ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว

โดยทั่ว ๆ ไป ความเป็นไปได้ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นตามคุณลักษณะของประชากร ดังนี้

  1. มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้
  2. ระดับความเป็นชุมชนเมือง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสที่จะได้เห็นสื่อต่าง ๆ มากกว่าคนในชนบท จึงถูกกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการท่องเที่ยวได้มากกว่า ประกอบกับภาวะความเครียดในการดำรงชีวิตของคนในเมืองสูงกว่า จึงทำให้เกิดความต้องการที่จะปลีกหนีจากชีวิตประจำวัน และคนในเมืองมักจะมีอาชีพและรายได้ที่สูงกว่า จึงทำให้มีเงินเหลือเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้มากกว่าด้วย
  3. ระดับการศึกษา คนที่มีการศึกษาสูงกว่ามักจะมีอาชีพที่มีรายได้สูง ประกอบกับโอกาสที่จะเดินทางเพื่อศึกษา อบรม และย่อมมองเห็นถึงความสำคัญของการพักผ่อนว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต และช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต
  4. ระดับความสามารถในการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเป็นเจ้าของพาหนะส่วนตัว ซึ่งจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในระยะทางใกล้เกิดขึ้นได้มาก เช่น การขับรถไปเที่ยวยังชายหากหัวหินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการเกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ลดลงด้วยคุณลักษณะของประชากร ดังนี้

  1. ขนาดของครอบครัวที่ใหญ่ สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมชนบทมักจะอาศัยอยู่รวมกันในบริเวณบ้านที่มีรั้วร่วมกัน หรือในบ้านใหญ่หลังเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะของครอบครัวขยาย การเดินทางแต่ละครั้งจึงต้องรอให้สมาชิกทุกคนมีเวลาว่างตรงกัน ดังนั้น โอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวจึงมีไม่บ่อยครั้ง หรือเกิดขึ้นได้ยาก
  2. อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้สุขภาพเริ่มแย่ลง การเดินทางไกลจึงไม่สะดวก เพราะอาจมีนัดกับแพทย์ทุกสัปดาห์ หรือมีโรคประจำตัว

ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไปได้ในการเดินทางกับคุณลักษณะของประชากร ไม่ใช่สิ่งที่ตรงไปตรงมา แต่ตัวแปรทั้งหลายข้างต้นต้องเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันหมด เช่น ความเป็นไปได้สูงในการเดินทาง (high propensity) จะเกิดขึ้นกับประเทศตะวันตกที่มีเศรษฐกิจดี และพัฒนาแล้ว มีระดับความเป็นชุมชนเมืองสูง รายได้สูง มีขนาดครอบครัวเล็ก และมีระดับความสามารถในการเคลื่อนย้ายสูง ในทางกลับกัน ความเป็นไปได้ต่ำในการเดินทาง จะเกิดขึ้นกับสังคมชนบทที่มีขนาดครอบครัวใหญ่ และรายได้ต่ำ

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่เป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ในการเดินทางไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถแยกได้เป็นปัจจัยทางด้านเวลา และค่าใช้จ่าย ปัจจัยความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในประเทศปลายทาง

  1. ปัจจัยทางด้านเวลาและค่าใช้จ่าย (Economic distance) เกี่ยวข้องกับเวลาและค่าใช้จ่ายในการที่จะไปถึงปลายทาง ในที่นี้ หมายความว่า ระยะทางและเวลาที่จะไปให้ถึงปลายทางก็เป็นปัจจัยที่กำหนดความเป็นไปได้ที่จะเดินทาง
  2. ปัจจัยความแตกต่างด้านวัฒนธรรม (Cultural distance) หมายถึง ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ระหว่างประเทศต้นทาง (ที่ผู้เดินทางถือกำเนิด) และประเทศปลายทางที่จะเดินทางไป สำหรับนักท่องเที่ยวแบบผจญภัย ความแตกต่างนี้ดูจะเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ไปเยี่ยมเยือนมากกว่าจะเป็นอุปสรรค
  3. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในประเทศปลายทาง (Costs at destination) ไม่เพียงแต่จะหมายถึง ปริมาณเงินที่จะต้องใช้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความรู้สึกคุ้มค่า เมื่อเทียบกับอัตราเงินของประเทศนักเดินทาง

ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว (เรืองฤทธิ์ ธนปญฺโญ และคณะ, 2555 หน้า 24)

  1. เป็นปัจจัยภายใน ซึ่งได้แก่ ความต้องการ การจูงใจ และความจำเป็น การรับรู้ การเรียนรู้ บุคลิกภาพ รูปแบบการดำรงชีพ แนวคิดเกี่ยวกับตนเอง ทัศนคติ
  2. เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม และวัฒนธรรมย่อย ชั้นของสังคม กลุ่มอ้างอิง ผู้นำความคิดเห็น ครอบครัว เพื่อนฝูง

นอกจากนี้ แนวคิดของ Oliver (1997 อ้างถึงใน ณิชารีย์ จันทร์อินทร์,[i] 2558) กล่าวว่า ความตั้งใจที่จะไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวสามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมภายนอกได้ โดยที่บุคคลอื่นสังเกตเห็นได้จากการกระทำและสัมผัสได้ถึงความต้องการที่จะตอบสนองต่อความตั้งใจนั้น ๆ โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

  1. การมีเป้าหมาย นักท่องเที่ยวต้องมีเป้าหมายในการเดินทางในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจะโฆษณา คนใกล้ชิด หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดพฤติกรรมความตั้งใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว
  2. ความพร้อม คือ ความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ ความสามารถในการทำกิจกรรมที่ตั้งใจไว้ เช่น เวลาสำหรับการท่องเที่ยว สุขภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการเดินทาง
  3. สถานการณ์ คือ เหตุการณ์หรือโอกาสที่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางโดยไม่มีอุปสรรคในการท่องเที่ยว เช่น ตั้งใจจะไปเที่ยววัดร่องขุ่น ก็ควรจะไปช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบาย หรือช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิเริ่มเย็น ท้องฟ้าสดใส เป็นต้น
  4. การตอบสนอง เป็นการตัดสินใจความต้องการท่องเที่ยว เช่น การวางแผนที่จะเดินทาง จองที่พัก การจัดเตรียมกิจกรรมในการเดินทางล่วงหน้า

[i] ณิชารีย์ จันทร์อินทร์. (2558) ปัจจัยที่มีผลเชิงบวกความตั้งใจที่จะท่องเที่ยวของผู้บริโภคในงานท่องเที่ยวไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ).

ขอบคุณภาพจาก Image by tawatchai07 on Freepik

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *