อภิธานศัพท์ “คนข้ามเพศ” และ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

เนื่องด้วยแต่ละชุมชนท้องถิ่นมีแนวคิดและการนิยามตนเองแตกต่างกันไป ในบทความนี้ได้นำนิยามศัพท์จากโครงการการศึกษาการเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศประสบการณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศในประเทศ ได้อธิบายถึงศัพท์สองคำ อันได้แก่ “คนข้ามเพศ” (trans people) และ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” (gender – diverse people’) ในบทเดียวกัน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้ศัพท์ทั้งสองคำนี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก เนื่องจาก ศัพท์ทั้งสองเกิดจากวาทกรรมทางตะวันตก ที่ซึ่งยอมรับแนวคิดแบบสองเพศเป็นบรรทัดฐาน

และในบริบทของโครงการวิจัยการเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (TvT) มองว่า “คนข้ามเพศ” และ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” หมายรวมถึง ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด และผู้ที่ต้องการแสดงออกถึงเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด โดยในบุคคลเหล่านี้จะมีกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า จำต้องหรือเลือกที่จะแสดงออกในลักษณะที่ขัดแย้งกับความคาดหวังที่สังคมมีบทบาททางเพศโดยกำเนิด ไม่ว่าจะด้วยการแสดงออกถึงความแตกต่างนี้ผ่านภาษา การแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หรือการดัดแปลงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ผ่านการผ่าตัดข้ามเพศ (transsexual) คนข้ามเพศ (transgender people) ชายข้ามเพศ (trans men) หญิงข้ามเพศ (trans women) ผู้แต่งกายข้ามอัตลักษณ์ทางเพศ (transvestilies) ผู้ที่ชอบแต่งกายข้ามเพศ (cross – dressers) ผู้ที่ระบุว่าตนไม่มีเพศภาวะ (no – gender) ผู้มีภาวะเพศคลุมเครือ (liminal – gender) ผู้ที่มีเพศสภาวะมากกว่าหนึ่งอย่าง (multigender) และผู้ที่ไม่นิยามตัวตนตามเพศสภาวะตามจารีต (genderqueer people) รวมไปถึงผู้มีภาวะเพศกำกวม (intersex) ซึ่งเกี่ยวข้องหรือนิยามตนเองตรงกับกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผู้ที่ถูกนิยามโดยชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมือง หรือหน่วยวัฒนธรรมย่อย เช่น Leitis ในตองกาและเกี่ยวข้องกับนิยามของ “คนข้ามเพศ” หรือ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผู้ที่อยู่ในสังคมที่ยอมรับมากกว่าสองเพศ แต่เติบโตขึ้นมาในเพศสภาวะที่แตกต่างจากเพศชายหรือเพศหญิง และนิยามตนเองว่า เป็น “คนข้ามเพศ” หรือ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในบริบทสากล

ทั้งนี้ “การเกลียดกลัวคนข้ามเพศ” และ “การเคารพคนข้ามเพศ” เป็นนิยามที่ใช้นำในโครงการนี้โดยทั้งสองคำครอบคลุมตั้งแต่ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และทัศนคติในทางลบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและคนข้ามเพศไปจนถึงการรับรองสิทธิ การยอมรับและการให้ความเคารพ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงประเด็นทั้งสองเพื่อที่จะพัฒนาระบบในการวิเคราะห์และการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ด้านสิทธิของคนข้ามเพศที่นำไปใช้ได้จริง และเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและความหมายเฉพาะ

นิยาม “ความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ” เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ ความเกลียดชัง การรังเกียจ พฤติกรรมที่ก้าวร้าว และทัศนคติในทางลบที่มีต่อบุคคลหรือกลุ่มคนที่ฝ่าฝืน หรือไม่ประพฤติตามความคาดหวังและบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อเพศสภาวะ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติ การลงโทษทางกฎหมาย การนิยามการข้ามเพศว่า มีความผิดปกติในทางการแพทย์ และการตีตราและการประจานในเชิงสถาบันในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้ความรุนแรงทางร่างกาย คำพูดแสดงความเกลียดชัง การเหยียดหยาม และการใช้สื่อที่สร้างความเกลียดชังเพื่อกดดันและกีดกันทางสังคม ความเกลียกลัวคนข้ามเพศส่งผลกระทบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและคนข้ามเพศเป็นพิเศษ โดยถูกนำไปใช้กับรูปแบบทางอำนาจและความรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อผูกมัดอันเกิดจากการเรียนรู้ นิยามนี้ถูกนำไปใช้ในทางสังคมศาสตร์เพื่อกำหนดปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความซับซ้อน ดังนั้น จึงมีความหมายที่กว้างกว่านิยามของคำว่า “ความเกลียดกลัว” ซึ่งในทางจิตวิทยา หมายถึง อาการตอบสนองต่อความหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งของแต่ละบุคคล

สำหรับนิยาม คำว่า “การเคารพคนข้ามเพศ” ในบริบทของโครงการวิจัยการเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (TvT) นั้น ไม่ได้หมายเพียงถึงการปราศจากความเกลียดกลัวคนข้ามเพศในทุกรูปแบบเท่านั้น แต่หมายถึง การแสดงออกถึงการให้ความเคารพและให้การยอมรับในเชิงบวกต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและคนข้ามเพศ ซึ่งหมายรวมถึงการยอมรับเอกลักษณ์หรือแนวทางบางอย่างที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้สรรค์สร้างสังคม การเคารพคนข้ามเพศนั้น หมายถึง การรับรู้ถึงประโยชน์ทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดจากความหลากหลายทางเพศโดยแสดงออกได้ทั้งจากพฤติกรรมของบุคคล และในการผลิตซ้ำ เปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์ฐานทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงบทบาทเชิงสถาบัน วัฒนธรรมสังคมและศาสนา การเคารพคนข้ามเพศสร้างประโยชน์ให้ไม่เพียงต่อบุคคลหรือคนส่วนน้อยเท่านั้น แต่ยังรังสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมโดยส่วนรวมด้วยเช่นกัน[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ การเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศประสบการณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศในประเทศไทย เรียบเรียงโดย รัตนวัฒน์ จันทร์อำนวยสุข และ Carsten Balzer/Carla LaGata

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *