ตนไร้รากเหง้ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ว่า “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) มีพื้นฐานมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights – UDHR) ที่ผู้แทนของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) ให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลให้บังคับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) โดยร่วมลงนามในการประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2551 ซึ่งทุกฉบับที่กล่าวมาแล้วนี้บัญญัติไว้ในทำนองที่สรุปได้ว่า “มนุษย์ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด เด็กทุกคนต้องได้รับการจดทะเบียนทันทีภายหลังการเกิดและต้องมีชื่อ มีสิทธิในการถือสัญชาติ ไม่ว่าบุคคลในสภาพปกติ หรือพิการ เด็กจะต้องไม่ถูกทิ้ง และต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

แม้ว่า จะมีหลักการตามที่กล่าวแล้ว และรัฐภาคีได้นำมาอนุวัติเป็นกฎหมายภายในประเทศ โดยใช้แนวทางของพันธกรณีระหว่างประเทศดีเพียงใด ก็ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งที่ตั้งใจ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยเหตุปัจจัยนานาประการ หากเกิดกับบุคคลที่มีอายุ มีความสามารถเลี้ยงชีพได้ ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดกับเด็กที่เพิ่งคลอด เด็กทารก หรือเด็กที่ไร้เดียงสา อายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ ซึ่งอาจจะไม่ปรากฎผู้ให้กำเนิด หรือมารดา บิดามีเหตุต้องเสียชีวิต และไม่มีญาติที่จะสืบสายหาใครได้เลย ซึ่งมีทั้งเด็กปกติ และเด็กพิการ หรือต่อมา เป็นเด็กเร่ร่อน โดยที่เจ้าตัวไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเอง จำอะไรไม่ได้ หรือไม่มีใครเลี้ยงดู บุคคลที่กล่าวมาแล้วนี้ บางรายที่โชคดีมีการแจ้งการเกิด มีชื่อในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือมีสูติบัตร แต่จากประสบการณ์การทำงาน พบว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งการเกิด หรือมีการแจ้งการเกิดแต่ถูกกำหนดว่า “ไม่ได้สัญชาติไทย” ใครที่มีเอสการแสดงการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็พ้นสภาพความเป็นคนไร้รัฐ แต่อยู่ในสภาพคนไร้สัญชาติ ที่บางรายอาจจะเป็น “คนไร้รากเหง้า” ที่เป็นคนไร้สัญชาติ และไม่สามารถหา หรือรวบรวมพยานหลักฐานได้ว่า มารดา บิดา ของตนเป็นใคร มีพยานยืนยันสถานที่เกิดที่ใด หรือแม้แต่วัน เดือน ปี เวลาเกิด ก็ไม่ทราบ บุคคลในลักษณะนี้ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะต่าง ๆ ขาดโอกาส และสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับอย่างเสมอภาคกับเพื่อนร่วมสังคม เพียงเพราะตนเป็นบุคคลไร้รากเหง้า แล้วไร้สัญชาติ และอาจจะไร้รัฐ ทำให้ไร้ที่พึ่งไปด้วย บางรายมีโอกาสได้เข้าอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือเอกชน หรือมีครอบครัวอุปการะ บางรายอยู่ในร่มเงาของศาสนา ก็จะมีโอกาสได้รับการศึกษา หรือมีความเป็นอยู่ที่ดี อย่างไรก็ตาม สถานสงเคราะห์ หรือผู้มีจิตเมตตาก็ไม่ได้มีจำนวนมากพอแก่การให้ความช่วยเหลือ บุคคล “ไร้” สถานะดังกล่าวข้างต้น จึงตกที่นั่งลำบาก

จากข้อจำกัดทั้งมวล จึงจำเป็นมีการตรากฎหมายออกมาช่วยเหลือ เป็นเหตุให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ….. เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ต่อมา “พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562” ซึ่งได้มีการประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562 เล่มที่ 136 ตอนที่ 49ก โดยมีบัญญัติในมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19/2 และในมาตรา 19/3 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ปีพ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน สรุปใจความสำคัญได้ว่า “บุคคลที่ไม่ทราบว่า มารดา บิดาเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือบิด มารดเสียชีวิตแต่วัยเยาว์ ไม่มีญาติที่จะสืบหาเชื้อสายของตนได้ อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี มีบุคคลยืนยัน หรือหน่วยงานของรัฐที่ให้การสงเคราะห์หรือเป็นบุคคลวิกลจริตที่มีแพทย์แผนปัจจุบันออกใบรับรอง มีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยได้ และเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องมีสถานะถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย”

หลังจากกฎหมายฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ กระบวนการออกกฎหมายลำดับรอง โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามเป็นลำดับ เช่น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุณสมบัติอื่นของผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 19/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 126 ง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562) และต่อมา อธิบดีกรมการปกครองในฐานะผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้ออกประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมีสัญชาติไทย และการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 19/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งไปยังนายทะเบียนอำเภอ และนายทะเบียนท้องถิ่นตามหนังสือ สำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309/ว 232 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2562

เมื่อพิเคราะห์ถึงผลที่ “ตนไร้รากเหง้า” จะได้รับสิทธิในการขอมีสัญชาติไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่แก้ไขใหม่ฉบับที่ 3 โดยไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เริ่มต้นที่คุณสมบัติของตนไร้เหง้าที่ต้องมีพยานหลักฐานยืนยันว่า ไม่ปรากฏผู้ให้กำเนิด หรือมารดา บิดามีเหตุต้องเสียชีวิต แลไม่มีญาติที่จะสืบสายหาใครได้เลย มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง 10 ปีขึ้นไป มีความประพฤติดีโดยต้องมีชื่อ และรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรมีหนังสือรับรองความเป็น “ตนไร้รากเหง้า” ที่ออกโดยนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขต หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะเป็นสถานสงเคราะห์ หากเป็นบุคคลวิกลจริตให้ใช้ใบรับรองแพทย์แทน สำหรับเด็ก และบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถให้ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลตามคำสั่งศาลเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยไม่ต้องไปสืบเสาะหา เนื่องจาก ไม่มีแหล่งสืบค้นหรือบุคคลใด ๆ จะมาเป็นพยานยืนยันได้

กระบวนการที่กำหนดไว้ เริ่มที่สำนักทะเบียน ณ แหล่งที่มีภูมิลำเนาทางทะเบียน เมื่อบุคลากรทางทะเบียนรับคำร้องพร้อมพยานหลักฐานดังที่กล่าวแล้ว มีเวลาพิจารณาไม่เกิน 45 วันให้ส่งนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตในฐานะนายทะเบียน พิจารณาส่งให้นายทะเบียนจังหวัด / นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดเวลาในชั้นนี้ไว้ 15 วันที่ส่งไปยังสำนักทะเบียนกลาง โดยในส่วนการพิจารณาของสำนักทะเบียนกลาง ที่กรมการปกครอง และผู้ใช้อำนาจตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่า หลังจากยื่นคำร้องแล้วน่าจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่น่าจะเกิน 6 เดือน เนื่องจาก ต้องอยู่ในกระบวนการตามมาตรา 39/1 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 บัญญัติไว้สรุปได้ว่า “หากมีพยานหลักฐานที่ครบถ้วนแล้ว ผู้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครอง มีเวลาไม่เกิน 30 วัน หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปต้องรับผิดชอบ”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แก้ไขฉบับที่ 3 นี้จะยังประโยชน์ให้กับตนไร้รากเหง้าจำนวนหลายแสนคน เช่น เด็ก หรืออดีตเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ บุคคลวิกลจริต คนพิการที่ซ้ำซ้อนด้วยวิกลจริต คนไร้ที่พึ่ง บุคคลที่ป่วยอยู่ในสถานพยาบาลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของตนเองได้ ฯลฯ จะได้รับการกำหนดสถานะบุคคล ที่มีเป้าหมายปลายทาง คือ มีเอกสารแสดงตน มีชื่อ และรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน/ทะเบียนปฏิวัติ และ “มี/ได้สัญชาติไทย” ในที่สุด

กฎหมายและการปฏิบัติการตามกฎหมาย จะต้องได้รับความร่วมมือ เอาใจใส่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อคืนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับ “ตนไร้รากเหง้า” และบุคคลด้อยโอกาสที่มีสถานะเดียวกัน อันจะได้ช่วยสานต่อการรณรงค์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในการขจัดความเป็นคนไร้รัฐให้หมดไปใน พ.ศ. 2567 (Global Action Plan to End Statelessness by 2024) เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีชีวิตอยู่อย่างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับโอกาสความเสมอภาคเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมสังคม นี่คือ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขอย่างยั่งยืน[1]


[1] ขอบคุณที่มาบทความ ตนไร้รากเหง้ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมานะ งามเนตร์ จากจดหมายข่าวมุมมองสิทธิ์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6 จาก https://www.tiwang.go.th/fileupload/63492june06.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *