องค์ประกอบทางด้านประชากร

วิธีการที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ผู้รับสารที่ประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก ในกรณีของการสื่อสารในกลุ่มใหญ่และการสื่อสารมวลชน ก็คือ การจำแนกผู้รับสารออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะของประชากร (Demographic Characteristics) เช่น จำแนกตามอายุ เพศ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น โดยมีสมมติฐานว่า ผู้รับสารมีลักษณะดังกล่าวร่วมกันย่อมจะมีทัศนคติ และพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน โดยปราณปริยา นพคุณ[i] (2561) กล่าวว่า ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ หมายถึง โครงสร้างของข้อมูล และลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ได้แก่ เชื้อชาติ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพทางสังคม ศาสนา เป็นต้น ซึ่งทุกปัจจัยล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานและมีผลต่อบุคคล แต่ละบุคคลจะมีลักษณะประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกัน

  1. เพศ (Sex) ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้รับสารตามทฤษฎีประชากรศาสตร์ นักวิจัยยังให้ความสนใจกับความแตกต่างของพฤติกรรมการเปิดรับสารระหว่างเพศหญิง และเพศชายด้วย แม้ว่าจะไม่พบความแตกต่างที่เด่นชัดมากเท่าอายุและการศึกษา แต่ก็มีความแตกต่างอยู่บ้านระหว่างเพศหญิง และเพศชายในการเปิดรับสื่อสารมวลชน ตัวอย่างเช่น เพศหญิงใช้เวลาดูโทรทัศน์ และฟังวิทยุมากกว่าเพศชาย ในขณะที่เพศชายนิยมอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่า เป็นต้น ดังนั้น เพศของผู้รับสารเป็นตัวแปรหนึ่งที่เราสามารถใช้วิเคราะห์ผู้รับสาร เพศต่างกันมีการรับสื่อสารมวลชน และประเภทข่าวสารที่ต่างกัน เพศของผู้รับสารจึงมีอิทธิพลต่อการเปิดรับข่าวสาร ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ในการศึกษานี้จึงคำนึงถึงตัวแปร “เพศ” ของผู้รับสารด้วย
  2. อายุ (Age) อายุของผู้รับสารเป็นลักษณะประการหนึ่ง ที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์ผู้รับสาร อายุทำให้คนมีความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นและพฤติกรรม อายุต่างกันทำให้เลือกรับเนื้อหาของสารเลือกใช้สื่อ การจูงใจและมีความยากง่ายต่อการให้บรรลุวัตถุประสงค์การสื่อสารต่างกัน อายุของผู้รับสารจะมีอิทธิพลกับการสื่อสารไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจออกมาในรูปของความสนใจ ความเชื่อ หรือพฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้รับสาร ดังนั้น อายุของผู้รับสารเป็นตัวแปรหนึ่งที่เราสามารถใช้วิเคราะห์ผู้รับสาร โดยคนที่มีวัยต่างกัน มีความต้องการในสิ่งต่าง ๆ ที่ต่างกัน มีการรับสื่อสารมวลชน และสนใจข่าวสารที่ต่างกัน อายุของผู้รับสารจึงมีอิทธิพลกับการเปิดรับข่าวสาร ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้
  3. การศึกษา (Education) นอกจากนี้ ผู้ที่มีการศึกษาระดับหนึ่งอาจจะมีบทบาทหน้าที่ในการทำงานน้อยกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่าที่มีบทบาทหน้าที่มากกว่า จึงทำให้เลือกรับสื่อที่แตกต่างกัน การสื่อสารจึงมีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับตัวแปรซึ่งเกี่ยวกับการรับสาร และอายุกับการศึกษาบวกกัน จะสามารถอธิบายความแตกต่างกันของพฤติกรรมการสื่อสารได้ พฤติกรรมการเปิดรับสารในลักษณะนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยการจัดสรรเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้รับสารเอง บุคคลที่มีการศึกษาสูงมักมีการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลา นอกเวลางานประกอบไปด้วย เช่น ไปประชุม เข้าสังคม กล่าวคือ เมื่อคนที่มีการศึกษาในระดับสูง ต้องการจะจัดสรรเวลาในการเปิดรับสื่อให้เหมาะสมจึงให้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า กล่าวโดยสรุป “การศึกษา” เป็นตัวแปรหนึ่งทำสำคัญ จะต้องตระหนักและเรียนรู้ให้ดีก่อนทำการสื่อสาร เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะว่าการสื่อสารมีหลายระดับ คนที่ได้รับการศึกษาในระดับที่ต่างกัน ย่อมจะได้ผลทางทักษะการสื่อสาร ความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ความต้องการและพฤติกรรมการสื่อสารที่ต่างกันไป
  4. สภาพสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Status) ทุกองค์กรหรือทุกหน่วยสังคม มีวัฒนธรรม หรือบรรทัดฐาน บทบาท ศักดิ์ศรี หรือความนิยมนับถือ ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ทัศนคติ ความรู้ และพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมในที่นี้รวมถึงรายได้และอาชีพเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เช่น คนที่มีฐานะดี หรือรายได้สูง มักจะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสมัยใหม่มากด้วย และการใช้สื่อสารมวลชนก็มักจะใช้เพื่อแสวงหาเรื่องราวข่าวสารที่หนัก ๆ เช่น การบ้านการเมือง ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งคนที่มีอาชีพต่างกันย่อมมองโลก มีแนวความคิด ความเชื่อแตกต่างกันด้วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุป สภาพสังคม และเศรษฐกิจมีความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการสื่อสารด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ความแตกต่างทางด้านสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ อาชีพ และระดับรายได้ที่แตกต่างกัน จะเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่แตกต่างกันไป

ในกระบวนการสื่อสารนั้น ผู้รับสารเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย การวิเคราะห์ผู้รับสารทางประชากร เช่น การจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา สภาพสังคมและเศรษฐกิจนั้น จึงมีความสำคัญเช่นเดียวกันและมีอิทธิพลต่อการเปิดรับข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการเปิดรับข่าวสารด้านการท่องเที่ยวด้วย เพื่อเป็นข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปและในงานวิจัยครั้งนี้ คาดว่า ผู้ที่มีลักษณะประชากรแตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการเปิดรับสาร การรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการท่องเที่ยววัดร่องขุ่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แตกต่างกัน


[i] ปราณปริยา นพคุณ. (2561). ปัจจัยทางการตลาดท่องเที่ยว (7Ps) ที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวดำน้ำลึกในประเทศไทยของนักดำน้ำชาวต่างชาติ. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

ขอบคุณภาพจาก Image by svstudioart on Freepik

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *