส่งผลกระทบโดยอ้อม กล่าวคือ ความเชื่อเกี่ยวกับมนต์คาถาหรือการสวดมนต์นั้นเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของสังคมไทย และเพื่อความเป็นสิริมงคลทำให้ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีด้วยการใช้มนต์คาถาในการดำเนินชีวิตอาจจะส่งผลต่อตนเองและผู้อื่น บุคคลใกล้ตัวหรือไกลตัว รวมถึงได้อุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลที่ตนได้กระทำนั้นไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ เพราะความเชื่อเรื่องคาถายังส่งผลให้เกิดความสุขกายและใจได้อีกต่างหาก เนื่องจาก สภาพปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เมื่อบุคคลได้บริกรรมคาถาที่เป็นตามพระรัตนตรัย คือ คาถาที่ถูกต้องก็อาจจะส่งผลดีต่ออนาคตของบุคคลผู้ได้กระทำนั้น

ในทรรศนะดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลใดที่มาหาคนที่มีฤทธิ์จากมนต์คาถาก็อาจตกเป็นเหยื่อหรือถูกหลอกลวงให้หลงผิดก็เป็นได้ ซึ่งการหลอกลวงนี้ อาจอ้างเอาฤทธิ์มาหลอกลวงเพื่อหวังแสวงหาลาภสักการะ ดังนั้น จึงควรยึดถือเป็นหลักไว้ทีเดียวว่า การใช้อิทธิปาฏิหาริย์จะต้องมีอนุสาสนีปาฏิหาริย์ตามมาด้วย ถ้าผู้ใดอ้างหรือใช้อิทธิปาฏิหาริย์โดยมิใช่เป็นเพียงบันไดที่จะนำไปสู่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ พึงถือไว้ก่อนว่า ผู้นั้นปฏิบัติผิดในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เขาอาจมีอกุศลเจตนาหลอกลวง มุ่งแสวงหาลาภสักการะ หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้มัวเมาหลงใหลเข้าใจผิดในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นั้น ผลเสียของความเชื่อนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไปจากหลักการของศาสนาได้ เช่น ผู้เป็นเจ้าพิธี หรือผู้ที่สั่งสอนถ่ายทอดความเชื่อมีความเข้าใจผิด ๆ ในหลักการของพุทธปรัชญาเถรวาท ก็จะทำให้ผู้นั้นได้รับข้อมูลที่ผิด ๆ ตามไปด้วย หรือเกิดผลเสียทางด้านอื่น ๆ เช่น ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติตามหลักสัทธรรมทางพุทธปรัชญาเถรวาท หรือเสียเวลาในการประกอบสัมมาอาชีพ ซึ่งต้องมานั่งหมกมุ่นอยู่กับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้

นอกจากนี้ ยังทำให้เสียเงินทอง ทรัพย์สิน เพราะบางครั้งอาจไปเจอกับผู้ไม่ประสงค์ที่เป็นมิจฉาชีพ หลอกลวงเอาเงิน หรือต้องจ่ายเงินเพื่อพิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่จำนวนเงินเล็กน้อยจนถึงจำนวนพัน จำนวนหมื่น เงินที่ต้องใช้เพื่อซื้อวัสดุสิ่งของเครื่องสังเวย เครื่องบนบานศาลกล่าว รวมไปถึงเงินที่ต้องใช้เป็นค่าจ้างแก่เจ้าพิธีจะมากบ้างน้องบ้าง ย่อมแล้วแต่ความเล็กหรือความใหญ่โตของพิธีการ การศึกษาความเชื่อเรื่องมนต์คาถา หากทำการศึกษาโดยไม่อิงจากหลักการทางพุทธปรัชญาเถรวาท แล้วอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงซึ่งจะส่งผลกระทบนั้นคือ เป็นการสร้างความงมงายให้กับผู้เชื่อถือ และอาจนำไปสู่การหลงผิดในการดำเนินชีวิตก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลโดยตรง กล่าวคือ ความสุขกาย สุขใจ และทางอ้อม คือ ส่งผลต่อตัวเองในอนาคต ทำให้ชีวิตได้รับความรุ่งเรือง เรื่องโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูน บริวารมากมาย และทำให้เป็นที่รักของบุคคลอื่น เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *